อภิปรายไม่ไว้วางใจวันที่ 3 ฝ่ายค้านประเดิมกล่าวหา “ศุภชัย โพธิ์สุ” รมช.เกษตรฯ ถือครองที่ดินสาธารณะมิชอบ 700 ไร่ เอื้อจัดสรรป้อนเสี่ย “พ”-“ม”-“จ” หากินเงินกองทุนสวนยาง เย้ยเรียนรู้จากรุ่นพี่เร็ว ด้าน ศุภชัย”ยันได้ที่ดินตามกม.อ้างฝ่ายการเมืองปั่นหัวชาวบ้านหวังดิสเครดิต
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่ออภิปรายญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี รวม 10 คน วันที่ 3 วันนี้ (17 มี.ค.) เริ่มด้วยการอภิปรายนายศุภชัย โพธิ์สุ รมช.เกษตรและสหกรณ์ จากนั้นจะเป็นการอภิปรายในส่วนการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง
นายพีระพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.พรรคเพื่อไทย อภิปรายไม่ไว้วางใจ นายศุภชัย โพธิ์สุ โดยกล่าวหาว่ามีการเข้าไปถือครองที่ดินสาธารณะโดยมิชอบจำนวน 700 ไร่ ในโครงการจัดสรรที่ดินป่าดงพะทาย อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม โดยชี้ให้เห็นถึงความไม่ชอบมาพากลที่มีความพยายามออก น.ส.3 ก. และการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวโดยการก่อสร้างถนนเพื่อประโยชน์ส่วนตัว ทั้งที่ ที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินจัดสรรให้แก่เกษตรกร พร้อกับยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวได้มีการร้องเรียนไปยังนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่นายศุภชัยกลับไม่ดำเนินการในเรื่องของการถือครองให้ถูกต้อง
นอกจากนี้ยังมีเรื่องการเรียกเก็บเงินกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง หรือเงินเซส เดิมพ.ร.บ.กองทุนสงเหคราะห์การทำสวนยางมีการกำหนดหลักเกณฑ์การจัดสรรเงินสงเคราะห์คือไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ใช้ในการทดลอง ค้นคว้าและวิจัย 10 เปอร์เซนต์เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารของสำนักงานกองทุน และ 85 เปอร์เซ็นต์เป็นค่าใช้จ่ายสงเคราะห์ในการปลูกยางแทน ซึ่งมีการจัดเก็บเรื่อย ๆมาจนปี 53 มีเงินอยู่กองทุน 4,800 กว่าล้านบาท และเมื่อราคายางขึ้นจึงมีการเปลี่ยนหลักเกณฑ์โดยการเพิ่มการเก็บเงินเข้ากองทุนมากยิ่งขึ้น แต่มีที่น่าสังเกต คือมีบทเฉพาะกาลให้จัดจัดเก็บเงินในอัตราเดิมสำหรับสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และสต็อกยางที่มีอยู่ ซึ่งถือว่าเป็นการเปิดช่องให้เกิดความไม่ชอบมาพากล โดยได้มีการประชุมคณะกรรมการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ซึ่งมีการถกเถียงกันและรมช.เกษตรฯก็บอกว่ามีการปรับปรุงหลักเกณฑ์คณะกรรมการตรวจสต็อคมีฝ่ายการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้อง 5 คน และบริษัทที่ได้รับก็เป็นพรรคพวกพวกของท่าน ซึ่งบางรายได้เงินสงเคราะห์ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการและภาคเอกชนขอให้ทบทวน ถือว่าเป็นการหาประโยชน์จากเงินเชสนี้ ซึ่งมีคนบอกว่ารัฐมนตรีอยู่ได้ไม่นานเรียนรู้จากรุ่นพี่เร็วมาก
ด้าน นายศุภชัย ชี้แจงว่ากระบวนการเก็บเงินสงเคราะห์ปลูกยาง เข้ากองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) สาเหตุที่ต้องมีการเพิ่มอัตราจัดเก็บสูงขึ้นจากเดิม จาก90 สตางค์ ถึง 1.40บาท เพราะการจัดเก็บในราคานี้ต่ำมาก จนสร้างปัญหาภาระในการบริหารกองทุน เพื่อทำการพัฒนาทางวิชาการให้กับเกษตรกรผู้ปลูกสวนยาง จึงได้มีการหารือกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องการปลูกยาง ให้มีการปรับเปลี่ยนอัตราการจัดเก็บใหม่เป็นแบบขั้นบันไดระหว่าง 90สตางค์ ถึง 5 บาทขึ้นไป
