นปช.แป้ก! วัดปทุมฯ สั่งห้ามจัดกิจกรรมรำลึกผู้เสียชีวิตเหตุสลายชุมนุม เลื่อนจัดแยกราชประสงค์แทน พร้อมจัดกิจกรรมบนเวทีปราศรัย 4 โมงเย็น ด้านผู้ค้าราชประสงค์ เรียกร้องญาติผู้เสียชีวิตยุติชุมนุมจัดกิจกรรมรำลึก พร้อมยื่นหนังสือถึง ผบ.ตร. ร้อง รบ.ใหม่ผลักดัน พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ
วันนี้ (19 ส.ค.) กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จัดกิจกรรมร่วมรำลึกเหตุการณ์สลายการชุมนุมครบ 15 เดือน ที่สี่แยกราชประสงค์ โดยมีมวลชนทยอยเดินทางมาร่วมงาน หลังจากที่วัดปทุมวนารามฯ ไม่อนุญาตให้จัดกิจกรรมทำบุญภายในวัด ซึ่งกิจกรรมช่วงเช้าที่ผ่านมา มีการทำบุญเลี้ยงพระอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้เสียชีวิต หลังจากนั้นมีการกล่าวรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม ส่วนกิจกรรมบนเวทีปราศรัย จะเริ่มขึ้นในเวลา 16.00-23.00 น.
ส่วนมาตรการรักษาความปลอดภัยบริเวณโดยรอบ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการตำรวจนครบาล 5 และ 6 อำนวยความสะดวก และดูแลความเรียบร้อย ประมาณ 100 นาย โดยจะไม่มีการปิดการจราจร หากมวลชนเพิ่มขึ้น เจ้าหน้าที่จะประเมินสถานการณ์ต่อไป
นอกจากนี้ ด้านเครือข่ายรณรงค์ประชาธิปไตยไม่ละเมิด นำโดยนายชาย ศรีวิกรม์ ตัวแทนเครือข่ายรณรงค์ฯ ได้รวมตัวเรียกร้องให้ญาติผู้เสียชีวิตจากการชุมนุมทางพิจารณาการใช้พื้นที่บริเวณราชประสงค์ และพื้นที่สาธารณะอื่นๆ เป็นสถานที่ชุมนุมต่อเนื่อง และเดินขบวนไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อร้องขอเจ้าหน้าที่ให้เข้ามาดูแลความสงบสุขของชุมชนอย่างจริงจัง
นายชายกล่าวว่า ความเดือดร้อนจากการชุมนุม โดยเฉพาะจากการชุมนุมยืดเยื้อของกลุ่ม นปช.ที่แยกราชประสงค์ จนนำไปสู่การจราจลและเผาทำลายสถานที่ต่างๆ ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ที่ผ่านมา ยังคงสร้างความเจ็บปวดให้แก่ผู้ประกอบการในบริเวณใกล้เคียงที่มีอยู่ราว 3-4 หมื่นราย ซึ่งแต่ละรายมีลูกจ้างประมาณ 20-30 ราย คิดเป็นมูลค่าความเสียหายหลายหมื่นล้านบาท และกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว ญาติพี่น้องของทั้งผู้ประกอบการและคนงานที่อยู่ต่างจังหวัดซึ่งรับงานไปทำ ส่งผลให้รายได้หดหาย ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า อยากให้พิจารณาว่าหากจัดอย่างต่อเนื่องจนส่งผลเสียแบบนี้ทุกครั้ง ก็จำเป็นที่ชุมชนในย่านจะต้องออกมาเรียกร้องให้หยุด และอยากให้เข้าใจหัวอกพวกเราด้วยว่า ที่นี่ก็มีตายทั้งเป็น เพราะเดือดร้อนและสูญเสียทุกครั้งที่พวกเขามา
นายชายกล่าวอีกว่า พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะอาจไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด แต่เป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะทำให้เกิดการชุมนุมที่อยู่ในกรอบกติกา เพราะการชุมนุมที่ไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่นเป็นพื้นฐานของประชาธิปไตย ในอีกแง่ยังเป็นเครื่องมือที่ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถทำงานได้อย่างสบายใจ เนื่องจากสังคมยอมรับในกระบวนการที่เกิดขึ้น จึงอยากร้องขอให้รัฐบาลแสดงความจริงใจในการจัดการกับปัญหานี้อย่างจริงจัง เพื่อเป็นบรรทัดฐานที่ดีต่อไป