xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ เปิดปราบยาเสพติดวาระแห่งชาติ ลั่นลดให้ได้ใน 1 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ถือถุงเฮโรอีน ที่เป็นของกลางยาเสพติดในงานเปิดปฏิบัติการวาระแห่งชาติ พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ของรัฐบาลต่อการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยมี รัฐมนตรี ผบ.ทบ. ผบ.ตร.และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงาน ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
นายกฯ เปิดปราบยาเสพติดวาระชาติ ยันเป็นปัญหาคนทั้งชาติ อ้าง 4 ปี คนเสพเพิ่ม 3 เท่า ลั่นนำคนป่วยมาเป็นคนดี หวังลดให้ได้ใน 1 ปี ชู 6 ยุทธศาสตร์แก้ “ยงยุทธ” เชื่อ 3 เดือนเห็นผล เน้นชุมชนตาสับปะรด แยกผู้เสพ เล็งใช้ อปท.ศูนย์เยียวยา “วิทยา” ใช้ อสม.เฝ้าระวังไม่ให้เกิดคนติดใหม่ “ยุทธศักดิ์” สั่งชุมชนทหารเขตปลอดยา “ประชา” ชู 5 แนวทางยุติธรรม

วันนี้ (11 ก.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดปฏิบัติการวาระแห่งชาติ “พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด” โดยกล่าวว่า ปัญหายาเสพติดไม่ใช่ปัญหาของคนใดคนหนึ่งแต่เป็นปัญหาของคนไทยทั้งประเทศ โพลระบุว่าให้รัฐบาลแก้ปัญหานี้อย่างเร่งด่วน เพราะยาเสพติดในปัจจุบันเพิ่มขึ้นเร็ว เห็นได้จากตัวเลขในปี 2550 มีผู้เสพ 490,000 ราย แต่กลับเพิ่มขึ้น 3 เท่าใน 4 ปี ซึ่งพื้นที่เป้าหมายมี 6 หมื่นกว่าหมู่บ้าน จาก 8 หมื่นกว่าหมู่บ้าน ดังนั้น เราต้องคืนลูกหลานสี่แสนกว่ารายให้กลับมาเป็นคนดีของสังคม ตนเป็นแม่และเห็นข่าวยาบ้าที่ขายกันทั่วตลาด วันนี้ดีใจที่พ่อแม่บางคนได้ลูกกลับคืนมา เราต้องรวมพลังนำคนป่วยกลับคืนเป็นคนดี

น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ปัญหานี้รัฐบาลถือว่าเป็นวาระแห่งชาติ และสนองพระราชเสาวนีย์ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 12 ส.ค. ที่ทรงชี้ให้เห็นถึงภัยอันตรายของปัญหานี้ รัฐบาลและทุกภาคส่วนได้น้อมนำมาปฏิบัติ และข้อห่วงใยของพระองค์ท่านนั้น รัฐบาลได้กำหนดเป็นนโยบบายและวาระแห่งชาติ ภายใต้ปฏิบัติการวาระแห่งชาติ พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด โดยต้องลดให้ได้ภายใน 1 ปี โดยทุกฝ่ายต้องทำงานแบบบูรณาการเป็นระบบ และจะต้องลดความรุนเเรงให้ได้ 80 เปอร์เซ็นต์

“ปัจจัยที่เคยทำมาสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร 6 ประการ คือ 1.ยึดพื้นที่เป็นฐาน เพื่อแบ่งพื้นที่ดูแลสอดส่อง 2.มอบบทบาทความรับผิดชอบร่วม 3.เชื่อมระบบข้อมูลผู้ค้าและกลุ่มเสี่ยงจากอำเภอและจังหวัดมายังส่วนกลาง 4.แยกกลุ่มผู้เสพที่บำบัดได้ 300,000 ราย 5.กำหนดกลไกการทำงานของศูนย์อำนวยการที่สั่งการไปยังภูมิภาค 6.มีเจ้าภาพที่ชัดเจน” น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าว

