กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเผยอิทธิพลพายุโซนร้อน “นกเตน” ทำให้เกิดผลกระทบแล้ว 492 หมู่บ้าน 14 จังหวัด ทางภาคเหนือ-อีสานเผชิญภาวะอุทกภัย มีผู้เสียชีวิต 1 คน เตือน 37 จังหวัดรับมือน้ำท่วมฉับพลัน แนะประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยหมั่นสังเกตสัญญาณผิดปกติทางธรรมชาติ
วันนี้ (2 ส.ค.) นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า อิทธิพลจากพายุโซนร้อนนกเตนทำให้มีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องบริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ส่งผลให้เกิดสถานการณ์อุทกภัยใน 14 จังหวัด ได้แก่ แพร่ เชียงใหม่ น่าน ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน อุตรดิตถ์ พิจิตร พิษณุโลก นครพนม อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร รวม 43 อำเภอ 134 ตำบล 492 หมู่บ้าน ผู้เสียชีวิต 1 รายในจังหวัดอุดรธานี
ทั้งนี้ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดที่ประสบภัยได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจความเสียหายและให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้นแล้ว ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย และดินถล่มสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง
นอกจากนี้ นายวิบูลย์ยังกล่าวด้วยว่า ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณที่ลาดเชิงเขา ใกล้ทางน้ำไหลผ่าน และพื้นที่ราบลุ่มรวม 37 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ ตาก กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ อุทัยธานี สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ นครราชสีมา ชัยภูมิ สุรินทร์ บุรีรัมย์ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ เลย หนองบัวลำภู อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ และยโสธร เตรียมพร้อมรับมือภาวะฝนตกหนักซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม
ในช่วง 1-2 วันนี้ (2-3 ส.ค.) จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยหมั่นสังเกตสัญญาณผิดปกติทางธรรมชาติ เช่น น้ำในลำธารเปลี่ยนสีเป็นสีเดียวกันกับดินบนภูเขา ฝนตกหนักนานเกินกว่า 6 ชั่วโมง ปริมาณน้ำฝนมากกว่า 100 มิลลิเมตร ระดับน้ำในแม่น้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว มีต้นไม้ขนาดเล็กไหลมากับน้ำ เป็นต้น ให้สันนิษฐานว่าอาจเกิดน้ำป่าไหลหลากและดินถล่มขึ้นได้ ให้รีบอพยพออกจากพื้นที่ในทันที
ส่วนทะเลอันดามัน และอ่าวไทยตอนบนคลื่นลมจะมีกำลังแรง ขอให้ชาวเรือระมัดระวังอันตรายในการเดินเรือ และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้ ทั้งนี้ ปภ.ได้ประสานให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัยจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมกำชับมิสเตอร์เตือนภัยเตรียมความพร้อมเฝ้าระวังภัยในระยะนี้เป็นพิเศษ ตลอดจนจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน สำหรับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย และดินถล่ม สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป