xs
xsm
sm
md
lg

มรดกน่าน เสน่หามนตราแห่งล้านนา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ ทรงเป็นประธานเปิด โรงแรมพูคาน่านฟ้า อ.เมือง จ.น่าน เมื่อวันอังคารที่ 18 มกราคม
ศุภฤกษ์ดิถีปีเถาะนี้ เมืองน่าน ถูกปักหมุดเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักที่นักท่องเที่ยวต้องไปเยือน หลังลมหนาวแผ่ปกคลุม ดึงดูดนักท่องเที่ยวแห่ไปเที่ยวน่านมากเป็นประวัติการณ์ จนที่พักไม่เพียงพอ รถติดยาวเหยียดในเขตตัวเมืองเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

การท่องเที่ยวพลิกโฉม น่าน จากเมืองเล็กๆ ที่ไม่ตั้งใจก็ไปไม่ถึง เพราะเป็นเมืองชายแดนที่ซ่อนตัวกลางขุนเขา ที่ในอดีตคนน่านอาจมีอาการน้อยใจ เมื่อถูกถามว่า น่านอยู่ตรงไหน?

มาถึงวันนี้ วันที่มีผู้คนแห่แหนไปน่านตามกระแสนิยม จึงอดห่วงไม่ได้ว่า น่าน จะเป็นอีกหนึ่งเมืองเล็กที่ถูกการท่องเที่ยวทำร้าย เมื่อกระแส "เที่ยวน่าน" ส่วนหนึ่งจึงเป็นผลมาจากความล่มสลายของ "ปาย"

บทเรียนจาก "เมืองปาย" เมืองท่องเที่ยวเล็กๆ ถูกเปลี่ยนมือจากผู้ประกอบการในพื้นที่ไปสู่นักเก็งกำไรต่างถิ่น ที่เข้าไปกอบโกยเม็ดเงิน จนเสียความบริสุทธิ์ของเมืองกลางหุบเขาที่แสนโรแมนติก และหมดเสน่ห์ของวิถีชนบทที่เรียบง่ายไปแล้ว นักท่องเที่ยวที่ไปเยือน ปายเพียงเพื่อให้ได้ชื่อว่าเคยไป แต่จะไม่หวนกลับไปอีกครั้ง...

คนน่าน จึงมักมีน้ำเสียงกังวลปนกับความตื่นตัว เมื่อถูกถามว่าจะรับคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงที่จะที่ถั่งโถมเข้ามาอย่างต่อเนื่องอย่างไร

แม้แต่ บัณฑูร ล่ำซำ เบอร์หนึ่งแบงก์กสิกรไทย ที่ถูกมนต์เสน่ห์เมืองน่านมัดใจให้ย้ายสำมะโนครัวแปลงเป็นชาวน่านเต็มตัว และสวมบทบาทล่าสุดเป็นเถ้าแก่เจ้าของโรงแรมพูคาน่านฟ้า โรงแรมไม้สักเก่าแก่คู่เมืองน่าน ยังเน้นว่า ลงทุนทำโรงแรมไม่ได้จะหวังหาผลกำไร แต่ทำเพื่ออนุรักษ์ไว้ให้เหมือนเดิมมากที่สุด ถือเป็นการตอบแทนเมืองน่าน เพราะคนที่นี่กลัวโรงแรมไม้สักอายุ 80 ปีแห่งนี้จะถูกซื้อไปรื้อทิ้ง

หลังจาก”พูคาน่านฟ้า” ผ่านการปรุงแต่ง คนรักน่าน ก็จะมีต้นแบบของการรักษามรดกทางสถาปัตยกรรม และการแสดงออกถึงความเคารพต่องานศิลปวัฒนธรรมล้านนา เพื่อรักษาจิตวิญญาณความเป็นน่านเอาไว้ครบถ้วน