“การที่สกย.ได้ออกหลักเกณฑ์ขึ้นมาเพื่อลดภาระให้กับเอกชนจากการส่งเงินเซสในอัตราใหม่ในเบื้องต้นก็ไม่ได้ทำเพื่อเอื้อประโยชน์เอกชนโดยไม่มีหลักเกณฑ์อะไรเลย เพราะสกย.มีการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองจากข้าราชการกระทรวงเกษตร และกำหนดว่าถ้าใครทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าก่อนวันที่ 4 มิ.ย.2553 ให้สามารถนำหลักฐานการซื้อขายล่วงหน้ามาให้สกย. พิจารณาจัดเก็บเงินเข้ากองทุนในอัตราเก่าได้” นายศุภชัย กล่าว
สำหรับกรณีการถือครองที่ดินจ.นครพนม รมช.เกษตรฯ ชี้แจง ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการไปบุกรุกที่ดิน ต.พระทาย อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม ตามที่มีการกล่าวหาเพราะเป็นการถือครองที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1304 และประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58 ทวิ โดยได้เข้าซื้อสิทธิ์เข้าครอบครองในฐานะเกษตรกรตั้งแต่ปี2530เพื่อปลูกอ้อย และเป็นที่ดินรกร้างไม่เป็นเขตป่าสงวน และไม่เป็นที่สาธารณประโยชน์ตามหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการจัดสรรที่ดินแห่งชาติปี2518 ทั้งนี้ที่ดินดังกล่าวไม่สามารถซื้อขายได้หลังจากได้รับการจัดสรรจากคณะกรรมการฯชุดดังกล่าว
รมช.เกษตรฯ กล่าวว่า ปัญหามาเกิดขึ้นในปี 2547 ที่เริ่มทำยางพาราเพราะในระหว่างนั้นผลผลิตมูลค่ายางต่อกิโลกรัมสูงขึ้น จนทำให้ผู้ที่เคยถือครองที่ดินเดิม มีความต้องการที่จะได้สิทธิ์ครอบครองกลับคืนมา ที่ผ่านมาก็สามารถเข้าไปไกล่เกลี่ย กับชาวบ้าน แต่ปรากฏว่ามีอยู่ 5 รายที่ถูกนักการเมืองกลุ่มตรงข้ามอยู่เบื้องหลังมาใส่ร้ายป้ายสีทางการเมืองว่าตนเองเป็นคนบุกรุกที่ดินของชาวบ้านทั้งๆที่ การครอบครอบสิทธิในที่ดินที่ผ่านมามีการทำสัญญาถูกต้องมาโดยตลอด รวมทั้งมีการรุกล้ำที่ดินของตนเอง ทำให้พืชผลทางเกษตรเสียหาย จนมีการฟ้องร้องดำเนินคดี ซึ่งต่อมาชาวบ้านทั้ง5คนยอมรับว่าถูกกลุ่มการเมืองดังกล่าวหลอกก่อนที่จะมีการถอนฟ้องกันในเวลาต่อมา และเมื่อเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้ง ส.ส. และรัฐมนตรี ก็ได้แจ้งทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. ให้รับทราบด้วย
“เรื่องนี้ต้องให้ไปขึ้นศาลถ้าศาลบอกว่าให้ผมผิดก็พร้อมจะคืนที่ดิน และพร้อมจะออกจากการเมือง แต่อย่างไรก็ตาม สำนักงานที่ดินจ.นครพนมยืนยันแล้วว่าไม่ได้เป็นการบุกรุกและพื้นที่ดังกล่าวที่ผมได้ครอบครองมาแล้ว 33 ปีโดยใช้สิทธิ์ความเป็นคนไทย” นายศุภชัย กล่าว
ส่วนกรณีที่ระบุว่ามีการสร้างถนนลาดยางเข้าไปในพื้นที่ตัวเองนั้นว่า ไม่เป็นความจริง เพราะการทำถนนลาดยาง ได้ทำในพื้นที่ตำบลอื่นๆที่อยู่ใกล้ริมแม่น้ำโขงด้วย ตามแผนยุทธศาสตร์ ความมั่นคงตามพื้นที่ชายแดน ของกระทรวงกลาโหม ในสมัยรัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกัฐมนตรี ซึ่ง จ.นครพนม มีทางหลวง700กิโลเมตร ที่ยังไม่มีถนนลาดยาง และถ้ามีอำนาจตนก็อยากให้มีการนำงบประมาณมาทำถนนลาดยาง ถึงจะถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือถูกถอดถอดจากรัฐมนตรีวันนี้ พรุ่งนี้ก็ยอม