xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” จ่อฟุ้งผลงานรอบ 1 ปีต่อสภาฯ พฤหัสฯ นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
“รัฐบาลอภิสิทธิ์” นัดโชว์ผลงานตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ต่อที่ประชุมสภาฯ ทั้งที่ไม่เป็นรูปธรรม ด้านสภาผู้แทนราษฎร เตรียมพิจารณา ผลงาน รบ.ปีแรก พฤหัสฯ นี้

วันนี้ (22 ก.พ.) ที่รัฐสภา นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้นัดส.ส.ประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 23-24 กุมภาพันธ์ เริ่มเวลา 09.00 น. มีวาระการประชุมที่น่าสนใจวันที่ 24 กุมภาพันธ์ คือ การพิจารณารายงานแสดงผลการดำเนินการของครม.ตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ปีที่ 1 (วันที่ 30 ธันวาคม 2551 ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2552) ซึ่งจะเริ่มพิจารณาเวลาประมาณ 11.00 น. ภายหลังจากที่ประชุมพิจารณากระทู้ถามสดเสร็จสิ้น

สำหรับรายงานแสดงผลการดำเนินการของ ครม.ตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ปีที่ 1 สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้ ภาพรวมผลการดำเนินการ รัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศในช่วงเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะวิกฤตที่มีความรุนแรงมากที่สุดในรอบศตวรรษ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกชะลอตัวอย่างรุนแรงจากร้อยละ 5.2 ในปี 2550 เป็นร้อยละ 2.8 ในปี 2551 ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย และยังต้องเผชิญกับกระแสความขัดแย้งทางการเมืองไทยอย่างรุนแรง เพราะฉะนั้น ต้องฟื้นฟูความเชื่อมั่นในสายตาชาวโลกต่อพื้นฐานความเข้มแข็งของสังคมและเศรษฐกิจผ่านการดำเนินนโยบายเร่งด่วนและนโยบายพัฒนาที่สอดคล้องกับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 จำนวน 9 นโยบาย และจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2552 จำนวน 116,700 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะเร่งด่วนของรัฐบาล และเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2552 จำนวน 1.835ล้านล้านบาทและอนุมัติ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 จำนวน 199,960.60 ล้านบาท ซึ่งเป็นแรงผลักดันในการเร่งรัดโครงการลงทุนขนาดใหญ่ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 วงเงินกว่า 1.43 ล้านล้านบาท

สำหรับผลการดำเนินงานที่สำคัญของรัฐบาล 9 ข้อ ได้แก่

1.นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล แบ่งเป็น 1.1 การแก้ไขและบรรเทาผลกระทบเศรษฐกิจที่มีต่อประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย 9 กลุ่ม ได้แก่ เกษตรกร แรงงานนอกภาคเกษตร เด็กและผู้ปกครอง ประชาชนผู้มีรายได้น้อย ผู้สูงอายุ ภาคธุรกิจเอกชน ภาคท่องเที่ยว นักลงทุนต่างประเทศ และผู้มีรายได้ประจำ เช่น กองทุนเศรษฐกิจพอเพียง มีผู้ได้รับประโยชน์ 21,716 หมู่บ้าน เบิกจ่ายจำนวน 5,367.630 ล้านบาท เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ผู้ได้รับเบี้ยปี 52 จำนวน 5.44 ล้านคน เป็นเงิน 21,963 ล้านบาท โครงการส่งเสริมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน 976,343 คน เป็นเงิน 3,514.83 ล้านบาท การประกันรายได้เกษตรกรข้าวนาปี มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 3.95 ล้านราย ซึ่งสูงกว่าโครงการรับจำนำที่มีเกษตรกรเข้าร่วมเพียง 0.91 ล้านราย การนำที่ราชพัสดุ 1 ล้านไร่เพื่อให้เกษตรกรเช่าทำการเกษตร ดำเนินการแล้วปี 52 จำนวน 114,376 ไร่ จำนวนเกษตรกร 6,894 ราย โครงการเรียนฟรี 15 ปี มีนักเรียนได้ประโยชน์ 12,474,611 คน โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 62,362,506 คน โครงการเช็คช่วยชาติ เป็นเงิน 17,903 ล้านบาท โครงการ 5 มาตรการ 6 เดือน ผู้ได้รับประโยชน์ครอบคลุมทั่วประเทศ โครงการต้นกล้าอาชีพ 319,658 คน การช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) 5,034,106 ราย วงเงิน 1.168 ล้านบาท

การสร้างความสมานฉันท์ในสังคมไทย ผ่านโครงการประชาสัมพันธ์เสริมสร้างความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ของประเทศไทย เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกรักชาติ และการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง

1.2 การวางรากฐานการพัฒนาในอนาคต โดยเร่งรัดโครงการลงมุนขนาดใหญ่ภายใต้แผนไทยเข้มแข็ง 2555 วงเงินลงทุน 1.43 ล้านล้านบาท เช่น การจัดหาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 20,232 ล้านบาท การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ชลประทาน 17,224 ล้านบาท รถไฟฟ้าสายสีม่วง บางใหญ่-บางซื่อ 785 ล้านบาท และยังมีการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน การจัดตั้งสภาเกษตรกรแห่งชาติการจัดทำมาตรการรองรับการเปิดตลาดสินค้าเกษตรภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน

