xs
xsm
sm
md
lg

รายงาน:คนไทยแห่เลือกตั้งทุบเป้าปี 50 กกต.โบ้ย มท.ทำเสียสิทธิ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คนไทยแห่ใช้สิทธิ์เลือกตั้ง คาดทุบสถิติปี 50 แต่ ปชช.ต้องเสียสิทธิ์ซ้ำรอย “ลุงจำลอง” อื้อ เหตุกฎ กกต.ทำป่วน ด้าน “เสธ.หนั่น” ติงปากกาเขียนไม่ติด อาจทำให้บัตรเสีย “สดศรี” ยังรับกล่องรับบัตร 2 แบบสับสน แต่ได้แค่ให้ จนท.เขียนป้ายติดไว้ แก้ปัญหาเฉพาะหน้า

บรรยากาศการเลือกตั้งครั้งที่ 25 ของประเทศไทยเป็นไปอย่างคึกคักตั้งแต่เปิดหีบในเวลา 08.00 น.โดยมีประชาชนทยอยออกมาใช้สิทธิ์มากอย่างเป็นประวัติการณ์ มีหน่วยเลือกตั้งที่การใช้สิทธิ์ครบ 100 เปอร์เซนต์หลังเปิดหีบได้เพียง 2 ชั่วโมง จนคาดว่าจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ์ครั้งนี้จะทุบสถิติ 74.45 เปอร์เซนต์ของการเลือกตั้งเมื่อปี 2550 แต่ในบรรยากาศที่คึกคักกลับพบปัญหาขึ้นในหลายพื้นที่

- ประชาชนเสียสิทธิ์อื้อ เหตุกฎ กกต.ทำป่วน
กรณีของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง พร้อมด้วย พ.ต.หญิงศิริลักษณ์ ศรีเมือง ภรรยา ที่เดินทางไปใช้สิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้งที่ 14 และ 16 แขวงนครชัยศรี เขตดุสิต ซึ่งตั้งอยู่ที่โรงเรียนเศรษฐเสถียร ตั้งแต่เวลา 08.10 น. โดยทั้งคู่มีชื่อปรากฏอยู่ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิ์ลงคะแนน แต่ปรากฏว่าไม่สามารถใช้สิทธิ์ได้ เนื่องจากในแนบท้ายรายชื่อระบุว่า ได้ขอไปใช้สิทธิ์ที่ จ.กาญจนบุรี

โดยจากตรวจสอบพบว่า เมื่อปี 2550 พล.ต.จำลอง และ พ.ต.หญิง ศิริลักษณ์ เคยลงทะเบียนขอไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งนอกเขตที่ จ.กาญจนบุรี ทำให้เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งทำได้เพียงแนะนำให้ พล.ต.จำลอง เขียนคำร้องไว้ เพื่อไม่ให้เสียสิทธิ์ทางการเมือง และเมื่อ พล.ต.จำลอง แจ้งว่าจะเดินทางไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งที่ จ.กาญจนบุรี แต่เจ้าหน้าที่แจ้งว่าไม่สามารถทำได้ เพราะการใช้สิทธิ์นอกเขตสามารถทำได้ในวันเลือกตั้งล่วงหน้าเพียงวันเดียวเท่านั้น

ด้าน นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ตามระเบียบ กกต.เมื่อแจ้งลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์นอกเขตไว้เมื่อการเลือกตั้งครั้งก่อนแล้ว สิทธิ์จะยังคงอยู่ที่เดิม หากไม่มีการแจ้งย้ายกลับ พร้อมอ้างว่าที่เป็นเช่นนี้ ถือเป็นความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทย ในเรื่องการจัดทำรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

“ทีมข่าวการเมือง ASTVผู้จัดการ” เห็นว่า ปัญหานี้สมควรต้องได้รับการแก้ไข โดยล้างสิทธิ์และกำหนดให้มีการลงทะเบียนใหม่ในทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งครั้งหนึ่งอาจทิ้งระยะเวลาถึง 4 ปีก่อนจะมีการเลือกตั้งอีกครั้ง ทำให้ประชาชนอาจจำไม่ได้ว่าคราวก่อนเคยใช้สิทธิ์หรือลงทะเบียนไว้ที่ไหน ที่สำคัญหาก กกต.จะกำหนดให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าหรือนอกเขตตามที่เคยแจ้งไว้เมื่อคราวก่อน ก็ต้องมีระบบจัดการในการแจ้งเตือนให้ประชาชนทราบอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ เพราะกรณีนี้ไม่ใช่มีเพียง พล.ต.จำลอง คนเดียวเท่านั้น ยังพบปัญหาในลักษณะเดียวกันอีกเป็นจำนวนมากทั่วประเทศ รวมไปถึงกรณีปัญหาที่แก้ไม่ตกมานานอย่างรายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนตกหล่นในหลายพื้นที่ ทำให้ประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิ์มากเป็นประวัติการณ์ต้องหมดสิทธิ์ลงคะแนนไปโดยปริยาย

