นายกฯ นัดประชุม ครม.ชุดเล็ก ปัญหาปุ๋ย ออกโครงการปุ๋ยลดต้นทุน ช่วยเกษตรกรในโครงการประกันรายได้ และที่ขึ้นทะเบียนการผลิต ลดราคา 1.50 บาทต่อกิโล คาดใช้วงเงิน 3.5 พันล้าน
วันนี้ (6 พ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดเล็กถึงกรณีปัญหาราคาปุ๋ยว่า วันนี้ตนได้ประชุมครม.กับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องได้ข้อสรุปเกี่ยวกับโครงการปุ๋ยที่กำลังจะมีการขึ้นราคา โดยสรุปแล้วทางกระทรวงพาณิชย์ที่มีการประชุมคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับราคาปุ๋ย ก็จะได้มีการกำหนดเป็นราคาแนะนำตามช่วงราคาแต่ละสูตรปุ๋ยที่ได้กำหนดไว้ก่อนหน้านี้ และแนวทางที่รัฐบาลจะช่วยพี่น้องเกษตรกร โดยเราจะแนะนำให้เกษตรกรได้ใช้ปุ๋ยในสูตรที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่ของตนเอง ซึ่งได้มีการศึกษาออกมาแล้วว่ามีปุ๋ยทั้งหมด 6 สูตรที่มีความเหมาะสมแต่ละสภาพพื้นที่ และเรามั่นใจว่าถ้าใช้ตามคำแนะนำจะสามารถลดปริมาณการใช้ได้ และจะเป็นการปูทางถึงแนวทางของการผลิตต่อในอนาคต
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า จากจุดเริ่มต้นตรงนี้จึงมีมติที่จะให้การช่วยเหลือลดต้นทุนให้พี่น้องเกษตรกร เป็นโครงการปุ๋ยลดต้นทุน ความหมายคือ ในการที่พี่น้องประชาชนเกษตรกรอยู่ในโครงการประกันรายได้ และได้ขึ้นทะเบียนการผลิตไว้เรียบร้อยแล้ว เราก็จะให้ทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นผู้ที่จะกำหนดว่าพี่น้องเกษตรกรที่อยู่ในโครงการจะต้องใช้ปุ๋ยในปริมาณเท่าไหร่ ตามโครงการประกันรายได้ เพราะเราจะทราบอยู่แล้วว่าแต่ละคนมีพื้นที่เท่าไหร่อยู่ที่ไหน อย่างไร และมีการเพาะปลูกอะไร เราก็จะได้ปริมาณตรงนี้มาและจะช่วยลดต้นทุนให้กิโลกรัมละ 1.50 ทั้งนี้ วงเงินที่จะใช้ในโครงการนี้ทั้งหมดจะอยู่ที่ 3,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นข้อสรุปที่จะดำเนินการในวันนี้ ส่วนวิธีการและรายละเอียดจะให้ทางกระทรวงการคลังและ ธ.ก.ส.เป็นผู้ชี้แจง ทั้งนี้ ถือเป็นมติของ ครม. เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหา คาดว่าจะมีการใช้ปุ๋ยในช่วง 3-4 เดือนข้างหน้าประมาณ 2.3 ล้านตันไม่เกิน
ผู้สื่อข่าวถามว่า จำนวนวงเงิน 3,500ล้านบาท เป็นสัดส่วนที่นอกเหนือจากวงเงินกู้ซื้อปุ๋ยใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ชาวเกษตรกรสามารถที่จะไปกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ เพื่อไปซื้อปุ๋ยได้อยู่แล้ว และเราจะช่วยลดต้นทุนราคาปุ๋ยให้ 1.50 บาทต่อ กก. ซึ่งเป็นวิธีที่เราเลือก เพราะว่า เดิมการเลือกวิธีลดดอกเบี้ยเกรงว่าจะมีปัญหาเพราะว่าเกษตรกรบางรายอาจไม่ได้ใช้เรื่องของการกู้โดยผ่าน ธ.ก.ส. เพราะฉะนั้นการช่วยเหลือโดยการคำนวณปริมาณที่จะใช้ตามโครงการประกันรายได้เกษตรกร ส่วนกรณีการกู้เงินไปซื้อปุ๋ยนั้นจะเป็นเรื่องที่ทาง ธ.ก.ส.เป็นผู้พิจารณาไปตามปกติ