xs
xsm
sm
md
lg

กกต.เบรกจัดกองเชียร์สมัครปาร์ตี้ลิสต์ นัดแจงกรอบวงเงินค่าใช้จ่าย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สดศรี สัตยธรรม
กกต.พร้อมรับสมัครปาร์ตี้ลิสต์ แนะผู้สมัครดูแลกองเชียร์ห้ามมีขบวนแห่ เนื่องจากผิด กม.เลือกตั้ง พร้อมทำบัตรสีจำแนกคน ทำหน้าที่ และผู้สมัคร กองเชียร์ ให้อยู่เป็นสัดส่วน พร้อมนัดประชุมพรรคการเมืองกำหนดวงเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง 18 พ.ค.นี้

วันนี้ (16 พ.ค.) นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ กล่าวถึงความพร้อมในการรับสมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) ในวันที่ 19 พ.ค.ซึ่งเป็นวันแรกของการรับสมัคร ว่า ในวันดังกล่าวทางสำนักงานกกต.ได้จัดอาคารกีฬาเวศน์ 2 สนามกีฬาไทยญี่ปุ่น-ดินแดง ไว้เป็นสถานที่ในการรับสมัคร โดยได้จัดระเบียบเพื่อรักษาความปลอดภัยของผู้สมัคร เพื่อป้องกันเหตุไม่คาดฝันที่เกิดขึ้น โดยได้ประสานงานกับตำรวจท้องที่เพื่อมาดูแลความเรียบร้อย มีการตั้งจุดสแกนอาวุธและวัตถุระเบิด รวมทั้งจัดพื้นที่แยกส่วนระหว่างกองเชียร์กับผู้สมัครออกจากกันอย่างชัดเจน โดยการเตรียมการทั้งหมดทางสำนักงาน กกต.จะซ้อมใหญ่ในวันที่ 18 พ.ค.ที่จะจัดให้เหมือนวันจริงทุกอย่าง

นางสดศรี กล่าวต่อว่า การปฏิบัติตัวของผู้สมัครที่จะต้องเตรียมเอกสารต่างๆ ให้ครบถ้วนแล้ว คณะกองเชียร์ที่ติดตามมาสามารถตามมาเชียร์ได้แต่จะต้องไม่มีลักษณะการแห่หรือจัดขบวน ดนตรี กลองยาว ฯลฯ เนื่องจากจะผิดกฎหมายเลือกตั้ง และที่ผ่านมา ก็เคยมีผู้สมัครเคยถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง เนื่องจากไปทำในลักษณะดังกล่าวมาแล้ว นอกจากทางสำนักงาน กกต.ยังจะได้จัดคอมพิวเตอร์ไว้ เพื่อให้ผู้สมัครตรวจสอบการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ว่า เป็นสมาชิกพรรคการเมืองเดียวหรือไม่ เพราะมีชื่อเป็นสมาชิกพรรคการเมืองมากกว่า 1 พรรคก็จะขาดคุณสมบัติ ตามมาตรา 101(3) ของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคเดียว เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในกรณีที่มีการเลือกตั้งทั่วไป เพราะเหตุยุบสภา ต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง แต่เพียงพรรคเดียว เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 30 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการเตรียมความพร้อมนั้น ทางสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้มีการจัดเตรียมทำบัตรและมีการแยกสีของบัตรไว้จำนวน 6 สี โดยส่วนของผู้บริหารของกกต.จะเป็นบัตรสีฟ้า เจ้าหน้าที่ กกต.จะเป็นสีชมพู สำหรับผู้สมัคร ส.ส.จะเป็นบัตรสีน้ำเงิน สื่อมวลชนจะได้บัตรสีเขียว ส่วนตัวแทนของพรรคการเมืองหรือพวกกองเชียร์ของพรรคต่างๆจะเป็นสีส้ม ขณะที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจะใช้สีม่วง เนื่องจากทางสำนักงานกกต.ได้จัดเตรียมสถานที่เป็นสัดส่วน และง่ายต่อการจัดการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 18 พ.ค.นี้ ทางสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้จัดให้มีการเชิญหัวหน้าพรรคการเมืองที่มีอยู่ในขณะนี้จำนวน 57 พรรคการเมือง มาประชุมหารือเพื่อกำหนดวงเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง และแนวทางในการสมัคร ส.ส.ทั้งบัญชีรายชื่อ และแบบแบ่งเขตเลือกตั้งครั้งนี้ ที่มีการเปลี่ยนแปลงจากเดิม ภายหลังจากที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ทั้ง 3 ฉบับ ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง, พรรคการเมือง และการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมานั้น ทาง กกต.จึงต้องจัดประชุมหารือในรายละเอียดกันอีกครั้ง สำหรับการกำหนดวงเงินค่าใช้จ่ายนั้น ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง กำหนดว่า เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ให้มีการจัดการเลือกตั้ง กกต.จะต้องกำหนดค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง โดยการหารือกับหัวหน้าพรรคการเมืองตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กกต.กำหนด ซึ่งในการเลือกตั้งเมื่อปี 2551 ได้มีการกำหนดวงเงินค่าใช้จ่ายไปแล้วโดยกำหนดให้ผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งใช้เงินค่าใช้จ่ายได้ไม่เกินคนละ 1.5 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ที่ กกต.ได้เคยจัดประชุมหัวหน้าพรรคการเมืองไปแล้ว โดย นายธนิศร์ ศรีประเทศ รองเลขาธิการ กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง ได้สรุปความเห็นของพรรคการเมืองที่ กกต.ได้สอบถามไปเมื่อวันที่ 2 พ.ค.ว่า พรรคการเมืองต่างๆ ที่ได้รับทราบเบื้องต้น และได้รับคำตอบมาเพียง 33 พรรคการเมือง ว่า ควรกำหนดต่ำกว่า 1 ล้านบาท 8 พรรค,ควรกำหนด 1 ล้าน-1.4 ล้านบาท 8 พรรค, ควรกำหนดเท่าเดิม 1.5 ล้านบาท 9 พรรค, ควรกำหนด 2 ล้านบาท 7 พรรค, ควรกำหนด 3 ล้านบาท 3 พรรค และควรกำหนดเกิน 3 ล้านบาท 2 พรรค แต่ยังไม่มีข้อสรุปเพราะต้องรอ พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้ก่อน จึงเป็นผลที่ต้องนัดประชุมครั้งนี้อีกครั้งเพื่อหาให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน

รายงานข่าวแจ้งว่า หลังจากที่ได้สอบถามไปยังพรรคการเมืองต่างๆ แล้วมีความเป็นไปได้ว่า ค่าใช้จ่ายในการหาเสียงนั้น น่าจะประมาณ 1.5-2 ล้านบาท เมื่อมาดูปัจจัยที่ต้องนำมาคำนึงถึงในการกำหนดวงเงินค่าใช้จ่าย ทั้งในเรื่องของ ดัชนีราคาผู้บริโภคตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์ อัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำตามประกาศของกระทรวงแรงงาน และสวัสดิการสังคม ราคาวัสดุ อุปกรณ์ ที่จำเป็นต่อการใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ทุกอย่างมีปัจจัยที่เพิ่มขึ้นมาก ซึ่งแนวโน้มอาจจะเป็น 2 ล้านก็มีความเป็นไปได้
กำลังโหลดความคิดเห็น