xs
xsm
sm
md
lg

เอแบคโพลล์ชี้ ปชช.ค้านนายทุน-โจกแดงคุมกระทรวง หนุน รบ.ปูแดงอยู่ 4 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(แฟ้มภาพ)
“เอแบคโพลล์” สำรวจเปรียบเทียบคะแนนคนหนุน รมต.ปูแดง พบ “เด็จพี่” คะแนนลด แต่หนุนเพิ่มให้ “ยุทธศักดิ์-ชัจจ์-ยงยุทธ-วิชิต-ประชา-ประเสริฐ-วิกรม” เผยร้อยละ 72.7 ค้านนายทุนนั่ง รมต. ร้อยละ 42.7 ไม่เอาโจกแดงคุมกระทรวง ร้อยละ 41 หนุนรัฐปูแดงอยู่ครบวาระ ร้อยละ 51 คาดหวังงาน “ขุนค้อน”



วันนี้ (7 ส.ค.) นายนพดล กรรณิการ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง โผคณะรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ 1 ในสายตาของสาธารณชน ช่วงโค้งสุดท้าย ใน 17 จังหวัด จำนวน 2,114 ตัวอย่าง โดยจากการเปรียบเทียบผลสำรวจสองครั้งที่ผ่านมา พบว่า นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ ได้รับเสียงสนับสนุนในตำแหน่งรัฐมนตรีด้านงานประชาสัมพันธ์ ร้อยละ 61.7 ในครั้งที่ 1 และร้อยละ 60.8 ในครั้งที่ 2 พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ได้รับเสียงสนับสนุนเพิ่มขึ้นในตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม จากร้อยละ 54.8 มาอยู่ที่ร้อยละ 57.9 พล.ต.ท.ชัชจ์ กุลดิลก ได้รับเสียงสนับสนุนร้อยละ 57.6 ในการดูแลกระทรวงยุติธรรม นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ได้รับเสียงสนับสนุนให้ดูแลกระทรวงมหาดไทย เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 49.6 มาอยู่ที่ร้อยละ 57.5

นายวิชิต สุรพงษ์ชัย ได้รับเสียงสนับสนุนให้ดูแลด้านเศรษฐกิจ เพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 41.4 มาอยู่ที่ร้อยละ 57.3 พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ได้รับเสียงสนับสนุนเพิ่มจากร้อยละ 56.6 มาอยู่ที่ร้อยละ 57.1 ในการดูแลระบบงานตำรวจ นายประเสิรฐ บุญสัมพันธ์ ได้รับเสียงสนับสนุนเพิ่มขึ้นในการดูแลกระทรวงพลังงาน จากร้อยละ 46.6 มาอยู่ที่ร้อยละ 56.2 นายวิกรม คุ้มไพโรจน์ ได้รับเสียงสนับสนุนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 36.9 มาอยู่ที่ร้อยละ 50.2 ในการดูแลด้านต่างประเทศ และ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ได้เสียงสนับสนุนร้อยละ 35.4 ในการดูแลกระทรวงสาธารณสุข

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 72.7 ไม่เห็นด้วยที่จะให้กลุ่มนายทุนมาเป็นรัฐมนตรี และมีประชาชนเพียงร้อยละ 25.4 เห็นด้วยที่จะให้กลุ่มแกนนำคนเสื้อแดงเป็นรัฐมนตรี ขณะที่จำนวนมาก หรือร้อยละ 42.7 ไม่เห็นด้วย ทั้งนี้ ประชาชนร้อยละ 41.0 อยากให้โอกาสรัฐบาลชุดใหม่ ภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อยู่ทำงานจนครบวาระ ขณะที่ร้อยละ 13.2 ให้โอกาสไม่เกิน 6 เดือน ส่วนความคาดหวังต่อการทำหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ พบว่า ร้อยละ 51.0 คาดหวังปานกลาง ร้อยละ 43.0 คาดหวังมากถึงมากที่สุด และร้อยละ 6.0 คาดหวังน้อยถึงไม่คาดหวังเลย
กำลังโหลดความคิดเห็น