“วิรัตน์” ยอมรับฝ่ายกฎหมาย ปชป.กำลังศึกษากรณีรัฐบาลแถลงนโยบายไม่เสร็จตามกำหนด 15 วัน มีปัญหาต่อบทบัญญัติ รธน.หรือไม่ ก่อนส่งให้ศาล รธน.วินิจฉัย ด้าน “เป็ดเหลิม” อ้าง การแถลงนโยบายของรัฐบาลเสร็จตั้งแต่ “ยิ่งลักษณ์” พูดจบแล้ว ส่วนฝ่ายค้านจะอภิปรายกี่วันก็ไม่มีปัญหา
นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะฝ่ายกฎหมายของพรรค กล่าวว่าฝ่ายกฎหมายของพรรคประชาธิปัตย์ กำลังพิจารณาถึงการแถลงนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่
ของพรรคเพื่อไทยที่ไม่สามารถดำเนินการได้ตามเวลา 15 วัน นับตั้งแต่ที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา ตามที่กฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนด
“ขณะนี้ทีมกฎหมายของพรรคประชาธิปัตย์ กำลังศึกษาแนวคิดที่อาจส่งเรื่องดังกล่าวให้กับศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย ว่า การแถลงนโยบายรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มีความสมบรูณ์หรือไม่ แต่ต้องบอกก่อนว่า เป็นเพียงแนวความคิดยังไม่ได้มีการกำหนดเวลาว่าจะส่งหรือไม่ และเมื่อใด”
นายวิรัตน์กล่าวว่า เมื่อวานการที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรสั่งปิดการประชุม และนัดใหม่ในวันนี้ช่วงบ่าย เห็นว่าไม่มีเหตุผล และเป็นการทำผิดข้อตกลง ส่วนที่มีการกล่าวว่า เคยมี
ตัวอย่างจาก 2 รัฐบาลก่อนทั้ง ครม.ของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และ ครม.ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่เกิดเหตุวุ่นวายมีกลุ่มม็อบมาปิดล้อมสภา ทำให้ไม่สามารถแถลงนโยบายได้โดยสมบูรณ์เช่น
กันนั้น เห็นว่า 2 ครั้งก่อนมีเหตุจำเป็นที่ไม่สามารถแถลงนโยบายได้ แต่ครั้งนี้ไม่ใช่...
ด้าน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า บรรยากาศการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา ใน 2 วันที่ผ่านมาว่า ทั้ง 2 ฝ่ายทำหน้าที่ไปได้ด้วยดี แต่ทางฝ่ายค้าน พยายามซักถามเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งขอยืนยันว่า หากจะมีการแก้ไขจะตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา
“การอภิปราย 2 วันที่ผ่านมา ทั้ง 2 ฝ่ายทำหน้าที่อย่างเต็มที่ และรัฐบาลชี้แจงฝ่ายค้านได้ชัดเจน แต่ฝ่ายค้านกลับอภิปรายซ้ำซาก ไม่อภิปรายในเนื้อหานโยบายหลัก เชื่อว่าทุกอย่างวันนี้จะยุติ เพื่อให้รัฐบาลเดินหน้าประชุมคณะรัฐมนตรี ในช่วงเย็นวันนี้”
ส่วนข้อสงสัยว่าการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาที่ไม่จบในคืนวันที่ 24 สิงหาคม ทำให้เลยกรอบเวลา 15 วันตามรัฐธรรมนูญ จะมีปัญหาทางกฎหมายหรือไม่นั้น ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า หลังการแถลงนโยบายสิ้นสุดลงเมื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีกล่าวนโยบายจบพร้อม “ขอบคุณค่ะ” แล้ว ไม่ว่าฝ่ายค้านจะใช้เวลาอภิปรายต่อไปอีกกี่วัน หรือจะใช้เวลาถึง 3 เดือน ก็ไม่มีปัญหา อย่างสมัยนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรีก็เคยใช้เวลาอภิปรายเลยกรอบเวลา 15 วันไปถึง 45 นาที ก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไร ที่สำคัญการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 176 เป็นแค่วาระเพื่อทราบ ไม่มีการลงมติ