- กรณีการแจ้งรายชื่อ และสถานที่ตั้งหน่วยเลือกตั้งที่ล่าช้า หรือไม่แจ้งเปลี่ยนแปลงที่ตั้งหน่วยเลือกตั้ง
จากการตรวจสอบพบว่า จดหมายแจ้งรายชื่อผู้ใช้สิทธิ์ และที่ตั้งของหน่วยเลือกตั้งที่เคยมีการจัดส่งให้ล่วงหน้าก่อนการเลือกตั้ง เพื่่อให้ประชาชนทราบสิทธิ์และสามารถท้วงติงกรณีชื่อเกินหรือตกหล่นนั้น แต่ในการเลือกตั้งครั้งนี้หลายพื้นที่กลับไม่ได้รับจดหมายดังกล่าว บางพื้นที่ได้รับก่อนการเลือกตั้งไม่นาน หรือใฝนวันเลือกตั้ง ทำให้ไม่สามารถท้วงติงการเสียสิทธิ์ได้ทันการณ์ อีกทั้งบางพื้นที่กลับไม่มีการแจ้งว่าย้ายที่ตั้งหน่วยเลือกตั้ง ทำให้ประชาชนเกิดความสับสนและเป็ฯอุปสรรคในการออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง

นางสดศรี ได้กล่าวถึงเรื่องนี้เช่นกันว่า ภารกิจต่างๆ ในการจัดการเลือกตั้งนั้น ไม่ใช่ว่า กกต.จะเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด แต่ได้มีการสนับสนุนเงินงบประมาณบางส่วนไปให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ดำเนินการ เช่น การแจ้งเจ้าบ้าน ทางกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด เอกสารที่ส่งไปให้จึงเป็นอำนาจของพระทรวงมหาดไทยดำเนินการ

- ระบบการทำงานของ จนท.ประจำหน่วยล่าช้า
เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำรอยกับการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งในวันนั้นทำให้ประชาชนจำนวนมากต้องเสียสิทธิ์ในการลงคะแนน เพราะไม่สามารถเสียเวลารอคอยครึ้่งค่อนวันได้ เนื่องจากระบบจัดการของเจ้าหน้าที่ประจำหน่วย ซึ่งเป็นไปตามที่ กกต.เป็นผู้ควบคุม การรับบัตรคิวถึง 3 ครั้งในวันนั้น ทำให้ประชาชนจำนวนมากไม่สามารถลงคะแนนได้ และอีกจำนวนมากเดินทางมาไม่ทันลงคะแนน เนื่องจากความสับสนของการจัดหน่วยเลือกตั้ง หรือแม้แต่ปัญหาที่ไม่น่าเกิดขึ้นอย่างปากกาลงคะแนนที่เขียนไม่ติด โดย พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา ที่มาลงคะแนนที่ ร.ร.สุโขทัย เขตดุสิต ตั้งแต่ช่วงเช้า ท้วงติงเจ้าหน้าที่ว่า ปัญหาในการลงคะแนน คือปากที่เขียนไม่ค่อยติด ถ้าขีดย้ำเกรงว่าบัตรเลือกตั้งจะขาดจะเป็นบัตรเสีย

ทั้งนี้ คาดว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะมีประชาชนออกมาใช้สิทธิ์มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งก็เป็นไปตามเป้าหมายของ กกต.แต่ปรากฏว่า กกต.กลับไม่ได้เตรียมพร้อมรับมือจัดระบบรองรับจำนวนประชาชนที่ทยอยออกมาใช้สิทธิ์

- กล่องรับบัตรเลือกตั้ง 2 แบบไม่ชัดเจน
ในการเลือกตั้งที่มีการลงคะแนน 2 ระบบ และมีการแบ่งบัตรเลือกตั้งเป็น 2 ประเภท คือ ในระบบเขต (บัตรสีเขียว) และระบบบัญชีรายชื่อ (บัตรสีชมพู) ทำให้ต้องมีการแบ่งกล่องรับบัตรเป็น 2 สีเช่นเดียวกัน แต่ปรากฏว่าที่หน่วยเลือกตั้งไม่ได้มีการติดป้ายให้ชัดเจนว่ากล่องใดเป็นแบบระบบเขต หรือกล่องใดเป็นแบบระบบบัญชีรายชื่อ สร้างความสับสนให้แก่ผู้ใช้สิทธิ์ โดยเฉพาะผู้สูงอายุเป็นจำนวนมาก เริ่องนี้ กกต. นางสดศรี สัตยธรรม ได้ยอมรับว่า มีความเป็นห่วงถึงความจำเป็นของกล่องบัตรลงคะแนน จึงอยากให้ทางคณะกรรมการหน่วย มีการติดตั้งป้ายให้ชัดเจน บนกล่อง เพื่อป้องกันประชาชนสับสน และจัดไว้เป็นกรณีครหา ในการฟ้องร้องกันภายหลัง

กลายเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า โดยไม่ได้มีการเตรียมการไว้ล่วงหน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น