กกต.นัดประชุม หน.พรรคการเมือง เพื่อจัดลำดับหมายเลขการออกอากาศโฆษณาแถลงนโยบาย 1 มิ.ย.ผ่านทางสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ ย้ำ ผู้บริหารสถานีใช้ดุลพินิจ ตรวจสอบรายการที่มีเนื้อหาล่อแหลม ให้คุณให้โทษผู้สมัคร หรือพรรคการเมือง ก่อนนำมาออกอากาศ
วันนี้ (23 พ.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นางสดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง ได้เป็นประธานการประชุมระหว่างสำนักงาน กกต.และผู้บริหารสถานีวิทยุกระจายเสียงและสถานีโทรทัศน์ เพื่อพิจารณาสนับสนุนการเลือกตั้ง ส.ส.ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.พ.ศ.2550 มาตรา 59(4)(5) และมาตรา 60 ในการจัดสรรเวลาออกอากาศให้แก่พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งโฆษณาหาเสียงทางสถานีวิทยุและสถานีโทรทัศน์ รวมถึงเรื่องการหาเสียงเลือกตั้ง และข้อควรปฏิบัติ ข้อห้ามมิให้ปฏิบัติในการเลือกตั้ง
โดย นางสดศรี กล่าวว่า หลังจากที่ กกต.ได้ดำเนินการเปิดรับสมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อและระบบแบ่งเขตเลือกตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้ว กกต.ก็จะทราบจำนวนของพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง โดยในวันที่ 1 มิ.ย.นี้ กกต.จะจัดประชุมหารือร่วมกับหัวหน้าพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งมาจับสลากหลายเลข เพื่อจัดลำดับหมายเลขการออกอากาศโฆษณาข้อความสั้น (สปอต) เกี่ยวกับนโยบายพรรคการเมืองและการแถลงนโยบายของพรรคการเมืองออกอากาศรวม 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 13-30 มิ.ย.54 หากพรรคการเมืองใดไม่มาจับสลากในวันดังกล่าว ถือว่า พรรคการเมืองนั้นมีความประสงค์ที่จะสละสิทธิที่จะโฆษณาหาเสียงทางสถานีวิทยุและสถานีโทรทัศน์
ทั้งนี้ มีผู้บริหารทางสถานีโทรทัศน์ของรัฐช่องหนึ่ง ได้ขอหารือ กกต.กรณีที่มีพิธีกรผู้ดำเนินรายการเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมือง รวมทั้งมีรายการนำเสนอภาพความรุนแรงของเหตุการณ์ที่ผ่านมา และนำมาวิเคราะห์ที่ส่อไปทางล่อแหลมอาจไม่มีความเป็นกลางในช่วงการเลือกตั้งนั้น ทางสถานีโทรทัศน์จำเป็นต้องทำหนังสือถอดออกจากผังรายการหรือไม่ และจะสามารถนำเทปรายการดังกล่าว มาให้ กกต.ช่วยพิจารณาเนื้อหารายการก่อนออกอากาศได้หรือไม่
ด้านผู้แทนสำนักกฎหมายและคดีของสำนักงาน กกต.กล่าวว่า กรณีถ้าพิธีกรดำเนินรายการเป็นผู้สมัครของพรรคการเมืองนั้น หากยังจัดรายการอยู่ก็ยังสามารถจัดรายการต่อไปได้ แต่ขอให้ระวังพฤติกรรมในเรื่องการหาเสียง ส่วนรายการที่มีเนื้อหาล่อแหลมนั้น ถ้ามีเนื้อหาให้คุณให้โทษผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใดก็ไม่ควรนำมาออกอากาศ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของทางสถานีโทรทัศน์
ขณะที่ นางสดศรี กล่าวว่า กกต.เข้าใจปัญหาของสถานีของรัฐดี หากมีปัญหาในเรื่องของการออกอากาศก็สามารถทำหนังสือเข้ามาหารือยัง กกต.ได้ เพราะ กกต.สามารถทำให้ผู้ดำเนินรายการหยุดออกอากาศได้