น่านเป็นจังหวัดเล็กๆ ทางภาคเหนือ มีเนื้อที่กว่า 7 ล้านไร่เศษ ส่วนใหญ่เป็นภูเขา มีประชากรเพียง 5 แสนกว่าคน เป็นเมืองชายแดนล้านนา ทิศเหนือและทิศตะวันออกจรดประเทศลาว สามารถเดินทางผ่านด่านชายแดนห้วยโก๋น ทะลุไปถึงเมืองหลวงพระบางได้

หลวงพระบาง กับ น่าน ยังเคียงคู่กันเป็น "เมืองฝาแฝด" อดีตเมืองเอกแห่งอาณาจักรล้านนาตะวันออก เพราะผู้สร้างเมืองหลวงพระบาง เมื่อหลายร้อยปีก่อน เป็นน้องชายของเจ้าผู้ครองนครน่าน ลักษณะทางศิลปวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมของทั้งสองเมืองจึงคล้ายคลึงกัน

ความงามทางศิลปวัฒนธรรมของน่าน ยังผสมผสานทั้งกลิ่นอายล้านนาและสิบสองปันนา รวมทั้งศิลปะสุโขทัย ผ่านโบราณสถานกลางใจเมือง หรือ "เกาะเมืองน่าน" เช่น "วัดภูมินทร์" พระอุโบสถอายุกว่า 400 ปี ที่งดงามโดดเด่นด้วยหลังคาทรงจัตุรมุข สลักเสลาด้วยฝีมือช่างเมืองน่าน และจิตรกรรมฝาผนังที่ลือเลื่องอายุกว่า 200 ปี

ใกล้ๆกันคือ "วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร" พระอารามหลวงเก่าแก่คู่เมืองน่าน สง่างามด้วยเจดีย์รูปช้างปูนปั้นเพียงครึ่งตัวแบกองค์พระเจดีย์ อันเป็นศิลปะสมัยสุโขทัย

จุดท่องเที่ยวสำคัญ ยังมี "พระธาตุแช่แห้ง" ปูชนียสถานคู่บ้านคู่เมืองน่านมานานกว่า 600 ปี เป็นพระธาตุประจำปีเถาะ ที่ชาวล้านนาเชื่อว่า หากได้เดินทางไป “ชุธาตุ” หรือนมัสการพระธาตุประจำปีเกิดจะได้รับอานิสงส์อย่างยิ่ง

อีกเสน่ห์ของการชื่นชมสถาปัตยกรรมในเกาะเมืองน่าน คือการปั่นจักรยานหรือเดินรับลมชมเมือง เพราะถนนหนทางที่ยังมีรถราไม่พลุกพล่าน ถ้าไม่ใช่ช่วงเทศกาล

ด้วยภูมิประเทศที่มีเทือกเขาโอบรอบเป็นปราการธรรมชาติ กว่าจะเดินทางถึงเมืองน่าน จึงต้องนั่งรถผ่านหนทางคดเคี้ยวนับโค้งไม่ถ้วน ทั้งยังไม่มีรถไฟวิ่งผ่าน มีสายการบินที่ใช้เครื่องใบพัดเล็กๆ บินวัน 2 เที่ยว เช้า-เย็น บรรทุกได้เพียงเที่ยวละ 32 คน จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้น่าน ยังคงรักษาความความบริสุทธิ์ทางธรรมชาติและวิถีชีวิตมาได้จนถึงวันนี้

ขุนเขาเป็นทั้งปราการปกป้องน่าน และยังเป็นจิตรกรรมธรรมชาติที่แต่งแต้มให้น่านสวยงาม ด้วยวิวทิวเขาสลับท้องทุ่งนาสีเหลืองทอง มีลมหนาวและสายหมอกให้สัมผัส

เมื่อผสานกับวัดวังและเฮือนโบราณ วิถีชีวิตเรียบง่าย และความศรัทธาในบวรพุทธศาสนา น่านจึงเป็น "เมืองเก่าที่มีชีวิต" จนคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อ ปี 2548 ให้น่านเป็นเมืองเก่าและเป็นพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งมีเพียง 2 แห่งในประเทศไทย โดยมีเกาะรัตนโกสินทร์เป็นแห่งแรก

