ต้นปี 2542 ประเทศไทย ยังอยู่ในอาการ “ เมาค้าง” ยังไม่สร่างจากพิษ วิกฤติต้มยำกุ้งที่ดำเนินมาเกือบ2 ปีแล้ว คนไทยจำนวนมาก ยังถวิลหาคืนวันเก่าๆ ก่อนเดือนกรกฎาคม 2540 ที่ฟองสบู่ยังฟูฟ่อง เงินทองเป็นของหาง่าย มีอยู่ทั่วไป ราวกับของฟรี แต่รอแล้วรอเล่า ความฝันก็ไม่เป็นจริงสักที ท่ามกลางซากปรักหักพังทางเศรษฐกิจ ที่มีอีแร้ง นักลงทุนต่างชาติ เข้ามารุมทั้งทรัพยสินดีๆ ไปในราคาถูกๆ ตามแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ภายใต้การชี้นิ้วของไอเอ็มเอฟ สังคมไทยบังเกิดอาการเบื่อหน่ายเต็มที่ กับ รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะความเป็นคนเจ้าหลักการ ทำอะไรเชื่องช้า ไม่ทันการ ไม่กล้าตัดสินใจ
วงดนตรีเพื่อชีวิต “ คาราวาน” ในเวลานั้น แต่งเพลง” หลีกภัย” สะท้อนอารมณ์ของสังคมที่มีต่อนายชวน หลีกภัย ในลีลาแบบหยิกแกมหยอก
“..... เป็นลูกแม่ถ้วน ชื่อนายชวน หลีกภัย
คนตรังเมืองใต้ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี.....
เป็นคนดี มือสะอาด แต่แล้วก็ต้องพลาด กลายเป็นเหยื่อให้เขาเถือกิน......”
แต่มาถึงวันนี้ ที่ห่างจากวันนั้นแค่ 10 ปีเศษ ถ้านึกถึงนายกรัฐมนตรีของไทยในอดีต ที่ยังมีชีวิตอยู่ หลายๆคน นายชวน เป็นนายกฯคนหนึ่งที่คนไทยส่วนใหญ่รู้สึกว่า เคารพ นับถือได้อย่างสนิทใจ เป็นนายกฯที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่เคลือบแคลง สงสัยในความเป็นคนดี ซื่อสัตย์ สุจริตคนหนึ่ง
นี่แหละคือ สิ่งที่แม่ถ้วน หลีกภัย สร้างเอาไว้ให้กับแผ่นดินเกิด และสิ่งที่ทำให้แม่ถ้วน หลีกภัย เป็นที่รุ้จักของคนไทยทั้งประเทศ ก็เพราะว่า มีลูกที่ชื่อว่า ชวน หลีกภัย
“เมื่อก่อน เวลาผมไปพบประชาชน ผมเรียกตัวเองว่าชวน ลูกแม่ถ้วน ต้องอาศัยบอกว่าเป็นลูกใคร บ้านนอกไม่เหมือนกรุงเทพฯ คนที่เขาไม่รู้จักจะถามว่าลูกใคร เมื่อก่อนนี้ผมเข้าไปในหมู่บ้าน ตำบล มีคนรู้จักว่าพ่อเป็นครู แม่ขายของตามตลาดนัดในหมู่บ้าน ผมลูกแม่ถ้วนมาขายของตลาดนี้ คนก็ร้องอ๋อตามๆ กัน คำนี้ติดกันมาก สื่อมวลชนก็เรียก ชวนลูกแม่ถ้วนเป็นคำที่คล้องจองกันด้วย”
นายชวน เมื่อครั้งเป็นนายกรัฐมนตรี รอบที่ 2 กล่าวไว้ตอนหนึ่ง ในการให้สัมภาษณ์กับนิตยสารสกุลไทย ฉบับที่ 2412 ปีที่ 47 ประจำวันอังคาร ที่ 9 มกราคม 2544
แม่ถ้วน เป็นคนไทยเชื้อสายจีนฮกเกี้ยน เกิดที่จังหวัดตรัง เมื่อ พ.ศ. 2458 ตอนเด็กๆไม่ได้เรียนหนังสือ เนื่องจากต้องช่วยพ่อแม่ทำมาหากินตลอด เช่น ทำกระเบื้องปูหลังคา, สวนยาง, ค้าขายต่างๆ จนกระทั่งแต่งงานกับครูหนุ่มในหมู่บ้านคือ ครูนิยม หลีกภัย มีบุตรด้วยกัน 9 คน เป็นชาย 6 คน หญิง 3 คน นายชวน เป็นลูกคนที่ 3
นายชวน เล่นการเมืองครั้งแรก โดยลงสมัครรับเลือกตั้ง เป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดตรัง เมื่อ พ.ศ. 2512 ถึงแม้ว่า พ่ออยากจะให้เป็น ผู้พิพากษา เพราะนายชวน จบกฎหมายจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และประกบออาชีพทนายความอยุ่แล้ว แต่เจ้าตัวก็ตัดสินใจเป็นนักการเมือง
ในการสมัคร ส.ส. ครั้งแรก มีอุปสรรคมากมาย เริ่มตั้งแต่เมื่อขอสมัครในนามของพรรคประชาธิปัตย์ พรรคฯ ส่งคนไปสืบประวัติที่จังหวัดตรังแล้วสรุปว่าไม่มีคนรู้จัก พรรคฯ จึงตัดสินใจไม่รับ แล้วส่งผู้สมัครอีก 2 คนที่เป็นที่รู้จักของประชาชนมากกว่า
