“พล.อ.ทรงกิตติ” ระบุเหตุปะทะไทย-เขมร อยู่ในแผนป้องกันประเทศขั้นที่ 1 วอนเชื่อมั่นกองทัพวางแผนป้องกันไว้แล้ว พูดทำเอาเคลิ้มบอกทหารไม่มีหน้าที่เจรจา ถูกออกแบบมาให้รบ จุดยืนกองทัพไทยต้องรักษาอธิปไตย ใครคุกคามต้องตอบโต้ เย้ยข่าวลือปฏิวัติเห็นลือมา 5 ปีแล้ว
เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2554 สืบเนื่องจากการปะทะบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ฝั่งจังหวัดสุรินทร์ พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ให้สัมภาษณ์บนเรือหลวงจักรีนฤเบศร ว่าขณะนี้ยังอยู่ในแผนการปฏิบัติการป้องกันประเทศขั้นที่ 1 โดยมีทางกองกำลังสุรนารีรับผิดชอบป้องกันประเทศ ขณะนี้ศูนย์ปฏิบัติการทางทหารยังสามารถสั่งการควบคุมได้ถ้าหากมีการยกระดับ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้ให้ทั้งกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ทางกองทัพมีแผนป้องกันประเทศ โดยการใช้ 8 กองกำลัง มี 7 กองกำลังเป็นของกองทัพบก อีก 1 กองกำลังเป็นของกองทัพเรือ ในแต่ละกองกำลังก็มีแผนในการดำเนินกลยุทธ์ ในส่วน ผบ.กองกำลัง ถ้าไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ กองทัพโดยศูนย์ปฏิบัติการกองทัพภาค ก็จะเข้าแก้ไขปัญหาในภาพรวม หลังจากนั้นศูนย์ปฏิบัติการทางทหารจะเข้าควบคุม หากมีความจำเป็นก็ต้องเคลื่อนย้ายกำลังเพิ่มเติมกำลัง ส่วนการเคลื่อนย้ายประชาชนก็เป็นไปตามแผนในการพิทักษ์พื้นที่ส่วนหลังซึ่งมีการฝึกซ้อมอยู่แล้ว
เมื่อถามว่า เป็นเกมของกัมพูชาเพื่อกดดันให้ไทยยอมรับผู้สังเกตการณ์ของอินโดนีเซีย หรือไม่ พล.อ.ทรงกิตติกล่าวว่า ตนมองว่ามีการเผชิญหน้าระหว่างสองประเทศ จุดยืนของกองทัพไทยต้องรักษาอธิปไตย ไม่ให้ใครล่วงล้ำ และรักษาผลประโยชน์ของชาติ ที่สำคัญกองทัพไม่เกี่ยวกับการเจรจา เพราะกองทัพไม่เจรจากับใคร เขาออกแบบให้เรามารบ ถ้าเราถูกคุกคามก็ต้องตอบโต้ เราไม่รุกรานใครก่อน หากเขาใช้ปืนใหญ่เราก็ตอบโต้ด้วยปืนใหญ่ด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนอยู่แล้ว อย่ากังวลใจ ขอให้เชื่อมั่นในกองทัพ
ผู้บัญชาการทหารสูงสุดระบุถึงข่าวลือรัฐประหารที่เมื่อคืนวานดาวเทียมสื่อสารไทยคมล่มจนเกิดปัญหาเรื่องการสื่อสารว่า ก็เห็นลือมา 5 ปีแล้ว
ด้าน พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก กล่าวว่า การปะทะกันระหว่างทหารไทยกับทหารกัมพูชา ที่แนวชายแดนไทย-กัมพูชา บริเวณปราสาทตาควาย อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ เกิดขึ้นในขณะที่ชุดลาดตระเวนของกองรัอยทหารพราน 2606 กองกำลังสุรนารี กองทัพภาคที่ 2 ได้ลาดตระเวนไปพบทหารกัมพูชากำลังขุดหลุมดัดแปลงที่มั่นทางทิศตะวันออกของปราสาทตาควาย ทหารไทยได้เจรจาให้ยุติการดำเนินการแต่ไม่เป็นผล และทหารกัมพูชาได้ใช้อาวุธยิงเข้ามาในเขตไทย ทำให้กองกำลังสุรนารีทำการตอบโต้และเกิดการปะทะกันเป็นระยะๆ ตลอดแนวปราสาทตาควายจนถึงปราสาทตาเมือน โดยระหว่างการปะทะมีการใช้อาวุธหนักและปืนใหญ่ ซึ่งทหารไทยได้ยิงตอบโต้ตามความเหมาะสมและพยายามจำกัดพื้นที่การปะทะไม่ให้ขยายวงกว้าง โดยระมัดระวังไม่ให้ส่งผลกระทบต่อพลเรือน
พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ กล่าวว่า ทันทีที่เกิดเหตุการณ์กองกำลังสุรนารีได้ร่วมกับ จังหวัดทหารบกสุรินทร์ และส่วนราชการในพื้นที่ต่างๆ ร่วมกันอพยพประชาชนในพื้นที่ ต.บักได และ ต.ตาเมียง อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ ไปยังพื้นที่ปลอดภัยที่ทางราชการได้เตรียมไว้ 2 แห่ง คือ ที่ อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ (โรงเรียนพนมดงรัก, โรงเรียนบ้านโคกกลาง, โรงเรียนบ้านโคกโบสถ์) และ ที่นิคมอุตสาหกรรมสร้างตนเอง อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ ซึ่งห่างจากแนวชายแดนประมาณ 30 กิโลเมตร โดยมีเจ้าหน้าที่จากทาง จ.สุรินทร์ และกองกำลังสุรนารี อำนวยความสะดวก สำหรับในหมู่บ้านที่มีการอพยพราษฎรไทยออกไปนั้น จะมีทหารจากกองกำลังสุรนารี, ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 21 และชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน เฝ้าระวังทรัพย์สินของประชาชน และรักษาความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม ตลอดช่วงที่มีการปะทะได้มีการประสานและเจรจาระหว่างผู้บังคับหน่วยทหารในพื้นที่ของทั้งสองฝ่าย รวมถึงผู้บังคับบัญชาระดับสูง เพื่อยุติการปะทะและไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายกำลังในพื้นที่อื่นๆ ตามแนวชายแดน ป้องกันไม่ให้เกิดความสับสน โดยล่าสุดกองกำลังนารียังคงตรึงกำลังตลอดแนวที่มีการปะทะเพื่อป้องกันการรุกล้ำอธิปไตย และสร้างความปลอดภัยในพื้นที่ใกล้เคียง