ที่ประชุม กกต.มีมติเสียงข้างมาก ตั้งคณะกรรมการไต่สวนพิจารณาคุณสมบัติความเป็น ส.ส.“จตุพร” อีกรอบ ระบุ เหตุ คกก.ชุดก่อนหน้านี้ ข้อมูลไม่เพียงพอวินิจฉัย “อภิชาต” แจงไม่ได้ยื้อ แต่เพื่อความรอบคอบ เปิดเหตุผลเสียงข้างมากสอบใหม่ เพราะเป็นความผิดตาม รธน.
วันนี้ (15 ก.ย.) นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต.เปิดเผยภายหลังจากประชุม กกต.ว่าที่ประชุมมีมติเสียงข้างมาก 3 ต่อ 2 ให้มีการตั้งคณะกรรมการไต่สวนขึ้นมาพิจารณาข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกรณี นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ขาดสมาชิกภาพความเป็น ส.ส.หรือไม่ เนื่องจากเห็นว่าผลการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของด้านกิจการพรรคการเมือง ที่มี นายธนิศร์ ศรีประเทศ รองเลขาธิการ กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง เป็นประธานเสนอมานั้นยังมีข้อมูลไม่เพียงพอที่ กกต.จะมีการพิจารณาวินิจฉัย ว่า จะต้องส่งเรื่องดังกล่าวไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้สมาชิกภาพความเป็น ส.ส.ของนายจตุพร สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 91 ทั้งนี้ ยืนยันว่า การที่ กกต.มีมติดังกล่าวไม่ได้เป็นการยื้อ หรือดึงเรื่อง หรือจะไม่ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการดำเนินการเพื่อให้เกิดความรอบคอบ
เมื่อถามถึงการลบชื่อ นายจตุพร ออกจากระบบฐานข้อมูลการเป็นสมาชิกพรรคนายทะเบียนพรรคการเมืองจะต้องดำเนินการก่อนหรือไม่ นายอภิชาต กล่าวว่า กรณีนี้ตนก็ได้มีการชี้แจงในที่ประชุมว่า ตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง กำหนดอำนาจหน้าที่ของนายทะเบียนฯ แต่ในเรื่องของการจัดตั้งพรรค การยุบพรรค และในระเบียบฯคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยระบบฐานข้อมูลฯ ได้กำหนดให้นายทะเบียนฯมีหน้าที่เกี่ยวกับการปรับปรุงฐานข้อมูลสมาชิกพรรค เฉพาะในกรณีที่นายทะเบียนฯตรวจสอบ พบว่า พรรคการเมืองมีการแอบอ้างว่าผู้ใดสมัครเป็นสมาชิกพรรค โดยที่ผู้นั้นไม่รู้เห็นหรือไม่สมัครใจ นายทะเบียนฯจะสามารถปรับปรุงฐานข้อมูลได้เลย แต่ในกรณีของนายจตุพรนั้น เป็นเรื่องที่ว่า นายจตุพร ยังคงเป็นสมาชิกพรรคหรือไม่ จึงไม่ใช่อำนาจของนายทะเบียนฯ โดยผลสอบดังกล่าวจะไปใช้ประกอบกับผลสอบของคณะกรรมการไต่สวนที่กำลังจะตั้งขึ้นมาใหม่ ซึ่งจะทำให้การพิจารณาของ กกต.มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
รายงานข่าวแจ้งว่า ในการพิจารณากรณีดังกล่าวที่ประชุมได้มีการตั้งประเด็นในการลงมติว่า จะส่งเรื่องของนายจตุพร ไปยังประธานสภา เพื่อให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่ ซึ่งที่ประชุมก็ได้มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง โดยคณะกรรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงด้านกิจการพรรคการเมืองได้มีการเสนอ ว่า จากการสอบสวนพบว่าการที่นายจตุพร ถูกคุมขังโดยหมายของศาลและไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 3 ก.ค.เป็นเหตุให้ขาดสมาชิกพรรคการเป็นสมาชิกพรรค ตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง มาตรา 20, 19, 8 ซึ่ง กกต.เสียงข้างน้อย ก็เห็นว่าผลการสอบดังกล่าวเพียงพอแล้วที่ กกต.จะเสนอความเห็นไปยังประธานสภาฯ เพื่อยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรรมนูญวินิจฉัย แต่ กกต.3 เสียง ก็เห็นว่า การจะเสนอเรื่องไปยังประธานสภาฯเป็นกรณีที่ กกต.เห็นว่า สมาชิกภาพความเป็น ส.ส.ของนายจตุพร อาจสิ้นสุดลง ซึ่งการที่นายจตุพร ถูกคุมขังโดยหมายศาลและไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 106(5) ประกอบมาตรา 102(4) ที่คณะกรรมการด้านกิจการพรรคกาเมืองยังไม่ได้มีการสอบสวน ประกอบกับกรณีนี้เป็นเรื่องความผิดตามรัฐธรรมนูญ แต่ที่สอบมาเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง ซึ่งหากส่งไปยังประธานสภาฯ และศาลรัฐธรรมนูญอาจทำให้เกิดปัญหาจึงควรที่จะมีการตั้งคณะกรรมการฯขึ้นไต่สวนกรณีความเป็นสมาชิกภาพ ส.ส.ของนายจตุพร สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 106(5) ประกอบมาตรา 102(4) หรือไม่ เพื่อที่เมื่อคณะกรรมการไต่สวนชุดใหม่เสนอผลการสอบสวนแล้ว กกต.ก็จะได้นำผลการสอบทั้ง 2 ส่วนมาเชื่อมโยงกัน และจะพิจารณาว่าจะต้องส่งเรื่องให้ประธานสภาฯได้หรือไม่