xs
xsm
sm
md
lg

38 องค์กร บุกสภา จี้รัฐถอนร่าง พ.ร.บ.ชุมนุมฯ - วิปรัฐอ้างหวังมี กม.ป้องกันเผาเมืองอีก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ประสานงานเครือข่ายประชาชน 38 องค์กร บุกสภา ค้าน พ.ร.บ.ชุมนุม ยื่นเลขาฯ วิปรัฐ ยันส่อริดรอนสิทธิเสรีภาพ ซัดพวกทำชาวบ้านเดือดร้อนก็ไม่เคยขออนุญาตเหมือนกัน จี้ถอนร่างทันที ยันมีกฏหมายอื่นคุ้มครองแล้ว จ่อชุมนุมใหญ่ถ้าดันเข้าวาระ 2-3 ด้านวิปรัฐ อ้างภาคประชาชนเข้าใจผิด โบ้ยไม่มีกฏหมายรองรับทำเกิดเผาเมือง



วันนี้ (20 เม.ย.) ที่หน้ารัฐสภา ศูนย์ประสานงานเครือข่ายประชาชน ซึ่งประกอบด้วย องค์กรต่างๆ 38 องค์กร อาทิ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เครือข่ายแรงงาน สมัชชาคนจน และเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เป็นต้น โดยได้รวมตัวกันราว 300 คน เพื่อคัดค้านการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ..... ซึ่งกำหนดอยู่ในวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร ในวันนี้ (20 เม.ย.) ต่อมา นายธนิตพล ไชยนันทน์ ส.ส.ตาก พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการประสานงาน (วิป) รัฐบาล ได้เป็นผู้แทน นายวิทยา แก้วภราดัย ประธานวิปรัฐบาล รับหนังสือคัดค้านจาก นายอำนาจ พละมี รองเลขาธิการ สรส.

โดย นายอำนาจ กล่าวกับ นายธนิตพล ว่า ทางภาคประชาชนไม่เห็นด้วยต่อหลักการของกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งให้การรับรองสิทธิของประชาชนที่จะร้องเรียน หรือบอกกล่าวถึงความเดือดร้อนต่างๆ ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตใคร เพราะผู้ที่ทำให้ประชาชนเดือดร้อนก็ไม่เคยขออนุญาตประชาชนเช่นกัน ดังนั้น ตัวแทนองค์กรทั้ง 38 องค์กรจึงได้มายื่นหนังสือในวันนี้ โดยขอให้ยุติการพิจารณาและถอนร่าง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ออกมาโดยทันที เนื่องจากเห็นว่า การควบคุมการชุมนุมที่ไม่สงบนั้น ยังมีประมวลกฎหมายอาญา หรือ พ.ร.บ.ความมั่นคง ที่สามารถนำมาใช้ควบคุมได้อยู่ ส่วนการป้องกันการพกพาอาวุธนั้นก็เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาพบว่าตำรวจไม่ทำหน้าที่ รวมทั้งยังเห็นว่ารัฐบาลเตรียมการจะยุบสภาในเร็วๆ นี้ จึงไม่สมควรที่จะเร่งผลักดันกฎหมายฉบับนี้ออกมา และให้เป็นหน้าที่ของสภาชุดต่อไป

ด้าน นายธนิตพล กล่าวถึงแนวทางในการดำเนินการต่อไปว่า ขอยืนยันถึงความเห็นของรัฐบาลที่ว่าการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธเป็นสิ่งที่ถูกต้อง จึงเห็นว่าภาคประชาชนอาจเกิดความเข้าใจผิดในหลักการของกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากกฎหมายนี้ไม่มีวัตถุประสงค์ในการห้ามชุมนุม เพียงแต่กำหนดหลักเกณฑ์เพื่อป้องกันการชุมนุมที่ไม่สงบ แต่หากประชาชนต้องการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ และไม่ขัดต่อกฎหมาย ก็ยังสามารถทำได้ตามกฎหมายฉบับนี้ แต่ที่ผ่านมามีการชุมนุมที่มีการกำลังอาวุธสร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน หรือก่อจลาจลเหมือนช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.53 แต่กฎหมายไม่เอื้อให้รัฐบาลเข้าไปจัดการกับผู้ชุมนุมเหล่านั้นได้ ซึ่งส่วนนี้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะจะเข้ามาควบคุมได้ ทั้งนี้ ตนขอรับเรื่องในฐานะวิปรัฐบาล แต่ต้องขอไปดูในรายละเอียดต่อไป อย่างไรก็ตามตนยังเห็นว่ายังมีการพิจารณาในวาระ 2 และ 3 ซึ่งยืนยันว่า วิปรัฐบาล และ ส.ส.ในสภาฯจะพิจารณาโดยยึดหลักที่ว่าการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสิทธิมนุษยชนต่อไป

หลังจากการยื่นหนังสือแล้วเสร็จ ทางกลุ่มผู้ชุมนุมได้สลายตัวอย่างสงบในเวลา 11.00 น.โดยได้แจ้งกับผู้ชุมนุม ว่า หากสภายังมีการพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 ต่อไป จะมีการนัดหมายชุมนุมใหญ่อีกครั้ง






กำลังโหลดความคิดเห็น