“สดศรี” เตือนสมุห์บัญชีพรรครายงานการใช้จ่ายตามความจริง ระบุที่ผ่านมาหลายพรรคทำบัญชีไม่ถูกต้อง เล็งเล่นงานพรรคการเมืองติดป้ายหาเสียงถี่ ส่อใช้จ่ายเกินวงเงิน
นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงแนวทางปฏิบัติในการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายในการเลือกตั้งแก่สมุห์บัญชีที่จัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายวงเงินในการหาเสียงของผู้สมัคร ส.ส.พรรคการเมืองต่างๆ โดยมีตัวแทนสมุห์บัญชีจากพรรคการเมืองจำนวน 42 พรรค รวมถึงเจ้าหน้าที่จากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และกรมสรรพากรเข้าร่วมการประชุม เพื่อให้สมุห์บัญชีของพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัคร ส.ส. มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการจัดทำบัญชีรายรับและรายจ่ายของพรรคการเมืองหาเสียงเลือกตั้ง รวมทั้งนำความรู้ที่ได้ไปถ่ายทอดแก่สมุห์บัญชีของพรรคที่ดูแลบัญชีค่าใช้จ่ายของ ส.ส.แบบแบ่งเขตให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย เพื่อให้ถูกต้องตามที่ กกต.กำหนด
โดย นางสดศรีกล่าวว่า หลังจากวันเลือกตั้งวันที่ 3 ก.ค.เสร็จสิ้น ผู้สมัครเลือกตั้ง ส.ส.ทุกคน ไม่ว่าได้รับเลือกตั้งหรือไม่ จะต้องแจ้งบัญชีรายรับรายจ่ายต่อ กกต. โดยวงเงินค่าใช้จ่ายในการหาเสียง ส.ส.แบบแบ่งเขต มีค่าใช้จ่ายไม่เกิน 1.5 ล้านบาทต่อคน ส่วน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อจะคำนวณตามจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองส่งลงสมัครคิดเป็นรายละ 1.5ล้านบาท โดยสมุห์บัญชีของทุกพรรคการเมืองจะต้องมีความละเอียดรอบคอบ เนื่องจากช่วงหลังมีการร้องเรียนเรื่องค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งมาก ซึ่งใกล้เคียงกับเรื่องการทุจริตซื้อเสียงขายเสียง
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบของ กกต.พบว่า การจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายของบางพรรคการเมืองมีข้อบกพร่องเกี่ยวกับการทำบัญชีอยู่มาก หลายพรรคจัดทำแสดงรายรับรายจ่ายที่ไม่ตรงกับบัญชี และไม่ถูกต้อง ทำให้เป็นเรื่องที่กังวลว่าหากทำบัญชีไม่ถูกต้อง หรือสมุห์บัญชีรับรองผู้สมัคร ส.ส.ไม่ถูกต้อง ผู้สมัครคนนั้นก็จะต้องมีความผิดตามกฎหมาย ดังนั้นสมุห์บัญชีจึงจะต้องละเอียดรอบคอบ
นางสดศรีกล่าวว่า การรายงานบัญชีรายรับและรายจ่าย สมุห์บัญชีจะต้องรายงานตามความเป็นจริงตามจรรยาบรรณของวิชาชีพ และตามกฎหมายทุกประการ โดยขอให้ตรวจสอบค่าใช้จ่ายอย่างเคร่งครัด หากเห็นว่าไม่ถูกต้องขอให้บันทึกไว้ให้ชัดเจน ส่วนหากมีปัญหาก็ขอให้หารือเข้ามาที่ กกต. เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในภายหลังได้ อย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่ของกกต.ในจ.สงขลา และพัทลุงพบป้ายหาเสียงของพรรคการเมืองหนึ่งที่มีการติดป้ายในระยะที่ติดกันจนผิดสังเกต และคาดว่าน่าจะเกินวงเงิน 1.5 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม กกต.ขอเตือนให้สมุห์บัญชีของทุกพรรครายงานค่าใช้จ่ายมาที่ กกต.ไม่เกิน 90 วันหลังวันเลือกตั้ง และหากไม่ปฏิบัติตามก็จะเข้าข่ายการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบได้ โดยทาง กกต.จะต้องตรวจสอบค่าใช้จ่ายให้ถูกต้อง ไม่ว่าผู้สมัครคนนั้นจะได้รับเลือกตั้งหรือไม่