xs
xsm
sm
md
lg

รมว.กห.จ่อปรับกำลังส่ง ตร.คุม - ให้อิเหนาดูพระวิหาร แย้ม “ปู” ไปเขมรหลังถกจีบีซี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (แฟ้มภาพ)
“ยุทธศักดิ์” เตรียมปรับกำลังชายแดนเขมรตามคำสั่งศาลโลก เชื่อ หลังถกอาร์บีซีเสร็จจะกำหนดกรอบต่างๆ ในเวทีจีบีซีได้ จ่อคุยขอเอาตำรวจเข้าไปแทน พร้อมปล่อยอิเหนาเข้าพื้นที่ ยัน มทภ.2 หาที่พักให้แล้ว ปัดให้จุ้นกิจการภายใน อ้างแค่ทำตามคำสั่งศาล คาดนายกฯ ไปกัมพูชาหลังประชุมเสร็จ ยัน “นช.แม้ว” ไม่เคยยุ่ง


วันนี้ (22 ส.ค.) ที่ กระทรวงกลาโหม พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าในการถอนกำลังทหารตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ว่า เราไม่ใช้คำว่า ถอนทหาร แต่ใช้คำว่า ปรับกำลังในพื้นที่ ตามคำสั่งชั่วคราวของศาลตุลาการระหว่างประเทศ ซึ่งวันนี้ (22 ส.ค.) เวลา 10.00 น.จะมีการหารือกันอีกครั้ง เพื่อวางกรอบหัวข้อนำไปประชุมคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาคไทย-กัมพูชา (อาร์บีซี) ในวันที่ 23 ส.ค.นี้ โดยในวาระสุดท้ายจะเป็นเรื่องกรอบการดำเนินการตามคำสั่งศาลโลก ว่า จะดำเนินการอย่างไรในกรอบของทหาร โดยให้อาร์บีซีตีกรอบ เพื่อใช้ในการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-กัมพูชา(จีบีซี) ต่อไป และขณะเดียวกัน ทางคณะกรรมการจีบีซีฝ่ายไทยจะให้เลขานุการไปหารือกับฝ่ายกัมพูชา คิดว่า หลังจากที่การประชุมอาร์บีซีสิ้นสุด เลขานุการจะไปประสานงานในเรื่องวันเวลาที่จะประชุมจีบีซี รวมถึงกรอบการประชุม การปรับกำลัง การตั้งจุดตรวจร่วม การดำเนินการต่อผู้สังเกตุการณ์จะมีกี่ชุด เป็นต้น

“หากมีการปรับกำลังทหารออก ทั้งสองฝ่ายต้องคุยกันว่า จะเอากำลังส่วนไหนไปหนุน ขั้นแรกที่เราพูดคุยกับกัมพูชา คือ เมื่อนำกำลังทหารออก ควรนำกำลังตำรวจเข้าไปทดแทน และมากำหนดว่า จะเป็นตำรวจตระเวนชายแดน หรือตำรวจภูธร ซึ่งขณะนี้ ผบ.ตร.ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมและเตรียมกำลังตำรวจเพื่อไปปรับกำลังแทนทหาร แต่ต้องคุยกันก่อนว่า จะปรับหรือถอนทหารอย่างไร และจะใช้ทหารพรานเข้าไปทดแทนได้หรือไม่ ถ้าเขาไม่ยอมรับทหารพราน เราก็จะใช้ตำรวจ ทั้งนี้เรามีจุดตรวจร่วมระหว่างไทย-กัมพูชา ซึ่งต้องไปดูว่า จัดตรงไหน เพื่อดูความเรียบร้อยของการปรับกำลัง

เมื่อถามว่า จะต้องส่งผู้สังเกตการณ์ลงไปในพื้นที่ด้วยใช่หรือไม่ พล.อ.ยุทธศักดิ์ กล่าวว่า ใช่ เพราะในคำสั่งของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศกำหนดให้มีผู้สังเกตการณ์จากอินโดนีเซียด้วย ตอนแรกอาจเข้าใจกันว่า จะมีหรือไม่มีก็ได้ แต่หลังจากที่ตนได้เดินทางลงพื้นที่ไปรับฟัง และรับทราบจากผู้ปฏิบัติในพื้นที่ คิดว่า ต้องมีผู้สังเกตการณ์ และเป็นความจำเป็นต้องมี เพราะการกล่าวอะไร หรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนั้น ต้องมีพยาน ดังนั้น ผู้สังเกตการณ์จะเป็นพยานที่ดีที่สุด ว่า ใครเป็นคนผิดก่อน หรือละเมิดกติกา หรือไม่ปฏิบัติตามสัญญาจะได้มีผู้สังเกตการณ์คอยอ้าง อย่างไรก็ตาม ฝ่ายไทยจะไม่เป็นผู้ที่เริ่มก่อน

เมื่อถามว่า ผู้สังเกตการณ์อยู่ในช่วงเวลาหนึ่ง ต่อไปหากเกิดเหตุการณ์เขาจะเป็นพยานได้หรือไม่ พล.อ.ยุทธศักดิ์ กล่าวว่า คำว่า ช่วงหนึ่งต้องกะระยะเวลาว่า แค่ไหน ถ้าเหตุการณ์ปกติจริงๆ การอยู่ร่วมกันด้วยความผาสุก โปร่งใส ไม่เอาเปรียบกัน ภาพการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจถ้าถึงช่วงนั้นต้องพิจารณากันอีกครั้งหนึ่ง แต่ขณะนี้กองทัพภาคที่ 2 ได้ เตรียมที่พักให้กับผู้สังเกตการณ์ไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งผู้สังเกตการณ์จะเป็นพลเรือน แต่จะกำหนดกันอีกครั้งหลังจากการประชุมจีบีซี ว่า ผู้สังเกตการณ์จะแต่งกายอย่างไร คิดว่า ไม่ได้เป็นการให้ประเทศที่ 3 เข้ามาแทรกภายในกิจการของเรา เพราะเขามีหน้าที่รับทราบ และปฏิบัติตามคำสั่งของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยังไม่มีกำหนดเดินทางไปพบสมเด็จ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา แต่นายกฯคงจะเดินทางหลังจากมีการประชุมจีบีซีเรียบร้อยแล้ว เมื่อถามว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้ต้องหาก่อการร้าย มีส่วนช่วยประสานงานเรื่องกัมพูชาหรือไม่ พล.อ.ยุทธศักดิ์ กล่าวว่า ไม่มี ท่านไม่ได้ติดต่อ หรือพูดอะไรเลยที่เกี่ยวข้องกับกัมพูชา และท่านไม่ได้ติดต่อมาด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น