xs
xsm
sm
md
lg

ทีมแพทย์ตรวจสุขภาพ ส.ส.-ส.ว.เตือนทำงานหนัก-พักผ่อนน้อย เสี่ยงโรครุมเร้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ส.ส.-ส.ว.เข้าเช็กความฟิต เตรียมรับมืองานใหม่ แพทย์เผยส่วนใหญ่ทำงานหนัก-พักผ่อนน้อย เสี่ยงโรคเครียด โรคหัวใจ “สมศักดิ์” เตือนสมาชิกใส่ใจสุขภาพ ถ้าสุขภาพดีการทำงานก็จะมีประสิทธิภาพ

วันนี้ (22 ส.ค.) ที่อาคารรัฐสภา 1 สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรมตรวจสุขภาพ ส.ส.-ส.ว.ประจำปี 2554 เริ่มงานใหม่ ด้วยกาย ใจ ที่แข็งแรง โดยกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การตรวจสุขภาพเบื้องต้น อาทิ การวัดความดัน การให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการนอนกรน กรดไหลย้อน โรคเสี่ยงของผู้บริหาร การตรวจมวลร่างกาย และ การให้คำปรึกษาด้านโภชนาการ กิจกรรมโยคะเพื่อสุขภาพ และให้คำแนะนำการออกกำลังกายที่เหมาะสมแก่วัย นิทรรศการโรคเสี่ยงของผู้บริหาร ภัยใกล้ตัวจากการพักผ่อนน้อย อาทิ โรคเครียด กรดไหลย้อน โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคอ้วน เป็นต้น

นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานในพิธี กล่าวว่า บุคลากรที่ปฏิบัติงานในรัฐสภา ไม่ว่าจะเป็น ส.ส. ส.ว.ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐสภา รวมถึงสื่อมวลชน ที่ต้องปฏิบัติงานหนักอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการประชุมสภาบ่อยครั้ง และเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้เกิดอาการเมื่อยล้า พักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้เกิดความเครียดสะสม และไม่มีเวลาออกกำลังกาย ทำให้เกิดภาวะเสี่ยง อาทิ โรคเครียด โรคอ้วน โรคหัวใจ โรคเบาหวาน เป็นต้น กิจกรรมครั้งนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ในการกระตุ้นเตือนให้บุคลากรในกลุ่มนิติบัญญัติตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพที่ดี เพื่อให้ร่างกายและจิตใจ มีความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่ อันจะส่งผลต่อการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพ และที่สำคัญ ยังเป็นการป้องกันโรคเสี่ยงต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

ด้าน นพ.ฆนัท ครุฑกุล ผู้จัดการศูนย์หัวใจหลอดเลือดและเมแทบอลิซึม โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า จากการสำรวจทางสุขภาพในองค์กรนิติบัญญัติ เรื่อง พฤติกรรมการดูแลสุขภาพ ส.ส.และ ส.ว.ในปี 2552 กว่า 90% มองว่า ตนทุ่มเทในการทำงานในระดับมากถึงมากที่สุด ซึ่งผลจากการทุ่มเทในการทำงาน ทำให้ตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่ง คือ 56% มีเวลาพักผ่อนนอนหลับไม่เพียงพอ และยังพบว่า 43% มีเวลาดูแลสุขภาพของตนเองในระดับค่อนข้างน้อย และในแต่ละวัน ส.ส.และ ส.ว.มีพฤติกรรมที่ไม่เคลื่อนไหว เช่น นั่งทำงาน นั่งรถ ดูโทรทัศน์ เฉลี่ย 5 ชั่วโมง 26 นาทีต่อวัน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้เกิดภาวะโรคเรื้อรังได้ โดยเฉพาะปัญหาสำคัญที่เกิดจากการทำงาน คือ ปัญหาการนอนน้อย กรดไหลย้อน การนอนกรน รับประทานไม่ตรงเวลา ซึ่งเป็นสาเหตุการเกิด โรคเครียด โรคหัวใจ ความดัน เบาหวาน

“การพักผ่อนนอนหลับไม่เพียงพอ เป็นเหตุสำคัญที่จะทำให้เกิดปัญหาความเครียดมากขึ้น เพราะทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติทำงานผิดปกติ อีกทั้งส่งผลให้เกิดความดันโลหิตสูงตามมา และเป็นสาเหตุให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ ซึ่งโดยปกติแล้วควรนอนเฉลี่ยประมาณ 8 ชั่วโมง/วัน และควรนอนให้ตรงเวลา ขณะที่พฤติกรรมการพักผ่อนของ ส.ส.-ส.ว.ส่วนใหญ่อาจต้องนอนดึก ตื่นเช้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ อีกทั้งบางท่านเลิกประชุมดึก ออกจากห้องประชุมก็ต้องหาอะไรทานก่อนนอน ก็ยิ่งทำให้ร่างกายไม่ได้พักผ่อนเต็มที่ เพราะต้องทำงานหนักในการย่อยอาหารอีก การตรวจประเมินภาวะความเสี่ยงถือเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อการเตรียมความพร้อมในการทำงาน และถือเป็นต้นแบบที่ดีในการเตรียมสุขภาพให้ พร้อมทั้งกาย ใจ จิตวิญญาณ แก่องค์กรอื่นๆ” นพ.ฆนัท กล่าว

ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส.กล่าวว่า การสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพที่ดีให้กับบุคลากรในองค์กรนิติบัญญัติ เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือการสร้างเสริมสุขภาพระหว่าง สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และ สสส.ได้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง เป็นปีที่ 3 โดย สสส.ได้จัดตั้งศูนย์สร้างเสริมสุขภาพในองค์กรนิติบัญญัติ เพื่อเป็นศูนย์กลางการบริการข้อมูลเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพ และประสานความร่วมมือในการสร้างเสริมสุขภาพระหว่าง สสส. และบุคลากรในองค์กรนิติบัญญัติ ซึ่งที่ผ่านมาได้รับผลการตอบรับเป็นอย่างดี และในอนาคต สสส.จะมุ่งเน้นการสร้างเสริมสุขภาพในเชิงลึกมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และสนับสนุนการบริการข้อมูลด้านการสร้างเสริมสุขภาพอย่างครอบคลุมยิ่งขึ้น เพื่อให้บุคลากรในฝ่ายนิติบัญญัติเป็นต้นแบบในการผลักดันให้เกิดกระแสการดูแลสุขภาพอย่างยั่งยืนต่อไป





กำลังโหลดความคิดเห็น