“สาทิตย์” ฉะรัฐแก้น้ำท่วมไม่ได้เรื่อง โวสมัย ปชป.ตัดสินใจเร็วกว่า แต่ชุดนี้มัวแต่พล่าม “บางระกำโมเดล” ทั้งที่ไม่เข้าใจปัญหา ฝากถามตัวเลข 5,555 บาทใช้หลักคิดอะไร แถมยังยึกยักอ้างขอดูรายละเอียด ย้ำใช้เงินช่วยเหลือน้ำท่วมหนักไปถึง 2 ครั้ง กว่า 2.3 หมื่นล้าน ย้อนมีเงินทุกสำรองมาใช้อีกมาก
วันนี้ (3 ก.ย.) นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีต รมต.ประจำสำนักนายก กำกับดูแลคณะกรรมการอำนวยการ กำกับ ติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (คชอ.) กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลระบุว่า งบประมาณสำหรับช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมเหลืออยู่เพียงประมาณ 1 พันกว่าล้านบาทว่า คำพูดดังกล่าวของรัฐบาลนั้น เป็นผลมาจากการไม่เข้าใจการบริหาร โดยเฉพาะการพูดเรื่องบางระกำโมเดล โดยใช้หลัก 2 พี 2 อาร์ ซึ่งถือเป็นขั้นตอนปกติของข้าราชการอยู่แล้ว แต่ความจริงปัญหาของ อ.บางระกำมี 2เรื่องใหญ่ คือ 1.ความมั่นคงทางอาหารของชาวบ้าน ที่ตอนนี้ขาดแคลนอาหารเป็นอย่างมาก ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเองก็ยอมรับว่ารับทราบเรื่องนี้แล้ว แต่ยังไม่มีมาตรการแก้ไขใดๆออกมา 2.ปัญหาการระบายน้ำออก ที่ยังไม่มีแผนการจัดการที่ชัดเจน แต่ตอนนี้นายกฯกลับไปประชุมเรื่องการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนและภัยแล้ง ซึ่งเป็นประเด็นที่ไปไกลมากแล้ว ทั้งที่ควรจะต้องบริหารปัญหาเฉพาะหน้าก่อน
นายสาทิตย์กล่าวอีกว่า ที่สำคัญที่สุดคือ การที่รัฐบาลนี้ตัดสินใจช้า เพราะจนขณะนี้ยังไม่มีการตัดสินใจเรื่องเงินชดเชย เยียวยา ครัวเรือนละ 5,000 บาทออกมา ซึ่งแม้ตอนหลังจะมีการพูดถึงการเยียวยาเพิ่มขึ้นมาเป็น 5,555 บาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่เคยระบุที่มาของฐานคิดว่าเพราะอะไร นอกจากจะเป็นการเกทับในทางการเมือง ขณะเดียวกันการชดเชยในส่วนนี้นายกฯยอมรับว่า ยังต้องดูรายละเอียดเพิ่มเติม ในกรณีเดียวกันนี้รัฐบาลชุดที่แล้วใช้เวลาตัดสินใจเพียง 20 วัน และจ่ายเงินชดเชยไปได้ถึง 1.6 ล้านครัวเรือน
“อยากทราบว่าฐานในการคิดตัวเลข 5,555 บาทออกมาว่ามีรายละเอียดอย่างไรบ้าง ส่วนเรื่องที่โฆษกรัฐบาลระบุว่างบประมาณที่จะใช้ช่วยเหลือหมดนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะรัฐบาลที่แล้วได้ใช้เงินช่วยเหลือในสถานการณ์น้ำท่วม 2 ครั้งใหญ่ รวมประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท ดังนั้นงบกลางยังเหลือประมาณ 3 พันล้านบาท จึงไม่มีสิทธิ์ที่จะบอกว่ารัฐบาลไม่มีเงินบริหาร เพราะยังมีแหล่งเงินทุนสำรองที่ต้องใช้อีกมากที่จะนำมาช่วยเหลือปัญหาน้ำท่วมอีกได้” นายสาทิตย์ระบุ
นายสาทิตย์กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้หากนายกฯระบุว่าการที่รัฐบาลยังไม่ตัดสินใจที่จะใช้เวลาในการตรวจสอบโปร่งใสในการใช้เงินนั้น ขอเรียนว่ากลไกราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้รู้กระบวนการหมดแล้ว อีกทั้งยังมีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ตรวจสอบเรื่องนี้อยู่