ทหารเรือฝึกความพร้อมกำลังพลให้เป็นหนึ่งเดียว ใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ให้เกิดความคุ้นเคย ไว้รองรับสถานการณ์อันจะเกิดได้ในปัจจุบัน เตรียมขนเรือหลวง ปืนใหญ่ เครื่องบิน ยิงจริง 4-8 เม.ย.นี้ เผยเขี้ยวเล็บใหม่อาวุธนำวิถี IGLA-S และอาวุธนำวิถีแบบประทับบ่ายิง QW-18
เมื่อวันที่ 23 ก.พ.2554 พล.ร.อ. กำธร พุ่มหิรัญ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธาน ในพิธีเปิดการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2554 ที่สนามหน้ากองบัญชาการหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน ค่ายกรมหลวงชุมพร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นการฝึกที่กองทัพเรือได้จัดให้มีขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยได้บูรณาการการฝึกของหน่วยต่างๆ ในกองทัพเรือเข้าไว้ด้วยกัน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การประสานงานการปฏิบัติด้านการฝึกให้เป็นหนึ่งเดียว ด้วยการนำสาขาการปฏิบัติการต่างๆ ในส่วนของกำลังรบ และการปฏิบัติการสนับสนุนของกรมในส่วนบัญชาการ รวมทั้งส่วนยุทธบริการ และส่วนการศึกษา ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน มาทำการฝึกภายใต้สถานการณ์ฝึกห้วงเวลาเดียวกันและใช้ทรัพยากรร่วมกัน โดยเน้นไปที่การทดสอบ แผนเผชิญเหตุที่ กองทัพเรือได้อนุมัติไว้แล้ว ทดสอบขีดความสามารถของหน่วยต่างๆ ที่จัดกำลังไว้รองรับสถานการณ์อันจะเกิดได้ในปัจจุบัน หรือการปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุได้ รวมไปถึงการทดสอบระบบการควบคุมระบบการบังคับบัญชาของกองทัพเรือ การสั่งการ อำนวยการด้านการส่งกำลังบำรุงตามสถานการณ์ในการฝึก โดยใช้ข้อมูลและทรัพยากรที่มีอยู่จริงของหน่วย ทั้งนี้ ได้มุ่งเน้นให้ผู้เข้าร่วมการฝึกทุกคนได้ “ฝึกให้เหมือนจริงและปฏิบัติให้เหมือนฝึก” เพื่อให้เกิดความคุ้นเคย ทั้ง การควบคุมบังคับบัญชา ระบบสื่อสาร การใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ และเทคโนโลยีต่างๆ ได้เป็นอย่างดี เพื่อสร้างความมั่นใจ และมีความพร้อมในการเผชิญ กับเหตุการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้
สำหรับการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2554 กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 29 เมษายน 2554 แบ่งการฝึกออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนของการฝึกปัญหาที่บังคับการ ทำการฝึกระหว่างวันที่ 1 ถึงวันที่ 18 มีนาคม 2554 และ ส่วนของการฝึกภาคสนาม/ทะเล ทำการฝึกระหว่างวันที่ 21 ถึงวันที่ 28 เมษายน 2554 โดยจะทำการฝึกภาคสนามในระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 8 เมษายน 2554 ในส่วนการฝึกภาคสนาม/ทะเล นั้นมีหัวข้อการฝึกที่สำคัญ คือ การฝึกต่อต้านการก่อการร้ายบริเวณแท่นผลิตก๊าซธรรมชาติ ใช้พื้นที่ฝึกบริเวณแท่นขุดเจาะก๊าซธรรมชาติของบริษัท ปตท.สผ.จำกัด บริเวณอ่าวไทยตอนล่าง จัดกำลังที่เข้าร่วมฝึก ประกอบด้วย เรือหลวงกันตัง เรือ ต.11 เครื่องบินลำเลียง แบบ F-27 MK-400 (ฟอกเกอร์) เครื่องบินลาดตระเวน ทางทะเลแบบ DO-228 (ดอร์เนีย) เฮลิคอปเตอร์ลำเลียงแบบ S-76 B ชุดปฏิบัติการพิเศษจาก หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ ชุดถอดทำลายอมภัณฑ์ ชุดปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ และชุดปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉิน การฝึกยุทธวิธีทางบก ใช้พื้นที่ฝึกบริเวณสนามฝึกยิงอาวุธกองทัพเรือ บ้านจันทเขลม และ บ้านพังงอน กิ่งอำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี จัดกำลังที่เข้าร่วมการฝึกจาก กรมทหารราบที่ 1 กองพลนาวิกโยธิน
