ปัญหาในพรรคประชาธิปัตย์หลังการลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อยู่ที่การหาเลขาธิการพรรคแทนนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แม้จะมีคนพยายามเกลี้ยกล่อมให้สุเทพ เทือกสุบรรณ เปลี่ยนใจกลับมารับตำแหน่งเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์อีกรอบ
แต่ดูท่าจะยากเสียแล้ว เพราะในงานเลี้ยงสังสรรค์ ส.ส.ประชาธิปัตย์ที่โรงแรมโฟร์ซีซั่นส์เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา สุเทพก็แสดงท่าทีชัดเจนว่าไม่รับตำแหน่งแน่นอน
แม้ยังเหลือเวลาอีกไม่กี่สัปดาห์ที่การประชุมใหญ่พรรคประชาธิปัตย์จะเริ่มต้นขึ้น คือในต้นเดือนสิงหาคม หลายคนยังหวังให้สุเทพเปลี่ยนใจ แต่หากสุเทพกลืนน้ำลายโดยอ้างว่าเป็นเสียงส่วนใหญ่ของที่ประชุมจำใจต้องกลับมาเป็นเลขาธิการพรรคอีกครั้ง ทำแบบนี้คงไม่เป็นผลดีกับตัวสุเทพเองที่จะเสียเครดิตการเมือง ถูกมองว่าเป็นคนไร้สัจจะพูดจากกลับกลอก
สำหรับตำแหน่งหัวหน้าพรรคนั้น คงไม่มีปัญหา อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กลับมารับอีกครั้งแน่นอน เพราะยามนี้ยังมองไม่เห็นใครจะขึ้นมานำทัพพรรคได้ แม้จะมีตัวเลือกหลายคนที่ดูแล้วชื่อชั้นก็ขึ้นมาแทนอภิสิทธิ์ได้แต่สถานการณ์ยังไม่เอื้ออำนวย
ศึกเลือกตั้งเพิ่งผ่านไป แม้ประชาธิปัตย์แพ้แก่พรรคเพื่อไทยและยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อย่างหมดรูป นับเป็นความล้มเหลวในการนำพรรค แต่ยังไงก็ต้องชูมาร์ค-อภิสิทธิ์เอาไว้ก่อน ถ้าไปไม่ได้จริงแล้วค่อยแก้ไขกันในอนาคต
ถ้า ปชป.ไม่ขาย อภิสิทธิ์ แล้วจะขายตัวไหน?
อีกเหตุผลหนึ่งที่สำคัญมองกันว่า ประชาธิปัตย์กำลังเปลี่ยนสถานะเป็นพรรคฝ่ายค้าน ไม่ได้เป็นรัฐบาล ทำให้การชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคไม่ได้รุนแรงอะไร และแน่นอน หากในพรรคมีการใช้กำลังภายในช่วงชิงตำแหน่งเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์จนเกิดเป็นความขัดแย้งออกมาให้คนภายนอกเห็น ย่อมไม่เป็นผลดีกระทบต่อความศรัทธาที่จะเสื่อมทรุดหนักลงไปอีก
แม้จะมีข่าวว่า แคนดิเดทบางคนเริ่มคิดจะเคลื่อนไหวกันแล้ว แต่ด้วยประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่มีระเบียบวินัยทางการเมืองสูง การจะออกมาแก่งแย่งชิงตำแหน่งกันแบบพรรคการเมืองอื่น หากแม้มีเรื่องงัดข้อกันภายในจริงก็ต้องพยายามสยบเป็นคลื่นใต้น้ำไม่ให้อึกทึกคึกโครมออกมาเป็นขี้ปากชาวบ้าน
อย่างไรก็ตาม หากถึงเวลาจริงๆ การแข่งขันมีสูง ต่อให้พยายามปิดเอาไว้ ก็คงยากที่คนนอกพรรคจะไม่รับรู้
ว่าเฉพาะตัวชิงหลักๆในตำแหน่งเลขาธิการหรือแม่บ้านของพรรค ตอนนี้มีอยู่ด้วยกันหลลายนาม ล่าสุด ส.ส.อาวุโสอย่างพิเชษฐ พันธ์วิชาติกุล ส.ส.กระบี่หลายสมัย เชียร์ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่ 7
