ผ่าประเด็นร้อน
ไม่ใช่เป็นเพราะสาเหตุที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติด้วยเสียงข้างมากเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม “ปล่อยผี” ให้ จตุพร พรหมพันธุ์ เป็น ส.ส.เดินเข้าสภาอย่างสง่าผ่าเผย ซึ่งนั่นแท้ที่จริงแล้วเป็นเพียงแค่ประเด็นปลีกย่อยเท่านั้น เพียงแต่ว่าการรับรอง ผู้ต้องหาคดีก่อการร้ายเผาบ้านเผาเมือง และคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมันก็เหมือนเป็นเส้นใยสุดท้ายทำให้ความอดทนขาดผึงลงไปทันที
เชื่อว่าคนไทยหลายคนก็คงมีความรู้สึกไม่แตกต่างกันนัก!!
ที่ผ่านมาไม่ว่าใครก็ตามที่ติดตามการทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งทั้ง 5 คน ที่ควบคุมดูแลการเลือกตั้งก็ต้องยอมรับว่าไร้มาตรฐาน มีระบบการทำงานที่ “ห่วยแตก” โดยเฉพาะหากวัดกันจากการเลือกตั้งใหญ่ครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม ที่คนทั่วไปมองว่าเป็นการเลือกตั้งที่มีการทุจริตซื้อเสียงกันแบบมโหฬารที่สุด ระหว่างการหาเสียงเต็มไปด้วยการข่มขู่คุกคามฝ่ายตรงข้าม มีเรื่องร้องเรียนการทุจริตมากมาย แต่ปรากฏว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งก็ยังนิ่งเฉย ไม่มีการปราม หรือชูใบเหลือง ใบแดงก่อนการลงคะแนนเลือกตั้ง แม้สักรายเดียว เพิ่งจะมีในตอนหลัง เพียงแค่พอเป็นพิธีในสองเขต แล้วจัดการเลือกตั้งใหม่ ที่หนองคาย เขต 2 และสุโขทัย เขต 3 ซึ่งในที่สุดก็รับรองด้วยมติเอกฉันท์
นอกจากนี้ สิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นถึงความไร้ประสิทธิภาพของ กกต.ชุดนี้ได้อย่างชัดเจนที่สุดอีกอย่างหนึ่งก็คือ การตัดสิทธิการเลือกตั้งของผู้ที่ขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตเมื่อปี 2550 และที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีการแจ้งเตือนหรือประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้ทราบทำให้คนเหล่านี้ไม่สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา จำนวนกว่า 2 ล้านคน ซึ่งจำนวนผู้ใช้สิทธิ์ดังกล่าวนับว่าเป็นคะแนนที่มี “นัยสำคัญ” มีผลต่อการเลือกตั้งอย่างแน่นอน ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นมีผู้เสียหายโดยตรงนำเรื่องไปฟ้องศาลอาญาเอาผิดกับคณะกรรมการการเลือกตั้งทั้ง 5 คนเอาไว้แล้ว
สิ่งที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือ การรับรองผู้สมัครรับเลือกตั้งหลายคนที่มีปัญหาในเรื่องคุณสมบัติ กลายเป็นว่า กกต.ไม่ยอมสกรีนปล่อยปละละเลยให้ผ่านไปได้ จนกระทั่งมีปัญหาในภายหลังดังกรณีที่เกิดขึ้นกับ หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่ที่ต่อมาได้รับการเลือกตั้งแต่ปรากฎว่าในช่วงที่ยื่นจดทะเบียนพรรคการเมืองเป็นบุคคลล้มละลาย รวมไปถึงกรณีของบรรดา “หัวโจก” คนเสื้อแดง ที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาก่อการร้าย มีคดีติดตัวมากมาย มีหมายขังโดยคำสั่งของศาล มีปัญหาในเรื่องของสมาชิกภาพ คนเหล่านี้ก็ยังได้รับ “ไฟเขียว” ให้ผ่านไป
