“อภิสิทธิ์” รับเหนื่อยหน่อยทำเลือกตั้งให้สงบ ยันอยู่คุย กกต.เกิน 1 ชั่วโมงได้ ลั่นไม่ประมาทปัจจัยเสี่ยงไม่ให้มีเลือกตั้ง อ้างมีพวกก่อความวุ่นวายอยู่ โต้ “สดศรี” บอกไปคุยเลือกตั้งไม่ได้ไปร้องเรียน
วันนี้ (10 มี.ค.) ที่รัฐสภา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการสร้างบรรยากาศการเลือกตั้งที่ทำให้เกิดความเป็นธรรมและสงบ ว่า ตนคิดว่าทำได้ แต่ทุกฝ่ายต้องเหนื่อยหน่อย รวมถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งในวันศุกร์ (11 มี.ค.) จะเข้าไปพูดคุยกัน ถ้าเวลาไม่พอตนก็อยู่ต่อและคุยได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกรัฐมนตรี มองว่า ประเทศอยู่ในความเสี่ยง และอาจจะไม่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เราไม่ประมาท แต่มั่นใจว่า บ้านเมืองเดินมาอย่างนี้ จะเดินต่อตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญ เพียงแต่ว่าเราประมาทไม่ได้ เพราะมีคนบางกลุ่ม ซึ่งเขาก็พยายามที่จะก่อตัวสร้างความวุ่นวายได้ และอย่าลืมปัญหาหนักๆ ที่ผ่านมา มันไม่ต้องใช้คนเยอะในการสร้างปัญหา เป็นคนกลุ่มน้อย อย่างเช่น การชุมนุมของเสื้อแดง คนส่วนใหญ่ที่มาชุมนุมไม่ได้สร้างปัญหา แต่ว่าคนส่วนน้อยอาศัยมวลชนเหล่านี้ สร้างความวุ่นวายเพื่อประโยชน์ของตนเอง
เมื่อถามว่า ปัจจัยเสี่ยงจะอยู่ตรงไหนระหว่างการเคลื่อนไหวนอกสภา หรือการเคลื่อนไหวของพรรคการเมือง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เราก็ทราบกันดีอยู่แล้ว เพราะการอภิปรายเมื่อปีที่แล้ว ตอนอภิปรายมีการเอาข้อเท็จจริงมากางชัดเจน ซึ่งเขาเองก็ยอมรับ ว่าเขามีพรรคการเมือง มีมวลชน และมีกองกำลัง ซึ่งลักษณะการเมืองที่เดินขนาน 3 ฝ่าย ตรงนี้เป็นอันตรายอย่างมาก ตรงนี้รัฐบาลต้องยืนยันไม่ยอมให้เกิดขึ้น
เมื่อถามว่า กกต.ควรที่จะเข้ามาเพื่อสร้างความสงบเป็นธรรมในการเลือกตั้งอย่างไรบ้าง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คิดว่า กกต.สามารถที่จะวางแนวทางให้ชัดเจน ว่า ขอบเขตของการทำงานของพรรคการเมือง นักการเมือง และพฤติกรรมอะไรที่ถือว่าเป็นการขัดต่อกระบวนการการเลือกตั้งตามวิถีทางประชาธิปไตย ควรกำหนดให้ชัด แต่ต้องดูอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ในกฎหมาย
เมื่อถามว่า นางสดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง อ้างถ้ามีการพูดคุยเรื่องการเข้าไปป่วน เรื่องการขัดขวางต้องยื่นเรื่องอย่างเป็นทางการ นายอภิสิทธิ์ กล่าว่า สิ่งที่เราจะไปพูดคุย ไม่ใช่เรื่องของการไปร้องเรียนเฉพาะเรื่อง แต่ต้องการให้เห็นภาพรวม และถ้า กกต.จะแนะนำพรรคการเมืองต่างๆ ที่เห็นว่า บรรยากาศหรือการเลือกตั้งจะไม่เรียบร้อยจะให้เราทำอย่างไร เราก็ยินดีที่จะให้ความร่วมมืออยู่แล้ว แต่เบื้องต้นต้องมีแนวคิดที่ปรากฏชัดเจนเสียก่อน ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต.