ปธ.คกก.สมัชชาปฏิรูปฯ สั่งเดินหน้าเพื่อขอฉันทามตินโยบายแก้ทุกข์ของชาติ ลั่นระเบียบสำนักนายกฯ อนุมัติให้มีวาระทำงาน 3 ปี ไม่เกี่ยวกับการพ้นหน้าที่ของรัฐบาล เตรียมจัดประชุมสุดยอดทางสังคม
วันนี้ (21 มี.ค.) ที่บ้านพิษณุโลก ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ในฐานะประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (สปร.) แถลงการจัดการประชุมสมัชชาปฎิรูประดับชาติ ครั้งที่ 1 ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 24-26 มีนาคมนี้ ที่ศูนย์การประชุมอิมแพค เมืองทองธานี โดยเป็นการประชุมสุดยอดทางสังคมซึ่งจะมีผู้แทนจากกลุ่มจำนวน 234 กลุ่ม 1,145 เครือข่าย มาประชุมเพื่อมีฉันทามติในนโยบายที่สำคัญในการแก้ทุกข์ของชาติ ซึ่งในการประชุมจะมีการเสนอร่างมติจำนวน 4 เรื่อง 8 ประเด็น คือ 1.การปฎิรูปการบริหารประเทศ จากการรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่นายกรัฐมนตรี ให้ชุมชนท้องถิ่นประมาณ 88,000 หน่วยงานจัดการตัวเอง กระทรวง ทบวง กรม ปรับบทบาทจากการเป็นผู้ทำ ไปเป็นผู้สนับสนุนชุมชนท้องถิ่น เพิ่มงบประมาณให้ท้องถิ่นจาก 26 เปอร์เซ็นต์ เป็น 35 เปอร์เซ็นต์ ชุมชนท้องถิ่นเป็นฐานของประเทศ ถ้าฐานของประเทศแข็งแรงจะรองรับสังคมทั้งหมดให้มั่นคง
ศ.นพ.ประเวศกล่าวต่อว่า เรื่องที่ 2 คือ ปฏิรูปการจัดการทรัพยากรเพื่อความเป็นธรรม ซึ่งมี 3 ประเด็น ได้แก่ ปฏิรูปการจัดสรรที่ดินให้เกษตรกรมีที่ทำกินมากที่สุด ปฏิรูปการจัดการทรัพยากรชายฝั่งให้สามารถอนุรักษ์และเป็นประโยชน์ต่อการทำมาหากินของประชาชน 12 ล้านคน และคืนความเป็นธรรมให้ประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมเรื่องที่ดิน, ปฏิรูปสังคมให้เป็นสังคมที่คนไทยไม่ทอดทิ้งกันโดยแบ่งออกเป็น 3 ประเด็น ได้แก่ ปฏิรูประบบประกันสังคม ให้ผู้ใช้แรงงาน 38 ล้านคนมีระบบประกันความมั่นคงของชีวิต สร้างระบบประกันคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ และนำเงินจากสลากกินแบ่งฯ ตั้งเป็นกองทุนเพื่อสวัสดิการแบบก้าวหน้าของผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาสประมาณปีละ 12,700 ล้านบาท
ศ.นพ.ประเวศกล่าวต่อว่า และเรื่องที่ 4 ปฏิรูปโดยใช้พลังศิลปะในการเยียวยา สร้างสรรค์ และพัฒนาสังคม ซึ่งกระทรวง ทบวง กรม สถาบันการศึกษา การสื่อสารทุกประเภท ตั้งสมัชชาศิลปะวัฒนธรรมประชาชนในทุกภูมิภาคเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน
ศ.นพ.ประเวศยืนยันด้วยว่า กระบวนการปฏิรูปประเทศจะทำงานเลยอายุรัฐบาลชุดปัจจุบันเนื่องจากออกเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าให้มีอายุทำงาน 3 ปี เพราะว่าถ้าคณะปฏิรูปฯ ตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะต้องหมดอายุไปพร้อมครม.แต่ถ้าเป็นระเบียบสำนักนายกฯ เมื่อรัฐบาลเปลี่ยนไป คณะปฏิรูปฯ ยังสามารถทำงานต่อเนื่องได้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลชุดใหม่สามารถแก้ระเบียบสำนักนายกฯ ได้ และถ้าหากเป็นอย่างนั้น คณะปฏิรูปฯ ก็จะทำงานต่อ เพราะเราทำงานปฏิรูปประเทศมาก่อนที่จะมีรัฐบาลชุดนี้