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ฉะนั้นรัฐบาลนี้จะนำผลโพลมาประมวลและประยุกต์เข้ากับแผนปฏิบัติการครั้งนี้โดยมี 6 ประการ คือ 1.เสริมสร้างพลังแผ่นดินฯ เน้นชุมชนและหมู่บ้านที่ต้องนำพลังจากทุกภาคส่วนและน้อมนำพระราชเสาวนีย์ฯ เป็นหลักปฏิบัติมาประมวล พัฒนาเครือข่ายเฝ้าระวังทั่วประเทศ เน้นหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ขยายกองทุนแม่แห่งแผ่นดิน 2.การแก้ปัญหาผู้เสพ หลักสำคัญ คือต้องถือว่าผู้เสพคือคนไข้ที่ป่วย รัฐบาลต้องการเห็น 400,000 คนกลับคืนเป็นคนดีของสังคม โดยแบ่งการบำบัดเป็น 3 ระดับ คือ ผู้ป่วยหนัก ปานกลาง และเล็กน้อย โดยผู้ป่วยหนักและปานกลางต้องร่วมมือกับโรงเรียนวิวัฒน์พลเมือง ของกองทัพบกและกระทรวงกลาโหม กระทรวงสาธารณสุขต้องบำบัดรักษา ส่วนผู้ป่วยเล็กน้อยนั้นจะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมบูรณการให้หายขาดและฟื้นฟู ตนอยากเห็นขั้นตอนนี้ที่ต้องให้ความรู้ของยาเสพติดและสร้างอาชีพใหม่ให้มีงานทำ

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า 3.การป้องกันพื้นที่กลุ่มเสี่ยง โดยจะมองพื้นที่จาก 8 หมื่นกว่าชุมชนให้เหลือ 6 หมื่นชุมชน โดยจัดพื้นที่ว่างเปล่าในพื้นที่กลุ่มเสี่ยงมีลานกิจกรมและกีฬาทดแทนไม่ให้กลุ่มเสี่ยงไปค้ายาเสพติด 4.การปราบปรามผู้ค้ายาเสพติดและผู้ทรงอิทธิพลที่ยึดหลักนิติธรรม มาตรการทางกฎหมายต้องเป็นไปอย่างยุติธรรม จริงจังเข้มงวด ตนขอให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ในการดำเนินการขั้นตอนที่ยากลำบาก 5.ส่งเสริมความร่วมมือกับต่างประเทศและชายแดนในการป้องกัน ป้องปรามขบวนการค้ายาเสพติดข้ามชาติและนำสารตั้งต้นเข้ามาในประเทศ การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องไม่พัวพันกับยาเสพติดเด็ดขาด และขอให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาและใช้มาตรการทางปกครองวางไว้เป็นภาพรวม และพยายามกำจัดปริมาณการค้ายาเสพติดข้ามชาติจากทุกแหล่ง 6.ดึงผู้ป่วย 4 แสนกว่ารายมารักษา ตรงนี้จะเป็นการลดปริมาณการค้าขายยาเสพติดจะทำให้ทำงานง่ายและเป็นระบบ

น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ส่วนเป้าหมายนั้น รัฐบาลกำหนดไว้ 6 ประการคือ 1.ลดปัญหายาเสพติดและสร้างความเข้มแข็งให้กับ 6 หมื่นชุมชน ลดจำนวนผู้เสพและผู้ป่วย โดยจูงใจเข้าบำบัด 4 แสนรายทั่วประเทศ มันจะลดความต้องการยาเสพติดในตลาดทันที มีมาตราการเฝ้าระวังไม่ให้ผู้ป่วยกลับไปเสพยาเสพติดอีก ขั้นต่ำร้อยละ 80 ลดพื้นที่เสี่ยงและเฝ้าระวังทุกจังหวัด ลดปริมาณยาเสพติดตามจังหวัดชายแดน ปรับระบบการบริหารจัดการให้บูรณการ เป็นเอกภาพ 2.เพื่อให้เป้าหมายขับเคลื่อนเป็นเอกภาพ กำหนดให้มีศูนย์อำนวยการระดับชาติจากส่วนกลาง คือ ศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดแห่งชาติ (ศพส.) ทำงานร่วมจากกระทรวง จังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และแนวชายแดน ส่วนระดับชุมชนนั้นขอให้ผู้ว่าฯและอำเภอจัดตั้งศูนย์พลังแผ่นดินที่มีหน้าที่รวบรวมส่งข้อมูลมาให้ส่วนกลาง โดยส่งข้อมูลระดับพื้นที่ให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ในฐานะ ผอ.ศูนย์ฯ