หากนำคุณหญิงกัลยาไปเทียบกับคนที่มีชื่อก่อนหน้านี้ที่เป็นแกนนำพรรคสายกรุงเทพมหานครอีกคน คือ อภิรักษ์ โกษะโยธิน ก็ถือว่าคุณหญิงกัลยา ชื่อชั้นก็สูสีพอๆ กับอภิรักษ์ ที่ลำดับปาร์ตี้ลิสต์ยังอยู่หลังคุณหญิงกัลยาคือลำดับที่ 8 เพราะความเป็นสะใภ้ตระกูลธนาคารกรุงเทพฯ ได้ทั้งความอาวุโส มากคอนเน็คชั่น
ส่วนผลงานก็ไม่บันเบา คุณหญิงกัลยามีส่วนร่วมในความสำเร็จการเลือกตั้งที่ทำให้ ปชป.เป็นแชมป์กรุงเทพฯ สองสมัยทั้งปี 50 และ 54 รวมถึงการกวาดที่นั่งส่วนใหญ่ได้ในสนาม ส.ก.-ส.ข.ที่ผ่านมาของ ปชป. ทั้งที่คุณหญิงกัลยามีส่วนสำคัญไม่น้อยในเลือกตั้ง ส.ส.กทม.ที่ผ่านมา แต่ถูกอภิรักษ์แย่งซีนจนกลายเป็นผลงานของอภิรักษ์เสียส่วนใหญ่
อีกทั้งยุคนี้ ผู้หญิงเล่นการเมืองกำลังมาแรง หากประชาธิปัตย์ต้องปะทะทางการเมืองกับยิ่งลักษณ์ ชินวัตร การจะให้อภิสิทธิ์ที่เป็นผู้ชาย ต้องซัดกับยิ่งลักษณ์ทุกประเด็นข่าวอาจไม่เหมาะ มีแต่เสียมากกว่าได้ แต่ถ้าเป็นคุณหญิงกัลยาลงมาตรวจสอบเชือดเฉือนกับยิ่งลักษณ์ก็ดูแล้วน่าจะดีกว่า...เป็นมวยถูกคู่คนดูถูกใจ
อย่างไรก็ตาม ทั้งอภิรักษ์-คุณหญิงกัลยา มีจุดอ่อนคือ มาจากภาคกรุงเทพมหานคร เมื่ออภิสิทธิ์คือตัวแทนของภาคกทม.เป็นหัวหน้าพรรคแล้ว เลขาธิการพรรคยังเป็นคนจากภาคกทม.อีก แม้ประชาธิปัตย์จะชนะการเลือกตั้งในพื้นที่ กทม.เหนือเพื่อไทย ทว่าคงไม่ดีแน่ ถ้าหัวหน้าพรรค-เลขาธิการพรรคจะเป็นคนของภาค กทม.ทั้งหมด เพราะจะทำให้ ปชป.กลายเป็นพรรคกรุงเทพได้ในสายตาคนบางกลุ่ม และอาจมีแรงต้านจาก ส.ส.ในพรรคกลุ่มอื่นๆ เช่น สายภาคกลาง-ภาคใต้-เหนือ เป็นต้น
ขณะที่ภาคใต้ ซึ่งประชาธิปัตย์กวาดเรียบยกเว้น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ้าไม่มีตำแหน่งใหญ่ในพรรค พวก ส.ส.ใต้หัวเก่า ที่ยังคิดการเมืองแบบเก่าๆ อาจยอมรับไม่ได้
แม้ตัวผู้สนับสนุนคุณหญิงกัลยาคือพิเชษฐจะเป็น ส.ส.ใต้ จังหวัดกระบี่ สายตรง ชวน หลีกภัย แต่หลายคนก็มองว่าพิเชษฐอยู่ในสายบัญญัติ บรรทัดฐาน ที่คนในซีกบัญญัติก็ต้องการให้มีคนของกลุ่มตัวเองนั่งเป็นแกนนำพรรคประชาธิปัตย์บ้าง
การที่พิเชษฐออกมาสนับสนุนคุณหญิงกัลยา จึงยังไม่ได้เป็นความเห็นของ ส.ส.ภาคใต้ทั้งหมดของพรรค แต่เป็นท่าทีของกลุ่มบัญญัติมากกว่า
ยิ่ง ส.ส.ภาคใต้ส่วนใหญ่อยู่กับสุเทพ เทือกสุบรรณ เมื่ออภิสิทธิ์คือผู้จะเลือกเลขาธิการพรรคหลังได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรค คนที่อภิสิทธิ์จะเอาใครขึ้นมาเป็นเลขาธิการพรรคก็ต้องขึ้นอยู่กับอภิสิทธิ์ และอภิสิทธิ์ก็ต้องฟังคำสั่งจากสุเทพว่าจะเอาใคร
ดังนั้น เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ คนที่จะเลือกและชี้ว่าจะเอาใคร ก็คือ อภิสิทธิ์และสุเทพ
ซึ่งท่าทีของอภิสิทธิ์และสุเทพ ก็ยังไม่ชัดว่าหนุนใคร แม้จะมีการพยายามโยนชื่อบางคนวัดกระแสคนในพรรคออกมาบ้างแล้ว