ส่วนการฝึกสาขาปฏิบัติการทางเรือ มีหัวข้อการฝึกที่สำคัญ คือ การฝึกการควบคุมทะเล การรักษาเส้นทางคมนาคมทางทะเล การปฏิบัติการร่วมระหว่างหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่งกับกำลัง ทางเรือ การปฏิบัติการตามลำน้ำ การปฏิบัติการยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบก การฝึกป้องกันพื้นที่ของทัพเรือภาค การฝึกยิงอาวุธปล่อยนำวิถี และการฝึกยิงปืนรักษาฝั่ง ขนาด 155 มิลลิเมตร ใช้พื้นที่ฝึกทั้งในอ่าวไทยและทะเลอันดามัน โดยมีกำลังที่เข้าร่วมการฝึก เช่น เรือฟริเกต ชุดเรือหลวงพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และชุดเรือหลวงตาปี เรือหลวงรัตนโกสินทร์ เรือหลวงสุโขทัย เรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง ชุด เรือหลวงนราธิวาส เรือยกพลขึ้นบก ชุด เรือหลวงสีชัง เรือล่าทำลายทุ่นระเบิด ชุด เรือหลวงบางระจัน เรือเร็วโจมตีติดอาวุธปล่อยนำวิถีชุด เรือหลวงราชฤทธิ์ และชุดเรือหลวงปราบปรปักษ์ เรือตรวจการณ์ปืน ชุด เรือหลวงสัตหีบ เรือเร็วโจมตีปืน ชุดเรือหลวงชลบุรี เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ชุด เรือ ต.991 และชุดเรือ ต.91 เรือตรวจการณ์ชายฝั่ง ปืนใหญ่รักษาฝั่ง ขนาด 155 มิลลิเมตร ปืนต่อสู้อากาศยานขนาด 37 มิลลิเมตร เครื่องบินลำเลียง แบบ F-27 MK-400 (ฟอกเกอร์) เครื่องบินลาดตระเวนทางทะเลแบบ DO - 228 (ดอร์เนีย) เครื่องบินลาดตระเวนปราบเรือดำน้ำ แบบ P - 3 เฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ แบบ S-70 B (ซีฮอว์ก) เฮลิคอปเตอร์ตรวจการณ์ต่อต้านเรือผิวน้ำ/ปราบเรือดำน้ำ แบบ SUPER LYNX 300 พร้อมกำลังพลจากหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง และหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ
ด้าน พล.ร.ต.ธราธร ขจิตสุวรรณ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง และ พล.ท.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ผู้บัญชาการป้องกันภัยทางอากาศ กองทัพบก ก็ได้มาร่วมสังเกตการณ์ในการทดสอบยิงอาวุธต่อสู้อากาศยาน ของหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง ร่วมกับกองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน หน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศ กองทัพบกโดยมี พล.อ.ยุทธศิลป์ โดยชื่นงาม ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก เป็นหัวหน้าคณะในการสังเกตการณ์ฝึก ที่สนามฝึกยิงอาวุธหาดยาวทุ่งโปรง อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ทั้งนี้ในการทดสอบอาวุธครั้งนี้เพื่อตรวจสอบความพร้อมของกำลังพล อาวุธยุทโธปกรณ์ให้มีความพร้อมในการปกป้องอธิปไตยของชาติ
สำหรับอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทำการทดสอบจัดจากกองพันต่อสู้อากาศยานที่ 23 กรมต่อสู้อากาศยานที่ 2 หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง กองทัพเรือ ซึ่งมีอาวุธยุทโธปกรณ์ประกอบไปด้วย ปืนต่อสู้อากาศยาน 40 มิลลิเมตร แอล 70 จำนวน 4 กระบอก พร้อมเครื่องควบคุมการยิงฟลายแคทเชอร์ 2 ระบบ ปืนต่อสู้อากาศยาน 40/60 มิลลิเมตร จำนวน 3 กระบอก และอาวุธปล่อยวิถีแบบประทับบ่ายิง QW-18 จำนวน 1 ชุดยิง หรือ 2 ท่อยิง ในส่วนกำลังของกองทัพบกที่ร่วมทดสอบจัดจากกองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน ที่ 5 กรมทหารต่อสู้อากาศยานที่ 1 กองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน หน่วย บัญชาการป้องกันภัยทางอากาศ กองทัพบก ซึ่งมีอาวุธยุทโธปกรณ์ประกอบด้วย ปืนต่อสู้อากาศยาน 40 มิลลิเมตร แอล 70 จำนวน 4 กระบอก พร้อมเครื่องควบคุมยิงฟลายแคทเชอร์ 2 ระบบ อาวุธ นำวิถี IGLS-S จำนวน 2 ลูก และอาวุธนำวิถี NH-5A (M) จำนวน 2 ลูก ในการทดสอบยิงอาวุธยุทโธปกรณ์ครั้งนี้ ทั้งสองกองทัพมีเขี้ยวเล็บใหม่มาทำการทดสอบด้วยคือ อาวุธนำวิถี IGLA-S ของกองทัพบกและอาวุธนำวิถีแบบประทับบ่ายิง QW-18 ของกองทัพเรือ
อย่าง ไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตว่า พื้นที่การฝึกจะอยู่ในพื้นที่จันทบุรี ตราด ซึ่งเป็นพื้นที่ชายแดนทางบกและทางทะเลที่ติดกับบริเวณชายแดนไทยกัมพูชาด้วยเช่นกัน