น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า 3.จัดโครงสร้างอำนาจหน้าที่ การให้คุณและโทษกับเจ้าหน้าที่ 4.ยึดพื้นที่และการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายและทุกภาคส่วน เพราะพื้นที่เป็นสิ่งสำคัญให้ข้อมูล โดยข้าราชการระดับสูงในจังหวัดเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนนี้แบบบูรณาการ และจะไม่สำเร็จหากพื้นที่ไม่ให้ข้อมูลขึ้นมา ขอให้ทุกส่วนราชการและท้องถิ่นถือเป็นภารกิจเร่งด่วน เพื่อสนับสนุนศปส.ทุกระดับ 5.ขอให้ป.ป.ส.ทำหน้าที่เร่งรัดอำนวยการสนับสนุน ศ.ป.ส. 6.ขอให้กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณลงไปให้ทุกระดับเพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น

“ปัญหานี้ทำลายสังคม เศรษฐกิจ เเละอนาคตของลูกหลานเยาวชน หากวันนี้ได้ 4 แสนคนกลับคืนมาให้สังคมนั้น จะเป็นพลังและตัวแทนในการแก้ปัญหา ดิฉันขอฝากไว้ว่า ขอให้ทุกฝ่ายกลับไปวิเคราะห์ต้นเหตุปัญหาและสาเหตุเยาวชนที่ติดยาเสพติด เพราะเป็นตัวเลขที่น่าใจหาย เยาวชนที่ติดยาเสพติดคืออายุ 16-24 ปี กลุ่มนี้เป็นกำลังของชาติ ฉะนั้นทุกฝ่ายต้องทำงานนี้และควรเข้าใจรากปัญหาทั้งหมด ภายใต้คำว่าอยากเห็นคนกลุ่มนี้กลับคืนสังคมไทย การประกาศเจตนารมณ์ครั้งนี้เป็นวาระของชาติที่แท้จริง ดิฉันขอบคุณทุกภาคส่วนที่มารวมพลังร่วมแก้ไขปัญหา ปฏิบัติการครั้งนี้จะไม่สำเร็จหากทุกคนไม่ร่วมมือ”น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว

ด้านนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย กล่าวว่า ในฐานะที่เคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดและปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้มีประสบการณ์ละเอียด ทั้งนี้ ในประเทศไทยนั้นเริ่มต้นด้วยหมู่บ้าน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สายตรวจตำรวจ อสม. ซึ่งเขาทราบเป็นอย่างดีว่าบ้านหลังไหนเป็นผู้ผลิต ผู้ค้า ผู้เสพ ไม่มีใครไม่ที่ไม่ทราบ สำคัญที่นโยบายรัฐเอาจริงในเรื่องดังกล่าวหรือไม่ เชื่อมั่น 3 เดือนเห็นผล 1 ปี ลดเหลือน้อยที่สุด หลักการคือให้ ผู้นำชุมชนตั้งกลุ่มตาสับปะรด สามารถฉายทุกพื้นที่ว่าทำอะไรอยู่ แยกผู้เสพออกมาบำบัดรักษา นายอำเภอต้องบูรณาการแผนอำเภอ กระทรวงมหาดไทยก็บูรณาแผนทั้งประเทศ จะไม่เหลือคนทำผิด ในอดีตเราไม่เคยใช้ อปท.เข้ามาใช้ในเรื่องนี้เลย ซึ่งเขาจะช่วยเรื่องศูนย์เยียวยา สธ.ช่วยเรื่องแพทย์บุคลากร ทำเรื่องนี้สำเร็จแน่นอน ร้อยละร้อย 76 จังหวัดจะปลอดยาเสพติดตรงตามพระราชดำรัสของแม่แห่งแผ่นดิน

ขณะที่นายวิทยา บูรณศิริ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า เรื่องผู้เสพใหม่ ทางสาธารณสุขได้เตรียมมาตรการรองรับทั้ง โรงพยาบาล บุคลากร อสม.ซึ่งอสม.จะช่วยเฝ้าระวัง เราคาดหวังไม่ให้กลุ่มใหม่ผู้เสพใหม่ โดยจะใช้โครงการทูบีนัมเบอร์วันช่วย จะตั้งมั่นนโยบายฟื้นฟูให้ชุมชน ครอบครัว รพ.ศูนย์ จะมีการประสานทุกส่วนให้นโยบายที่นายกรัฐมนตรีให้ไว้มีความชัดเจน

