xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ เร่งจัดสวัสดิการผู้สูงอายุ รับมือการเพิ่มจำนวนในอนาคต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นายกฯ คาด 20 ปีข้างหน้าผู้สูงอายุในไทยจะมีจำนวน 17 ล้านคน เร่งจัดสวัสดิการเพื่อผู้สูงอายุ พร้อมมอบรางวัลผู้สูงอายุแห่งชาติแก่ “ท่านผู้หญิงสุมาลี จาติกวณิช” ชมเป็นบุคคลส่งเสริมความเสมอภาคของชายหญิงและการคุ้มครองสิทธิสตรี

วันนี้ (4 เม.ย.) เวลา 08.00 น. สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพมหานคร นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงานวันผู้สูงอายุแห่งชาติ “ผู้สูงวัยมีคุณค่า ร่วมพัฒนาสังคมไทย” พร้อมปาฐกถาพิเศษและมอบรางวัลเกียรติคุณแก่ผู้สูงอายุแห่งชาติ พ.ศ. 2554 เพื่อเชิดชูเกียรติผู้สูงอายุซึ่งเป็นแบบอย่างที่ดีในสังคม

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบโล่รางวัล และเกียรติบัตร ให้แก่ท่านผู้หญิงสุมาลี จาติกวนิช ซึ่งได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้สูงอายุแห่งชาติ พุทธศักราช 2554 ขณะเดียวกันยังได้มอบโล่รางวัลให้แก่ผู้สูงอายุซึ่งเป็นภูมิปัญญาดีเด่น จำนวน 16 ราย ผู้ชนะเลิศการประกวดคำขวัญเนื่องในวันผู้สูงอายุแห่งชาติ จำนวน 1 ราย ผู้ชนะเลิศการแข่งขันกรีฑาผู้สูงอายุ จำนวน 2 ราย องค์กรสนับสนุนงานด้านผู้สูงอายุ จำนวน 4 ราย ได้แก่ บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) สถานีโทรทัศน์ทีวีไทย Thai PBS บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้แสดงความยินดีต่อท่านผู้หญิงสุมาลี จาติกวนิช ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลเกียรติยศดีเด่นด้านการส่งเสริมความเสมอภาคของชายหญิง และการคุ้มครองสิทธิสตรี ซึ่งท่านเป็นสตรีไทยเข้มแข็งคนแรกของประเทศไทย และเป็นผู้สูงอายุแห่งชาติ พุทธศักราช 2554 และขอแสดงความยินดีแก่ผู้สูงอายุทุกคนที่ได้รับรางวัลเกียรติคุณในวันนี้ด้วย

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า จำนวนประชากรผู้สูงอายุในประเทศไทยกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นไปในลักษณะเดียวกันกับแนวโน้มของโลก โดยเฉพาะขณะนี้ในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกันนั้น ประเทศไทยกำลังได้ก้าวเข้าสู่การเป็น “สังคมผู้สูงอายุ” ที่ค่อนข้างจะรวดเร็วที่สุดรองจากประเทศสิงคโปร์ โดยปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนประชากรสูงอายุอยู่ประมาณ 7 ล้านคนเศษ หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 11 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ขณะเดียวกันในอีก 20 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2573) คาดว่าจำนวนประชากรผู้สูงอายุประเทศไทย จะเพิ่มขึ้นไปอีกประมาณ 17 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งสถานการณ์ข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ก็มีความสอดคล้องกับที่องค์การสหประชาชาติได้คาดการณ์เอาไว้ ว่าในระยะ 20 ปีข้างหน้า ประชากรสูงอายุจำนวน 2 ใน 3 ของประชากรสูงอายุโลกจะเป็นประชากรสูงอายุที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ทวีปเอเชีย ประเด็นนี้จึงเป็นประเด็นที่ท้าทายภูมิภาคนี้เป็นอย่างยิ่ง และจะต้องให้ความสำคัญและตระหนักถึงผลกระทบที่ตามมา โดยเฉพาะเรื่องของการบริหารจัดการทางด้านทรัพยากร และการจัดให้มีหลักประกันด้านต่างๆ สำหรับผู้สูงอายุ เพื่อสร้างความมั่นคง และคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้สูงอายุ