อย่างไรก็ตามผู้สมัครคนหนึ่ง คือครูบุญเหลือ สินไชย เมื่อทราบว่าพรรคฯ ไม่ช่วยเหลือเรื่องการเงินเลยถอนตัวไป ทำให้มีที่ว่างผู้สมัครของพรรรคฯ อยู่ 1 ที่ พรรคฯ จึงอนุญาตให้นายชวน สมัครในนามของพรรคประชาธิปัตย์ได้ ผู้ใหญ่ที่ช่วยนายชวนบอกว่า ส่งไปก็คงไม่ได้ แต่เป็นคนหนุ่มมีความรู้ เผื่อไว้ในอนาคต
“ แม่รับจะช่วยหาเสียงให้ แม่มีเพื่อนเป็นแม่ค้าด้วยกัน และท่านรู้จักคนกว้างขวาง ท่านช่วยผมได้มากทีเดียว" นายชวนเขียนเล่าไว้ในเว็บไซต์ “สายตรงนายชวน”(www.chuan.org)
การหาเสียงในสมัยนั้นไม่ค่อยมีใครสนใจ แต่แม่ถ้วนคือหัวคะแนนใหญ่ มีส่วนช่วยหาเสียงอย่างมาก โดยจะติดโปสเตอร์ของนายชวนไว้ที่เข่งขายของ และจะแนะนำให้ลูกค้าและผู้ที่ผ่านไปมารู้จัก นายชวนยังได้ไปปราศรัยในตลาดนัดที่แม่ถ้วนขายของ แม่ค้าทั้งหลายที่เป็นเพื่อนแม่ถ้วนก็ช่วยนายชวนด้วย ความเป็นลูกแม่ค้านี่เอง ต่อมาก็มีผลไปถึงจังหวัดอื่นๆ ประชาชนจังหวัดอื่นๆ เวลาพบนายชวนฯ มักจะบอกว่านายชวนเป็นลูกแม่ค้าเหมือนกัน
ในที่สุด นายชวน ได้รับเลือกตั้งให้เป็นผู้แทนราษฎร โดยได้คะแนนเป็นที่ 1 ของจังหวัด ได้คะแนนห่างจากคนที่ได้ที่ 2 ร่วมหมื่นคะแนน และเข้าสู่สภาหินอ่อนฐานะเป็นฝ่ายค้าน ในรัฐบาลของจอมพลถนอม กิตติขจร แม้จะเป็น ส.ส. หน้าใหม่ อ่อนวัย แต่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่น ความคิด และความตั้งใจที่แน่วแน่ ในการเลือกตั้งทุกครั้ง นายชวนก็ได้เป็นผู้แทนราษฎรและครองอันดับที่ 1 มาโดยตลอด 11 สมัย
แม้นายชวน จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่แม่ถ้วนก็ยังคงดำรงชีวิตเหมือนเดิม คือ เป็นแม่ค้าขายแกงพุงปลาในตลาดสด แต่ก็ได้เลิกในเวลาต่อมา เนื่องจากอายุมากขึ้น ร่างกายไม่ค่อยแข็งแรง ลูก ๆ หลานๆ ต้องการให้พักผ่อนอยู่กับบ้านในจังหวัด
“ ผมยังนึกไม่ออกว่า เราทำงานหนักอย่างแม่ได้อย่างไร เห็นมาด้วยตัวเองตลอดชีวิตว่า แม่ตื่นนอนแต่เช้ามืดทุกวัน นอนดึกตื่นเช้า ทำงานหนักปีแล้วปีเล่า เวลามีความรู้สึกที่ต้องรับผิดชอบ เช่นเวลาไปเรียนหนังสือ คิดจะทำอะไรผมก็นึกถึงภาพแม่แต่ตื่นแต่เช้ามืด แม่แบกของ ลูกมีอะไรในใจก็จะบอกเล่าแม่มากกว่าพ่อ ส่วนพ่อเป็นแบบครู เป็นนักวางแผนชีวิตอนาคตให้เรา แต่ผมก็ทำให้พ่อผิดหวังที่ไม่ได้เป็นผู้พิพากษา แต่หันเหชีวิตมาเป็นนักการเมือง”
“แม่ไม่เคยชินกับการให้ของขวัญกัน ส่วนใหญ่แม่ลูกใช้วิธีการจับมือ แม่ชอบผ้าโสร่งปาเต๊ะ ผมให้แม่เป็นชิ้นแรกเมื่อไปอินโดนีเซีย แม่ชอบโสร่งปาเต๊ะชวา เมื่อตอนผมเป็นรัฐมนตรีไปอินโดนีเซียผมก็หาโสร่งปาเต๊ะชวา พวกเราไม่ค่อยมีคำพูดอะไรที่หวานๆ ให้กัน อย่างดีก็ถามว่าแม่สบายไหม จะบอกว่ารักมาก รักน้อยไม่มีครับ แม่ไม่มีเวลามานั่งฟังเรื่องเหล่านี้”
“ผมชื่อเอียด เป็นภาษาปักษ์ใต้ ใครรูปร่างตัวเล็กจะพูดว่าทำไมตัวเอียด เวลาพูดกับแม่หรือแม่เรียกผม ก็เรียกเอียด ผมเคยพูดไม่เพราะ ถูกแม่ต่อว่าต่อขาน ความเป็นลูกครูพูดอะไรแรงไม่ได้ จะพูดกับใครก็ใช้คำว่าผม พูดกับผู้ใหญ่ คนขับรถก็เรียกตัวเองว่าผมโดยตลอด”
( จากนิตยสารสกุลไทย ฉบับเดียวกัน)
แม่ถ้วน อายุยืนถึง 99 ปี ยามจะจากไป ก็ไปอย่างสงบ อาบน้ำ เข้านอน หลับไปแล้วไม่ตื่น ถือว่า เป็นคนมีบุญ เพราะบุญที่สร้างไว้