กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สรุปพายุโซนร้อนนกเตน ส่งผลกระทบพื้นที่ประสบอุทกภัย 15 จังหวัด ในจังหวัดทางภาคเหนือ และอีสาน ราษฎรเดือดร้อน 40,030 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 29,510 ไร่
วันนี้ (3 ส.ค.) ที่กระทรวงมหาดไทย นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวสรุปผลกระทบที่เกิดจากพายุโซนร้อนนกเตน ว่า ส่งผลให้มีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม รวม 15 จังหวัด ได้แก่ แพร่ เชียงใหม่ สุโขทัย น่าน ลำพูน ลำปาง แม่ฮองสอน อุตรดิตถ์ พิจิตร พิษณุโลก นครพนม อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ และ สกลนคร 97 อำเภอ 518 ตำบล 14,375 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 40,030 ครัวเรือน 179,035 คน บ้านเรือนเสียหายบางส่วน 217 หลัง พื้นที่การเกษตรเสียหาย 29,510 ไร่ มีผู้เสียชีวิต 1 ราย โดยมีรายละเอียด คือ จ. แพร่ ลำน้ำสาขาของแม่น้ำยม ลำห้วยแม่ยาง ลำห้วยแม่หล่าย ลำห้วยแม่แคม ไหลเข้าท่วมพื้นที่ 6 อำเภอ ราษฎรเดือดร้อน 5,000 ครัวเรือน 25,776 คน ได้แก่ อำเภอเมืองแพร่ วังชิ้น หนองม่วงไข่ ร้องกวาง สูงเม่น จ.สุโขทัย เกิดน้ำท่วม 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองสุโขทัย ศรีสัชนาลัย และศรีสำโรง
จ.เชียงใหม่ น้ำท่วมในพื้นที่ 16 อำเภอ ราษฎรเดือดร้อน 3,643 ครัวเรือน 7,158 คน ได้แก่ อำเภอเมืองเชียงใหม่ สันทราย สันกำแพง ดอยสะเก็ด แม่ออน พร้าว แม่ริม อมก๋อย แม่แตง ไชยปราการ ฮอด สารภี แม่แจ่ม สันป่าตอง แม่อาย และ หางดง จ.น่าน น้ำในอ่างเก็บน้ำแก่นล้นสปริงเวย์เข้าท่วมในพื้นที่ 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองน่าน บ้านหลวง ภูเพียง สันติสุข แม่จริม เวียงสา นาน้อย และ นาหมื่น ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว อยู่ระหว่างฟื้นฟู จ.ลำพูน เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 4 อำเภอ ราษฎรเดือดร้อน 7,783 ครัวเรือน 32,351 คน ได้แก่ อำเภอเมืองลำพูน ลี้ ป่าซาง และ แม่ทา จ.ลำปาง เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 9 อำเภอ 1 เทศบาล ราษฎรเดือดร้อน 16,476 ครัวเรือน 41,359 คน ได้แก่ อำเภอเมืองลำปาง แจ้ห่ม งาว แม่เมาะ วังเหนือ ห้างฉัตร เกาะคา แม่ทะ และเมืองปาน จ.แม่ฮองสอน น้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองแม่ฮองสอน ปาย ปางมะผ้า ขุนยวม แม่สะเรียง แม่ลาน้อย และ สบเมย
จ.อุตรดิตถ์ น้ำป่าจากภูเขาไหลลงสู่ห้วยน้ำพี้ เอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนในพื้นที่ 9 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ ทองแสนขัน น้ำปาด ฟากท่า ลับแล ท่าปลา ตรอน พิชัย และบ้านโคก พิจิตร น้ำในลุ่มน้ำยมไหลเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสามง่าม โพธิ์ประทับช้าง โพทะเล และบางมูลนาก จ. พิษณุโลก น้ำในลำน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองพิษณุโลก นครไทย และ ชาติตระการ จ.นครพนม น้ำท่วมในพื้นที่ 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองนครพนม บ้านแพง ท่าอุเทน นาทม โพนสวรรค์ ศรีสงคราม นาหว้า และ เรณูนคร จ.อุดรธานี น้ำท่วมบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตรในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอนายูง น้ำโสม เพ็ญ บ้านคุง และ ผือ มีผู้เสียชีวิต 1 ราย ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว อยู่ในระหว่างการฟื้นฟู
จ.หนองคาย น้ำท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสระไคร ท่าบ่อ โพนวิสัย รัตนวาปี และเฝ้าไร่ จ.บึงกาฬ น้ำท่วมในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองบึงกาฬ เซกา ศรีวิไล บึงโขงหลง บุ่งคล้า และ ปากคาด จ.สกลนคร เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 9 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองสกลนคร คำตากล้า โคกศรีสุพรรณ อากาศอำนวย กุสุมาลย์ กุดบาก เจริญศิลป์ บ้านม่วง และโพนนาแก้ว นอกจากนี้ จ.ระยอง ได้เกิดลมกระโชกแรงในพื้นที่อำเภอแกลง ตำบลพังราด ส่งผลให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 64 ครัวเรือน 192 คน ความเสียหายอยู่ในระหว่างการสำรวจ หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานและให้ความช่วยเหลือ