xs
xsm
sm
md
lg

พผ.ชง ปธ.สภายื่นศาล รธน.ตีความ พ.ร.บ.บึงกาฬ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.อลงกต มณีกาศ โฆษกพรรคเพื่อแผ่นดิน (แฟ้มภาพ)
โฆษกเพื่อแผ่นดินเผยชงประธานรัฐสภายื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย พ.ร.บ.บึงกาฬ ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ชี้ส่อกระทบเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว. ระบุกฤษฎีกาเคยติงปัญหาแล้วแต่ กมธ.ไม่ฟัง

วันนี้ (14 ก.พ.) ที่พรรคเพื่อแผ่นดิน นพ.อลงกต มณีกาศ ส.ส.หนองคาย ในฐานะโฆษกพรรคพรรคเพื่อแผ่นดิน เปิดเผยว่า ตนในฐานะตัวแทน ส.ส.ได้ทำหนังสือถึงนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ขอให้ส่งเรื่องต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตีความ ตามมาตรา 154 (1) ในรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับพระราชบัญญัติบึงกาฬ พ.ศ.... ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ หลังจากที่รัฐสภามีมติเห็นชอบผ่าน พ.ร.บ.ดังกล่าว ทั้งนี้ มีสมาชิกรัฐสภากว่า 70 คน และนักวิชาการได้เห็นตรงกันว่าการตั้งจังหวัดบึงกาฬนั้นอาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจาก 1.หาก พ.ร.บ.บึงกาฬ มีผลบังคับใช้นับตั้งแต่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาอาจจะมีผลกระทบต่อการเลือกตั้ง ส.ส.ตามมาตรา 94 เพราะการคำนวณจำนวนประชากรต้องยึดปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้ง ดังนั้น หาก พ.ร.บ.บึงกาฬประกาศใช้ในปีนี้ ต้องนำหลักฐานทะเบียนราษฎรของ จ.หนองคาย ปี 2553 มาบังคับใช้

นพ.อลงกตกล่าวอีกว่า 2.กรณีมาตรา 10 ของ พ.ร.บ.บึงกาฬ กำหนดให้ ส.ส.เขต 2 จ.หนองคาย เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งใน จ.บึงกาฬ อาจจะขัดต่อมาตรา 94 ในรัฐธรรมนูญได้ 3.กระทบต่อการการสรรหา ส.ว. เนื่องจากหาก พ.ร.บ.บึงกาฬมีผลบังคับใช้ก่อนการสรรหา จะเป็นปัญหาว่าต้องสรรหาสมาชิกกี่คน จะขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่

“หากไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อรองรับจำนวน ส.ว.ที่ต้องเพิ่มขึ้นจาก พ.ร.บ.บึงกาฬ อาจทำให้เกิดปัญหาจนกลายเป็นวิกฤตรัฐธรรมนูญ และกระทบต่อสถานะภาพวุฒิสภาได้ ซึ่งขณะนี้ทางสำนักงานเลขาธิการสภาได้ลงเลขรับไว้แล้ว ดังนั้น ขั้นตอนที่จะส่ง พ.ร.บ.บึงกาฬต้องระงับไปจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตีความ” นพ.อลงกตกล่าว

รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้าที่ทางคณะรัฐมนตรีจะนำเสนอร่าง พ.ร.บ.บึงกาฬ เข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา ได้ทำหนังสือเพื่อสอบถามความเห็นจากสำนักคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อประกอบการพิจารณา ซึ่งทางคณะกรรมการกฤษฎีกาตอบกลับ ลงเลขที่ 635/2553 โดยนายวิษณุ เครืองาม ประธานคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดที่ 2 ท้วงติงปัญหาต่างๆ ตามที่ทางสมาชิกรัฐสภาได้ทำหนังสือถึงนายชัย เพื่อขอให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ แต่ปรากฏว่าในชั้นพิจารณาของกรรมาธิการฯ นั้นไม่ได้หยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นมา แต่กลับมีพฤติกรรมฉวยโอกาสผลักดัน พ.ร.บ.ดังกล่าว ถือว่าเป็นการหาผลประโยชน์ทางการเมืองของนักการเมืองบางพรรค
กำลังโหลดความคิดเห็น