ที่ประชุมสภา พิจารณาร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ส.ส.ฝ่ายค้านและรัฐบาล คัดค้านไม่เห็นด้วยกับบางถ้อยคำ ที่เข้าข่ายละเมิดละเมิดสิทธิการชุมนุม เชื่อเร่งรีบออก กม.เพื่อใช้เครื่องมือจัดการผู้ชุมนุมข้างทำเนียบ หลังจากการพิจารณาเรียงรายมาตราในวาระ 2 เสร็จสิ้น ส.ส.ไม่ยอมเข้าห้องประชุมเพื่อลงมติเป็นเหตุให้สภาล่มเป็นครั้งที่ 4
วันนี้ (21 เม.ย.) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้มีการพิจารณาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ คณะกรรมาธิการวิสามัญฯพิจารณาเสร็จแล้วต่อเป็นวันที่ 2 โดยก่อนเข้าสู่วาระ นายกว้าง รอบคอบ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อแผ่นดิน แทน พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก อดีต ส.ส.สัดส่วนที่ลาออกไป ได้ลุกขึ้นปฏิญาณตนก่อนเข้ารับตำแหน่ง โดย นายชัย ชิดชอบ ประธานสภา ซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมได้พูดกระเซ้าว่า ขอต้อนรับสมาชิกใหม่ แต่คงอยู่ได้ไม่นานเพราะเดี๋ยวก็ยุบสภาแล้ว
จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ต่อในมาตรา 8 เกี่ยวกับข้อห้ามพื้นที่ชุมนุม โดยกรรมาธิการได้เพิ่มเติมข้อความคำว่า “ไม่เข้าไป” และ “เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเจ้าของหรือผู้ครอบครองสถานที่นั้น” ซึ่ง ส.ส.ส่วนใหญ่ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล คัดค้านไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มเติมถ้อยคำดังกล่าว เพราะใน (1) ได้ระบุถึงสถานที่ประทับของพระมหากษัตริย์ พระราชินี และพระรัชทายาท รวมถึงสถานที่พำนักของพระราชอาคันตุกะ ควรห้ามชุมนุมเด็ดขาดอยู่แล้ว ซึ่งคณะกรรมาธิการยอมตัดข้อความที่เพิ่มเติมทิ้ง
ทั้งนี้ สมาชิกที่ขอแปรญัตติส่วนใหญ่เห็นว่า เป็นการละเมิดสิทธิการชุมนุมของประชาชนที่ต้องขออนุญาตจากเจ้าของสถานที่ก่อน พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่า จะทราบได้อย่างไรว่าเจ้าของสถานที่หรือผู้ครอบครองสถานที่นั้นๆ เป็นใคร และหากไม่ได้รับอนุญาตให้ชุมนุมในสถานที่ที่ระบุไว้จะทำอย่างไร นอกจากนี้ ข้อความใน (1) ควรจะระบุเป็นสถานที่ต้องห้ามในการชุมนุม ไม่ควรเขียนว่าจะต้องขออนุญาต เพราะจะเกิดการตีความได้
นายไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า การไปเขียนอย่างนี้หากมีการกีดขวางการจราจรบนถนน จะต้องไปขออนุญาตใคร และหากมีการชุมนุมที่สถานทูต จะถือเป็นการก้าวล่วงสิทธิความเป็นดินแดนหรือไม่ ทั้งนี้ ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวพวกตนเคยแสดงความจริงใจให้ยับยั้งไว้ก่อน แต่วันนี้จะใช้กฎหมายเพื่อจับกุมคุมขังผู้คนที่ชุมนุมข้างทำเนียบ ออกมาแล้วจะไปดำเนินการใช่หรือไม่ วันนี้เราต้องการความปรองดอง ที่มาเขียนเพิ่มได้คำนึงถึงสิทธิประเทศความเป็นประชาธิปไตยและบรรยากาศที่มีหรือไม่ แม้สภาจะผ่านกฎหมายฉบับนี้ไป แต่ก็คงไม่ผ่านในชั้นของวุฒิสภาแน่นอน หากไม่รีบเอาไปเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาของใคร ก็ไม่ต้องรีบ ตนไม่เข้าใจทำไมต้องเอากฎหมายฉบับนี้ออกมาเป็นเครื่องมือหรืออย่างไร
ด้าน นางผุสดี ตามไท ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การชุมนุมหลายครั้งทำให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อน คนที่ใช้สิทธิเสรีภาพต้องใช้อย่างมีระเบียบ กฎหมายไว้คอยดูแล เพื่อให้การชุมนุมเป็นไปอย่างมีผู้รับผิดชอบ ให้เจ้าหน้าที่ดูแลความสะดวก ซึ่งสถานที่ที่ระบุไว้ในมาตรา 8 เจ้าของสถานที่หรือผู้ครอบครองจะอนุญาตอย่างนั้นหรือ ควรจะเป็นสถานที่ต้องห้ามมากกว่า ควรเลือกสถานที่ที่ไม่ส่งผลกระทบหรือความเดือดร้อน หากไม่มีจะไม่ดีกว่าหรือ สถานทูตก็อยู่บนผืนแผ่นดินไทยการเขียนแบบนี้ไม่ใช่ล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของประเทศต่างๆ ไม่อยากให้ใครเข้าใจผิดว่าผู้สนับสนุนกฎหมายนี้ คือ การสนับสนุนการละเมิดสิทธิเสรีภาพ แต่คิดว่าการมีกฎหมายทำให้ผู้ใช้สิทธิได้คำนึงถึงการละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นด้วย