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับเรื่องของการผลักดันให้มีระบบสวัสดิการที่ครอบคลุมทุกมิติ อาทิ เรื่องของการดูแลทางด้านสุขภาพอนามัย ให้ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้อย่างสะดวกทั่วถึง และเท่าเทียมกัน การสร้างหลักประกันด้านรายได้ขั้นพื้นฐานเพื่อการยังชีพ ในวัยสูงอายุด้วยการจัดให้มีเบี้ยยังชีพเป็นรายเดือน (500 บาททุกเดือน) ตลอดจนการให้ความช่วยเหลืออื่นๆ เป็นต้น ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมารัฐบาลยังได้ขยายสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีอากร เพื่อสนับสนุนการออมในรูปแบบของการประกันชีวิตแบบบำนาญ รวมถึงการดำเนินการเรื่องของการออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การกำหนดหน่วยงานผู้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการเกี่ยวกับการคุ้มครอง การส่งเสริม และการสนับสนุนผู้สูงอายุในด้านต่างๆ ตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 และ พ.ศ. 2553 ซึ่งให้มีการขยายหน่วยงานร่วมรับผิดชอบเพิ่มเติมในการจัดให้มีบริการ และการอำนวยความสะดวกด้านต่างๆ สำหรับผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น เช่น การให้บริการทางการแพทย์สำหรับผู้สูงอายุ การให้การสนับสนุนผู้สูงอายุเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การส่งเสริมการประกอบอาชีพที่เหมาะสม การมีส่วนร่วมในกิจกรรมสังคม และการใช้บริการสาธารณะต่างๆ ซึ่งหมายความว่าต่อจากนี้ไป ผู้สูงอายุจะได้รับโอกาส และสิทธิประโยชน์ในการใช้บริการสาธารณะต่างๆ ที่มีความหลากหลายได้อย่างสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ยังมีงานอีกหลายด้าน ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องมีการผลักดันอย่างต่อเนื่อง เช่น ในเรื่องของการศึกษา เรื่องของอาชีพ และเรื่องของการมีงานทำ และมีที่อยู่อาศัย ควบคู่ไปกับการรณรงค์ให้สังคมได้ตระหนักถึงความสำคัญของผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในภาวะที่โครงสร้างทางสังคมเปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนการส่งเสริมเรื่องของสถาบันครอบครัว การส่งเสริมเรื่องความสัมพันธ์ที่ดี ความเข้าใจระหว่างคนต่างวัย เป็นต้น นอกจากนี้ในอนาคต รัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการให้มีหน่วยงานระดับกรมเข้ามาดูแลในเรื่องของกิจการผู้สูงอายุทั้งหมด ซึ่งขณะนี้คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบในหลักการแล้ว และอยู่ในระหว่างที่จัดทำรายละเอียดกับทางคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ซึ่งคาดว่าจะสามารถนำเสนอกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาสภาได้ภายในปีนี้รวมถึงการเตรียมการสำหรับโครงสร้างของสังคมที่มีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ในการที่จะสร้างหลักประกันผ่านการมีระบบการออม ซึ่งขณะนี้ได้มีการเร่งรัดอย่างเต็มที่ โดยพระราชบัญญัติการออมแห่งชาติสามารถดำเนินการจนผ่านรัฐสภาแล้ว และคงจะมีผลบังคับใช้ในเร็วๆ นี้ ขณะเดียวกันได้มีการเปิดโอกาสให้ประชาชนซึ่งอยู่นอกระบบ หรือประกอบอาชีพอิสระ รวมทั้งเกษตรกร สามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคม เพื่อมีหลักประกันทางด้านรายได้ สำหรับค่าใช้จ่ายในวัยเกษียณอายุอีกด้วย

สำหรับในส่วนของการดูแลสูงอายุระยะยาวนั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุน ผลักดันทิศทางนโยบายด้านการดูแลผู้สูงอายุในระยะยาว โดยพัฒนารูปแบบของบริการให้มีความเหมาะสม ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้สมาชิกของครอบครัวช่วยกันดูแลผู้สูงอายุให้มากขึ้น รวมไปถึงการให้ชุมชนแลท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เพื่อที่จะให้การดำเนินการด้านนี้ครอบคลุมไปยังทุก ๆ พื้นที่ต่อไป

นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความหวังเนื่องในโอกาสวันผู้สูงอายุแห่งชาติปีนี้ว่า ผู้สูงอายุทุกคนจะได้รับความรัก ความเอื้ออาทร ความดูแลเอาใจใส่จากลูกหลาน และเครือญาติ สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันภายในครอบครัวอย่างมีความสุข อีกทั้งสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพและสวัสดิการสังคมอย่างทั่วถึง ได้รับโอกาสในการเข้าร่วมกิจกรรมสังคมต่างๆ สามารถพึ่งพาตนเองได้ยาวนานที่สุด และเป็นกำลังสำคัญในการร่วมพัฒนาสังคมไทยต่อไป





กำลังโหลดความคิดเห็น