เช่น อภิรักษ์ โกษะโยธิน ที่สร้างผลงานใน กทม.เอาไว้ได้ ชนิดประกาศตั้งแต่นาทีแรกๆ ว่าผลเอ็กซิทโพลเมื่อ 3 ก.ค.54 หลังปิดหีบเลือกตั้ง ที่บอกว่าประชาธิปัตย์จะได้ ส.ส.กทม.แค่ 5 ที่นั่งไม่เป็นความจริงจะได้ไม่ต่ำกว่า 20 ที่นั่ง แล้วสุดท้ายเอ็กซิทโพลทุกสำนักก็หน้าแหกยับเยิน
แต่อภิรักษ์ดูจะยังไม่อยากขึ้นมามีบทบาทนำอะไรในพรรคตอนนี้ เพราะแม้จะอยู่พรรคมานานแต่เพิ่งจะได้เป็น ส.ส.สมัยนี้เป็นครั้งแรกในชีวิต แถมมีชนักเรื่องคดีรถดับเพลิงที่กำลังจะขึ้นสู่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ อยู่ ถ้าเด่นเกินอาจดับเร็วก็ได้
ตัวเต็งเลขาธิการพรรค ปชป.หลายคนจึงเชื่อว่ายังให้สายใต้แรงอยู่ ตอนนี้คนส่วนใหญ่ในพรรค ปชป.ต่างมองว่า คราวนี้คนที่จะเป็นเลขาธิการพรรค จะเปลี่ยนจากสุราษฎร์ธานี มาเป็นที่นครศรีธรรมราชก็ได้ เพราะนักการเมืองหลายคนในเมืองคอนถือว่าชื่อชั้นนั่งเก้าอี้เลขาธิการพรรคได้สบาย
โดยเฉพาะสามคนนี้ คือ ชินวรณ์ บุณยเกียรติ-วิทยา แก้วภราดัย-ชำนิ ศักดิเศรษฐ์ โดยในส่วนของชำนิ แม้จะเป็นปาร์ตี้ลิสต์แต่ก็เป็น ส.ส.จากพื้นที่นครศรีธรรมราช โดยสองคนแรกถ้าวิเคราะห์แล้วน่าจะมีโอกาสมากเพราะอยู่ในกลุ่มสุเทพ ได้รับตำแหน่งใหญ่ใน ครม.คือชินวรณ์ได้เป็น รมว.ศึกษาธิการ วิทยาได้เป็น รมว.สาธารณสุขแล้วลาออกมาเป็นประธานวิปรัฐบาล ก็มาจากโควตาสุเทพ แม้อาจมีเสียงวิจารณ์ว่า วิทยากับชินวรณ์คนในพรรคยังไม่ให้การยอมรับ
นอกจากนี้ ส.ส.ภาคใต้บางคนไปเชียร์ ชำนิ ศักดิเศรษฐ์ มากกว่า เพราะเห็นว่ามีบทบาทในพรรคอย่างต่อเนื่อง ระยะหลังทำงานเข้าขาอภิสิทธิ์มาตลอด เป็นหนึ่งในคนที่ไปร่วมออกทีวีกับอภิสิทธิ์เจรจากับแกนนำเสื้อแดงหลายชั่วโมงเมื่อการชุมนุมเสื้อแดงปี 53 ลำดับปาร์ตี้ลิสต์ก็ลำดับที่10 ใน 125 รายชื่อปาร์ตี้ลิสต์จึงถือว่าไม่ธรรมดา แต่ติดปัญหาที่แรงหนุนส่งจาก สุเทพ ให้กับชำนิมีไม่มากนัก อาจเพราะมองว่าชำนิอยู่สายบัญญัติ บรรทัดฐาน
สุดท้ายถ้าเป็นวิทยาหรือชินวรณ์จริง แม้ช่วงแรกคนในพรรคอาจไม่เห็นด้วยมาก แต่หากสุเทพจะเอาเสียอย่าง เสียงส่วนใหญ่ก็คงเอาด้วยกับสุเทพ รวมถึงตัวอภิสิทธิ์ด้วย
ส่วนกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ แม้บุคลิกเหมาะกับเลขาธิการพรรค เข้าได้กับทุกฝ่ายทุกกลุ่ม มีความประนีประนอมสูง แต่ข้อเสียคือไม่มีฐานการเมืองในพรรคมากนัก เพราะทำงานขึ้นตรงกับอภิสิทธิ์อย่างเดียว และมีความเป็นคุณหนูติดตัวอยู่พวก ส.ส.ไม่หนุน
อีกทั้งดูแล้ว กอร์ปศักดิ์ก็คงไม่เอาด้วยเห็นได้จากรอบนี้ก็ไม่ได้ลงเลือกตั้ง ทำให้ไม่ได้เป็น ส.ส. หากจะเป็นเลขาธิการพรรคโดยตัวเองไม่ได้เป็น ส.ส.ยิ่งไปกันใหญ่ คุมเกมอะไรทางการเมืองได้ยาก
อย่างไรก็ตาม ดูแล้วไม่ว่าเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่จะเป็นใคร ก็ต้องรับคำสั่งและอยู่ใต้เงา “สุเทพ เทือกสุบรรณ” เฉกเช่นเดียวกับ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ต้องฟังคำสั่งจาก “พี่แม้ว” ทักษิณ ชินวัตร