นอกจากนี้ ยังต้องวัดใจรัฐบาลชุดนี้ว่าจะผลักดันให้ขึ้นทะเบียนเมืองน่านให้เป็น ”มรดกโลก” ต่อยูเนสโกอีกครั้งหนึ่ง หลังพลาดท่าจากที่เคยยื่นเสนอไปเมื่อหลายปีก่อน แต่เมื่อรัฐบาลชุดนี้ยังมีศึกมรดกโลกด้านชายแดนตะวันออกที่ยังระอุอยู่ เรื่องมรดกโลกของ”น่าน” จึงอาจถูก”แช่”ไปก็ได้

การมุ่งวิถีสู่เมืองมรดกโลกนี่เอง ที่เป็นเหตุให้ตึกรามบ้านช่องในเขตใจกลางเมืองน่าน ยังถูกจำกัดความสูงไม่เกิน 3-5 ชั้น และควบคุมแหล่งบันเทิง ไม่ให้เปิดในพื้นที่อนุรักษ์ อีกทั้งยังปรับภูมิทัศน์ตัวเมืองให้สวยงามด้วยการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินภายใน 2 ปี

แม้แต่ปัญหาในช่วงฤดูท่องเที่ยว โรงแรมที่พักของน่าน ไม่เคยเพียงพอรองรับจำนวนนักท่องเที่ยว แต่คนเมืองน่านก็ประกาศอย่างชัดแจ้งว่า ยังต้องการเป็นเมืองเล็กๆที่น่าเที่ยว ไม่ใช่เมืองที่อัดแน่นไปด้วยโรงแรม แนวคิดหนุนเสริมเกสต์เฮาส์หรือโรงแรมขนาดเล็กที่มีคนน่านเป็น เจ้าของ ซึ่งน่าจะสอดรับกระแสท่องเที่ยวยุคใหม่ที่ไม่นิยมพักโรงแรม ใหญ่ แม้มีปัญหาด้านบริการและการจัดการที่เป็นมือใหม่ยังไม่คล่องตัว

นักท่องเที่ยวที่มาน่าน จึงยังสัมผัสได้กับรอยยิ้ม ผู้คนเป็นมิตร และวิถีชีวิตที่สงบเรียบง่ายของผู้คน ซึ่งเป็นอีกเสน่ห์ที่ผู้มาเยือนล้วนบอกตรงกันว่า ประทับใจจนต้อหาทางงกลับมาเยือน

" ถือเป็นความท้าทาย ที่จะรักษาคุณค่าความเป็นน่านเอาไว้อย่างเดิม ความสงบ ความสะอาด ความดี ความงามของน่าน ต้องคงไว้ให้ได้ภายใต้สภาวะแวดล้อมสมัยใหม่ เมืองน่านควรเติบโตไปได้โดยไม่ต้องทำลายของเดิม ไม่ควรคิดและไม่ควรอยากได้ใคร่จะเป็นเมืองมหานคร และที่สำคัญน่านจะเปลี่ยนหรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับชาวน่านเป็นผู้ตัดสิน “ นั่นคือคำตอบของบัณฑูร ล่ำซำ เจ้าสัวผู้เตรียมสลัดกรุงเทพทิ้งไว้เบื้องหลัง เพื่อใช้ชีวิตบั้นปลายที่เมืองน่าน เมื่อถูกถามว่า เมืองน่านจะเติบโตอย่างยั่งยืนได้อย่างไร

มรดกทางวัฒนธรรมของเมืองน่าน ระหว่างการเป็นเมือ

เก่า เมืองมรดกโลก เสน่ห์แห่งวัฒนธรรมล้านนาตะวันออก... ที่จะอยู่เรียงเคียงกันกับเมืองคู่แฝดอย่าง หลวงพระบาง บนปูมการท่องเที่ยวของโลก หรือจะโตแล้วแตกลายกลายเป็นปายแห่งที่สอง จึงอยู่บนทางแยก ที่คนน่านต้องเลือกเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น