2.นโยบายด้านความมั่นคงของรัฐ ได้แก่ การปกป้องสถาบันและเผยแพร่ขยายผลแนวพระราชดำริ โดยจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังการกระทำที่เป็นอันตรายต่อสถาบัน 75 จังหวัด และบังคับใช้กฎหมายกรณีที่มีการละเมิดสถาบันอย่างจริงจัง การเสริมสร้างสันติภาพของการอยู่ร่วมกันกับประเทศเพื่อนบ้าน

3.การบริหารราชการแผ่นดิน ให้ความสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารและการกระจายอำนาจ โดยจัดสรรเงินอุดหนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปีงบ 53 จำนวน 177,941 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบ 52 ร้อยละ 9.12 นอกจากนี้ การแก้ปัญหาการทุจริต นายกรัฐมนตรียังวางแนวทางการทำงานของครม.ไว้ 9 ข้อ มีการตรวจสอบโครงการสำคัญ อาทิ ทุจริตโครงการชุมชนพอเพียง การเร่งรัดตรวนสอบปัญหาทุจรติภาครัฐ 1,820 เรื่อง

4.นโยบายด้านศาสนา สังคม สาธารณสุข การศึกษา และวัฒนธรรม อาทิ การพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน การพัฒนาประสิทธิภาพการคุ้มครองและสวัสดิการแรงงานทั้งระบบ การส่งเสริมอาชีพจำนวน 3,769,062 คน การสร้างหลักประกันความมั่นคงในการทำงานให้ผู้ประกันตน 9.27 ล้านคน

5.นโยบายด้านกฎหมายและการยุติธรรม มีการจัดตั้งสำนักงานบังคับคดีอาญา การป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โครงการคืนคนดีสู่สังคม

6.นโยบายด้านการต่างประเทศ คือการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อสร้างความแข็งแกร่งของอาเซียน การพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น การสำรวจจัดทำหลักเขตแดนไทย-ลาว ไทย-กัมพูชา ไทย-พม่า การสร้างโอกาสทางการค้าให้กับประเทศไทยในกรอบการค้าใหม่ๆ

7.นโยบายด้านเศรษฐกิจ โดยเร่งการปรับโครงสร้างและสร้างสรรค์เศรษฐกิจไทยให้สามารถพึ่งตนเองได้อย่างสมดุล เป็นธรรมและยั่งยืน เร่งรัดการจัดเก็บภาษี รักษาระดับเงินเฟ้อในระดับที่เหมาะสม การจัดหาแหล่งทุนเพิ่มเติมโดยคำนึงกรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดสัดส่วนภาระหนี้ต่องบประมาณไม่สูงกว่าร้อยละ 15 มีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไม่เกินร้อยละ 60 แบ่งเป็น ด้านการเกษตร เน้นปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ด้านอุตสาหกรรม เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพ การพัฒนาทักษะของภาคอุตสาหกรรม การจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ด้านการท่องเที่ยวและบริการ เน้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อกระตุ้นการ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน คือการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ ระบบขนส่ง ด้านพลังงานได้แก่การตรึงราคาก๊าซหุงต้ม ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศคือการสร้างโครงข่ายระบบ 3 จี

8.นโยบายด้านที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่นการแก้ปัญหาที่ดินเสื่อมสภาพ การกระจายการถือครองที่ดิน 196,725 ราย พื้นที่ 2.04 ล้านไร่ โดยมอบเอกสารสิทธิ สปก. 4-01 การจัดหาแหล่งน้ำเพื่อพื้นที่ชลประทานได้มากกว่า 345,000 ไร่

9.นโยบายด้านวิทยาศาสตร์ ทรัพย์สินทางปัญญา และพลังงาน โดยส่งเสริมการวิจัย เร่งรัดผลิตบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ 10.นโยบายด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยการจัดทำเวบไซต์รับฟังความคิดเห็นของประชาชน การรับฟังความคิดเห็นประชาชนในการแก้ปัญหามาบตาพุด การแก้ปัญหาสมัชชาคนจน

สำหรับปัญหาและอุปสรรคของการดำเนินนโยบายแต่ละด้าน พบว่า นโยบายด้านความมั่นคงแห่งรัฐยังมีปัญหาในการเสริมสร้างอาวุธยุทโธปกรณ์ให้ทันสมัย ยังประสบกับข้อจำกัดด้านงบประมาณ โดยจำเป็นต้องพิจารณาแนวทางจัดหาอาวุธด้วยความรอบคอบ เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า บนพื้นฐานของศักยภาพและความพร้อมของสถานการณ์เศรษฐกิจและสังคมเพื่อรักษาความเข้มแข็งและมั่นคงของประเทศ

นโยบายด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ความเข้มแข็งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่งมีความแตกต่างกัน ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่งไม่สามารถพึ่งตนเองได้อย่างเต็มที่ ส่งผลให้ต้องเร่งรัดการทำความเข้าใจในเรื่องการถ่ายโอนภารกิจของหน่วยราชการส่วนกลาง หรือส่วนภูมิภาค สู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และปัญหาด้านคุณธรรม จริยธรรม และการสร้างธรรมาภิบาล เป็นเรื่องที่ไม่อาจกำหนดสถานะการดำเนินการได้เช่นเดียวกับเรื่องกฎหมาย ภาครัฐจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการสร้างบรรทัดฐานความเข้าใจของหน่วยงานให้เกิดความถูกต้อง
กำลังโหลดความคิดเห็น