xs
xsm
sm
md
lg

กกต.กางปฏิทินเปิดรับสมัคร ส.ส.บัญชี 9-13 ส.ส.เขต 16-21 พ.ค.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กกต.กางปฏิทินคาดประกาศรับสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ 9-13 พ.ค. ส.ส.เขต 16-21 พ.ค. หากนายกฯ ประกาศยุบสภาจริง 3 พ.ค. ขณะเดียวกัน เตรียมแบ่งเขตจังหวัดใหม่ บึงกาฬ มี ส.ส.2 คน หนองคายหดเหลือ ส.ส.แค่ 3 คน

วันนี้ (22 มี.ค.) นายบุณยเกียรติ รักชาติเจริญ รองเลขาธิการกกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวตอนหนึ่งระหว่างบรรยายในหัวข้อ “หลักเกณฑ์ ข้อปฏิบัติ และข้อห้ามในการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” ให้แก่สมาชิกรัฐสภาและผู้ช่วยผู้ปฏิบัติงานสมาชิกรัฐสภา ที่สถาบันพระปกเกล้าจัดอบรมขึ้น ถึงการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นว่า ขณะนี้ กกต.ได้เตรียมความพร้อมในการจัดการเลือกตั้งแล้ว และอยู่ระหว่างดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้ง ที่ระดับจังหวัดจะแล้วเสร็จและส่งให้ กกต.ได้ภายในสิ้นเดือนมี.ค.นี้ โดยขณะนี้บางจังหวัดก็ได้มีการประกาศรูปแบบของการแบ่งเขตให้ประชาชนในพื้นที่ได้แสดงความคิดเห็นแล้ว มีหลายจังหวัดที่มีการร้องเรียนเข้ามายัง กกต. แต่ไม่มากนัก คาดว่าคงไม่มีปัญหาอะไรเพราะส่วนใหญ่ก็จะยึดการแบ่งเขตตามปี 48 เว้นแต่พื้นที่ใดมีการเพิ่มลดของประชากรก็จะมีการเกลี่ยกันใหม่ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า กกต.น่าจะมีมติเกี่ยวกับการแบ่งเขตเสร็จสิ้นภายในต้นเดือนหรืออย่างช้าไม่เกินกลางเดือน เม.ย.

นอกจากนี้ ทราบมาว่า พ.ร.บ.จัดตั้งจังหวัดบึงกาฬจะมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 24 มี.ค.นี้ ซึ่งก็จะมีผลบังใช้ในวันถัดมา โดยกรมการปกครองจะต้องประกาศจำนวนประชากรในพื้นที่ จ.หนองคาย และจ.บึงกาฬ ว่ามีเท่าใด จากนั้น กกต.ก็จะดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้ง ซึ่งจากที่ได้คำนวณเบื้องต้น เมื่อ จ.บึงกาฬแยกออกมาจาก จ.หนองคาย ก็จะประกอบไปด้วย 8 อำเภอ คือ อ.บึงกาฬ อ.แซกา อ.โซ่พิสัย อ.บุ้งคล้า อ.บึงโขงหลง อ.ปากคาด อ.พรเจริญ อ.ศรีวิลัย โดยจะมี ส.ส.2 คน ส่วนหนองคายก็จะเหลือ ส.ส.3 คน

ส่วนที่มีข่าวว่านายกฯ เตรียมกำหนดวันยุบสภาในวันที่ 3 พ.ค. หากจริงตามนั้นตามปฏิทินการทำงานของ กกต.ที่ได้ตั้งไว้ น่าจะประกาศรับสมัครส.ส.แบบบัญชีรายชื่อในวันที่ 9-13 พ.ค. ซึ่งจะเป็นสัปดาห์แรกหลังจากมีพระราชกฤษฎีกายุบสภาและประกาศให้มีวันเลือกตั้ง จากนั้นก็จะประกาศรับสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต ในวันที่ 16 -21 พ.ค. โดยเบอร์ของผู้สมัครส.ส.ระบบเขต ก็จะเป็นเบอร์เดียวกับ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองส่งสมัคร แต่หากพรรคใดไม่ส่งสมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อแต่ส่งผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตเพียงอย่างเดียวก็จะได้เบอร์ลำดับต่อจากบัญชีรายชื่อ ซึ่งการดำเนินการนั้นเหมือนกับการเลือกตั้งทั่วไปในปี 48 คือเบอร์เดียวทั่วประเทศ ขณะที่การลงคะแนนเลือกตั้งนั้น หากเขตเลือกตั้งใดมีผู้สมัครเพียงคนเดียวไม่มีคู่แข่ง กฎหมายก็ยังคงกำหนดให้ผู้สมัครรายนั้นต้องได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตนั้น และต้องได้รับคะแนนเสียงมากกว่าจำนวนผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนนด้วย มิเช่นนั้น กกต.ก็ต้องเปิดรับสมัครและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่
กำลังโหลดความคิดเห็น