xs
xsm
sm
md
lg

“บัญญัติ” หนุน “มาร์ค” นั่ง หน.พรรคต่อ แนะ กก.บห.ชุดใหม่ปรับยุทธศาสตร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กรรมการสภาฯ ปชป.ชี้การเสนอชื่อเลขาธิการพรรคคนใหม่ เป็นอำนาจของ หน.พรรคชงชื่อเสนอต่อที่ประชุมคัดสรร ปัดพรรคแตกแยก หลังมีข่าวแย่งเก้าอี้แม่บ้านพรรค พร้อมหนุน “มาร์ค” คืนตำแหน่ง หน. ชี้เลขาฯ ไม่จำเป็นต้องเป็นคนใต้ โยน กก.บห.ชุดใหม่ทบทวนความพ่ายแพ้ 19 ปี ปรับยุทธศาสตร์ใหม่ เผยในใจลึกๆ ยังหนุนอภิสิทธิ์นั่ง หน.พรรคทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้าน

วันนี้ (19 ก.ค.) ที่รัฐสภา นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะกรรมการสภาที่ปรึกษา พรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการแสดงตนเข้ารับตำแหน่ง ส.ส.ถึงกรณีการคัดสรรบุคคลเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการพรรคว่า เรื่องนี้ถือเป็นอำนาจของหัวหน้าพรรคคนใหม่ ตามข้อบังคับพรรค โดยหัวหน้าพรรคจะมีหน้าที่เลือกบุคคล 3 รายชื่อเสนอให้ที่ประชุมใหญ่เป็นผู้เลือกหลังการรั้งหัวหน้าพรรคแล้วเสร็จ โดยกระบวนการดังกล่าวถือเป็นการเปิดกว้าง และคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคที่จะต้องทำงานร่วมกัน แล้วจึงให้ที่ประชุมใหญ่เป็นผู้ลงมติเลือกอีกครั้ง

นายบัญญัติกล่าวต่อว่า เชื่อว่าเรื่องดังกล่าวจะไม่เป็นปัญหาหรือแตกแยกอย่างที่ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์กัน โดยยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่มีความเป็นประชาธิปไตยสูง จึงเป็นธรรมดาที่จะมีผู้ออกมาให้ความเห็นอย่างหลากหลาย เชื่อว่าเมื่อกระบวนการเลือกตั้งภายในพรรคแล้วเสร็จทุกอย่างก็จะจบ

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากเลขาธิการพรรคคนใหม่ไม่ใช่คนใต้จะเป็นปัญหาหรือไม่ นายบัญญัติกล่าวว่า เชื่อว่าไม่เป็นปัญหา เพราะไม่ว่าคนภาคใดก็สามารถทำงานได้ ก่อนหน้านี้อาจมีความจำเป็นที่จะต้องกระจายพื้นที่สำหรับผู้ที่เข้ามาดำรงตำแหน่ง เพราะมีภารกิจที่ต้องทำมาก แต่ปัจจุบันนี้คงไม่มีความจำเป็น เพราะไม่ว่ามาจากภาคไหนก็เป็นที่คุ้นเคยและยอมรับจากคนในพรรคได้

เมื่อถามต่อว่า มีการกล่าวถึงความพยายามบอนไซหรือจำกัดบทบาทผู้ใหญ่ภายในพรรค นายบัญญัติกล่าวว่า ก็ถือเป็นความเห็นที่สามารถแสดงออกมาได้ โดยเฉพาะกับพรรคที่มีคนมากก็มีความเห็นออกมาหลากหลาย แต่คงไม่ถึงกับการบอนไซอย่างที่พูดกัน ไม่อยากให้นำเรื่องนี้มาเป็นประเด็น

ต่อข้อถามที่ว่า จากความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งตลอด 19 ปีที่ผ่านมา ทางพรรคจะมีการปรับยุทธศาสตร์อย่างไร นายบัญญัติกล่าวว่า คงอยู่ที่กรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ แต่ในความเป็นจริงพรรคประชาธิปัตย์ถือว่ามีการวิจารณ์และสำรวจตัวเองอยู่โดยตลอดทุกครั้ง อย่างการที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รักษาการหัวหน้าพรรค ลาออกจากตำแหน่งก็ถือเป็นการตรวจสอบตัวเองในระดับหน่ง เมื่อมีการเลือกคณะทำงานชุดใหม่เข้ามาก็จะมีการวิเคราะห์ว่าจะปรับเปลี่ยนกลยุทธ์กันอย่างไรต่อไป

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวยังมีความเห็นว่านายอภิสิทธิ์ยังมีความเหมาะสมที่จะเข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนต่อไป โดยเฉพาะในยามที่หัวหน้าพรรคต้องทำหน้าที่เป็นผู้นำฝ่ายค้านด้วย การที่นายอภิสิทธิ์ผ่านงานในฐานะฝ่ายบริหารมาเป็นฝ่ายค้าน ก็จะทำให้สามารถมองเห็นการทำงานของรัฐบาลได้อบย่างชัดเจนมากขึ้นว่าสิ่งใดที่ควรทำแล้วรัฐบาลใหม่ไม่ทำ หรือสิ่งใดที่ไม่ควรทำแต่กลับดำเนินการ เป็นต้น

กำลังโหลดความคิดเห็น