ทางด้าน พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กลาโหม กล่าวว่า รัฐบาลปัจจุบันได้กำหนดให้มีการเอาชนะยาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันดำเนินการโดยเร็ว เพื่อให้มีประสิทธิภาพ กห.จะสนับสนุนและปฏิบัติการปราบยาอย่างเต็มขีด ให้ศักยภาพกระทรวงกลาโหม ถือเป็นปัญหาสำคัญ มีนโยบายให้ทุกกองทัพ พัฒนาบทบาทปรับปรุงตามแผนรัฐบาล ทหารทุกคนต้องดำเนินการให้ชุมชนทหารเป็นเขตปลอดยา สนับสนุนนโยบายรัฐ โดย 1.ป้องกันไม่ให้กำลังมีพฤติกรรมเกี่ยวข้องยา พัฒนาคุณภาพชีวิตกำลังพล จัดสวัสดิการเพียงพอ ประกอบอาชีพสุจริต ดำรงชีวิตอย่างมึความสุข เข้มงวด ไม่ให้กำลังพลยุ่งเกี่ยว เอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐต้องดำเนินจริงจังและเด็ดขาดไม่หวั่นอิทธิพล 2.ข่าวกรองด้านยาเสพติด ทหารจะต้องเพิ่มเป้าหมายยาเสพติดให้เหมาะสมสถานการณ์ ปลูกฝั่งจิตสำนึกสอดส่องเกี่ยวกับยาให้ผู้บัญชาการทราบ เพื่อบูรณาการยาเสพติดมากขึ้น ให้ข่าวกรองปฏิบัติ ยาข่าวยาทั้งในและนอกประเทศ รวมทั้งประสานขอการข่าวยาจากมิตรประเทศผ่านคณะกรรมการชายแดน

พล.อ.ยุทธศักดิ์ กล่าวว่า 3.สะกัดนำเข้าส่งออกยาเสพติดตามแนวชายแดน ส่งเสริมความเข้มแข็งหมู่บ้าน ชุมชนชายแดน ตั้งจุดตรวจสะกัด ตามแนวชายแดน เสริมสร้างชุดสุนัขทหารให้ตรวจค้น 4.สนุบสนุนกระทรวงมหาดไทย พัฒนาหมู่บ้านแม่ของแผ่นดินอย่างเต็มที่ 5.สนับสนุนบำบัดรักษาผู้ติดยา เตรียมความพรี้อมเจ้าหน้าที่ สถานที่เพื่อรองรับผู้ติดยา โดยโครงการวิวัฒพลเมือง ขยายขีดความสามารถนักเรียนให้ได้ตามเป้าหมาย 3 หมื่นคน และ 6.ผบ.ทุกระดับ จะต้องให้ความสำคัญกับปัญหายาเสพติด ถือเป็นวาระแห่งชาติ จัดระบบ ติดตามประเมินผล เสนอแนะปรับปรุงประสิทธิภาพ

ส่วน พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า กระทรวงยุติธรรมได้กำหนดแนวทางไว้ 5 ประการ คือ 1.จะยังไม่ใช้มาตรการที่เข้มงวดแต่จะเป็นการโอกาส อาทิเช่น การนำผู้เสพมาบำบัดฟื้นฟูนอกจากนี้กำหนดให้มียุติธรรมจังหวัด โดยการรวมองค์กรยุติธรรมในจังหวัดเข้ารวมกันและจะเป็นแกนกลางในการประสานงานกับองค์กรต่างๆ ในพื้นที่เพื้อไขปัญหายาเสพติดและการนำกระบวนการทางเลือกมาใช้ในการปราบปรามยาเสพติด 2.การนำหลักนิติธรรมมาใช้อย่างจริงจัง โดยเน้นการทำงานกับเครือข่ายแนวร่วมกับกรมที่ทำงานให้กับกระทรวงยุติธรรม ป.ป.ส., ป.ป.ช., ปปง. และกรมคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และจัดการกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องยาเสพติด 3.ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่บำบัดรักษาและฟื้นฟูจะสนับสนุนหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ในแก้ไขยาเสพติด 4.จะมอบหมายให้กรมราชทัณฑ์แก้ไขปัญหายาเสพติดในเรือนจำอย่างเข้มงวด 5.กระทรวงยุติธรรมจะดำเนินการบูรณาการงานผ่านหน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด






กำลังโหลดความคิดเห็น