พฤติกรรมและลักษณะการทำงานของ กกต.ที่สะท้อนภาพให้เห็นถึงความล้มเหลวก็คือ การพิจารณารับรอง ส.ส.หลังการเลือกตั้งให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน โดยเฉพาะการรับรองจำนวน ส.ส.ต้องให้ได้ครบจำนวน 95 เปอร์เซ็นต์ แต่เอาเข้าจริงกลับนำมาเป็นสาเหตุในการ “ปล่อยผี” ส.ส.ที่มีชนักปักหลัง รวมไปถึง ส.ส.ที่มีปัญหาในเรื่องทุจริต ซื้อเสียงเข้าสภา โดยอ้างว่ามีหลักฐานมากมายจนพิจารณาไม่ทัน เหมือนกับว่าต้องปล่อยไปก่อน แล้วค่อย “ตามสอย” ทีหลังอะไรประมาณนั้น
แม้ว่าก่อนหนี้มีการ “แขวน” ว่าที่ ส.ส.นับร้อยคน ทำให้หลายคนลุ้นกันว่าจะมีจำนวน ส.ส.ไม่ครบ 475 คน ไม่พอเปิดสภาตามกำหนด แต่ในที่สุดมันก็เป็นเพียงแค่ “เกม” ที่ถูกมองว่านี่คือ “ปาหี่” ที่หลอกต้มชาวบ้านเท่านั้น เพราะในที่สุดแล้ว กกต.ก็ “ปล่อยผี” เข้าสภาไปจนหมด
กรณีที่เกิดขึ้นกับ จตุพร พรหมพันธุ์ นับเป็นตัวอย่างเพิ่งเกิดขึ้นสดๆร้อนๆ ที่เป็นผลงานของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชิ้นล่าสุด ที่ได้รับการปลดปล่อยออกมา ทั้งที่มีปัญหาในเรื่องคุณสมบัติ ไม่ใด้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง มีปัญหาในเรื่องคดีความทั้งเรื่องข้อหาก่อการร้าย คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ สารพัด แต่สุดท้าย ก็ได้รับการรับรองในที่สุด
หากสังเกตการพิจารณารับรอง ส.ส.ของคณะกรรมการการเลือกตั้งในครั้งนี้ ดูแล้วไม่แตกต่างจากการประวิงเวลา จนกระทั่งจนใกล้ครบกำหนดเวลา 30 วันต้องเปิดสภา จนสร้างความกดดันให้ต้องรีบรับรองไปก่อน แต่ขณะเดียวกันการพิจารณามันก็ถูกมองได้ว่าไร้มาตรฐานสิ้นดี เพราะหากมีการร้องเรียน มีปัญหาทุจริตในระหว่างการเลือกตั้งเกิดขึ้นมากมาย คำถามก็คือทำไมถึงไม่ใช้ความกล้าหาญาใช้บรรทัดฐานในการตรวจสอบให้เข้มข้นให้ใบเหลือง ใบแดง เพื่อกำราบ หรือปรามไม่ให้เกิดเรื่องทุจริตเสียตั้งแต่ต้นมือ แต่กลับปล่อยปละละเลย ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้เต็มไปด้วยเรื่องฉาวโฉ่ขาดความน่าเชื่อถือ ซึ่งรวมไปถึง คณะกรรมการเลือกตั้งทั้ง 5 คนด้วย
นอกจากนี้ ที่น่าเกลียดที่สุดก็คือ ทั้งกรณีของ จตุพร พรหมพันธุ์ รวมไปถึง ส.ส.คนอื่นๆอีกหลายคนที่ได้รับการรับรองเป็น ส.ส.ไปแล้วนั้น แม้ว่าในขั้นตอนต่อไป จะยังต้องนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ และศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ต่างกรรมต่างวาระกันนั้น โดยเฉพาะกรณีของ จตุพร จะต้องส่งเรื่องให้ประธานรัฐสภาให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความในเรื่องคุณสมบัติ ก็ตาม หากมีความผิดก็จะตามสอยทีหลังภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี แต่คำถามก็คือ ในฐานะที่เป็นคณะกรรมการเลือกตั้ง เป็นองค์กรอิสระที่ดูแลการเลือกตั้งให้เป็นไปตามกฎหมาย ถือว่าทำหน้าที่เสมือน “กึ่งตุลาการ” อยู่แล้ว แต่กลับไปกล้าชี้ขาด กลับส่งต่อไปให้ศาลชี้ขาด ลักษณะจึงออกมาไม่ต่างจากการ “ปัดสวะ” ปัดความรับผิดชอบอย่างน่าตำหนิที่สุด
ดังนั้น มาถึงนาทีนี้ที่บรรยากาศในบ้านเมืองที่อึมครึม กลายเป็นว่ารับรองโจร รับรองผู้ก่อการร้าย ความรู้สึกของชาวบ้านไม่น้อยเป็นแบบนั้น ก็เพราะมาจากการทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดนี้ ที่นำโดย อภิชาต สุขัคคานนท์ ที่น่าผิดหวัง ที่สำคัญมันไม่คุ้มค่า เหมือนกับว่าเราไม่รู้ว่าจะมี กกต.แบบนี้เอาไว้ทำไม!!