ส่วน นายพีระพันธ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การระบุว่า สถานที่พำนักของรัชทายาท รวมถึงสถานที่พำนักของพระราชอาคันตุกะ ต้องให้ประชาชนเข้าไปขออนุญาตอย่างนั้นหรือ ไม่รู้เขียนมาได้อย่างไร แต่ควรจะเป็นสถานที่ต้องห้าม และหากจะชุมนุมก็ต้องมีกำหนดว่าควรมีระยะห่างเท่าไหร่ จะต้องให้ประชาชนไปทูลฯขอชุมนุมในสำนักพระราชวังอย่างนั้นหรือ สถานที่เหล่านี้ควรเป็นสถานที่ต้องห้ามไม่ให้จัด แต่หากเป็นสถานที่ราชการอาจจัดได้ แต่ห้ามกีดขวางทางเข้าออก
“สมมติราษฎรขอเข้าไปชุมนุมที่พระราชวังสวนจิตรลดา แล้วขออนุญาตเข้าไป ซึ่งสถานที่อย่างนี้ในต่างประเทศเขายังเขียนว่าเป็นสถานที่ห้ามชุมนุม และอยากถามสำนักพระราชวังใครเป็นเจ้าของ ใครจะเป็นผู้อนุมัติหรืออนุญาต มาเขียนไว้ว่าให้ขอ เรื่องนี้ไม่ได้เลย ที่บอกต้องไม่เข้าไปเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของ จะบอกเลขาธิการพระราชวังก็ไม่ใช่ ในหลายประเทศบอกเลยว่าสถานที่เหล่านี้เป็นสถานที่ห้ามชุมนุม แต่ถ้าจะชุมนุมต้องมีระยะห่างกี่เมตร ผมเห็นแล้วก็ตกใจ จะให้ไปขอใคร และถ้าไม่ได้รับอนุญาตจะเป็นอย่างไร ผมไม่อยากคิด กลัวจะเป็นการดึงสถาบันลงมา ซึ่งไม่ควรจะเขียนอย่างนี้ ควรเขียนเป็นสถานที่ต้องห้ามมากกว่า” นายพีระพันธ์ กล่าว
ขณะที่ นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะ กมธ.ชี้แจงว่า ไม่ได้ขออนุญาต แต่เป็นเพียงการแจ้งให้ทราบเช่น แจ้งไปยังสถานีตำรวจ เพื่ออำนวยความสะดวกต่างๆ แต่หากการชุมนุมขัดกับกฎมายฉบับนี้ ก็ยังสามารถชุมนุมได้ แต่ตำรวจผู้รับแจ้งต้องไปร้องขอต่อศาล ซึ่งศาลจะเป็นผู้ตัดสินใจอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ การชุมนุมเป็นเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ถามว่าจะไปกำหนดที่ไม่ได้ เพราะการชุมนุมเป็นเสรีภาพ แต่ในมาตรา 9 กำหนดเรื่องพื้นที่ว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจจะเข้ามาแนะนำว่าที่แห่งไหนควรจะเป็นที่ชุมนุมสาธารณะ ส่วนที่กมธ.เพิ่มว่า ห้ามไม่เข้าไปกีดขวางทางเข้าออก หากมีกรณีชุมนุมหน้าสถานทูตประเทศใดก็ไปชุมนุมได้ แต่การกีดขวางทางเข้าออกทำไม่ได้ นี่คือ สิ่งเราคุ้มครอง ไม่ใช่ห้ามไม่ให้ชุมนุมหน้าสถานที่นั้น ส่วนที่บอกว่าชุมนุมสถานที่ประทับของพระมหากษัตริย์ หรือพระราชินี ซึ่งก็ต้องทำเรื่องตามขั้นตอน กฎหมายฉบับนี้เป็นเพียงการแจ้งเท่านั้น
จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณาเรียงรายมาตราโดยมีมาตราที่สำคัญ ซึ่ง ส.ส.ให้ความสนใจในการอภิปรายเป็นจำนวนมาก อาทิ มาตรา 19 ที่กำหนดให้ผู้จัดการชุมนุมจะต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจภายใน 24 ชั่วโมง หากจะดำเนินการชุมนุมต่อไป มาตรา 20 กำหนดให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องผ่านการฝึกอบรมเพื่อให้เกิดความเข้าใจในการควบคุมสถานการณ์และใช้เครื่องมือควบคุมได้ตามที่รัฐมนตรีกำหนด ขณะที่ มาตรา 22 ที่ประชุมสภามีการแก้ไขโดยกำหนดให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเท่านั้นที่มีอำนาจแต่งตั้งเจ้าพนักงานรับผิดชอบดูแลการชุมนุม
ต่อมาเวลา 13.38 น.ภายหลังจากการพิจารณาเรียงรายมาตราในวาระ 2 เสร็จสิ้นทั้ง 39 มาตรา นายสามารถ แก้วมีชัย รองประธานสภาผู้แทนราษฎรในฐานะประธานที่ประชุม ได้กดปุ่มเรียกสส.มาลงมติในวาระ 3 ขณะที่ ส.ส.ทั้งสองฝ่ายอ้างว่าสมาชิกกำลังเดินทางเข้าห้องประชุมสภาฯ ภายหลังจากการประชุมคณะกรรมาธิการ หลังจากที่ นายสามารถ ได้กดปุ่มรออีกพักใหญ่ ก่อนที่จะสั่งให้นับองค์ประชุมปรากฎว่ามีสส.อยู่เพียง 231 ไม่ครบองค์ประชุม 237 คน จาก ส.ส.ทั้งหมด 474 คน โดยองค์ประชุมล่มครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 4