การประชุมสภาที่กำลังจะเปิดศักราชกันเป็นสมัยแรกของปีกระต่าย กลายเป็นจุดหักเหสำคัญของพรรคเพื่อไทย ผ่านสถานการณ์อภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่มีการลับดาบรอเชือด
เหลือเพียงคำถามว่า มีดดาบที่กำลังลับจะทำให้เกิดความคมมากพอที่จะบั่นคอศัตรูหรือไม่ และคนทำหน้าที่ลับดาบ มีความชำนิชำนาญมากพอในการปฏิบัติหน้าที่นี้หรือไม่
เพราะถ้าหากเป็น มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ บุรุษที่ชอบหันหลังให้กับชายชาตรี ก็คงมีคำถามมากมายตามมา เนื่องจากเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 เคยเป็นลมล้มตึงกลางงาน “โพสต์ฟอรัม 2008 มองไปข้างหน้ากับรัฐบาลใหม่” ในขณะกำลังปาฐกถาหัวข้อ “การตลาดประเทศไทย” จนโพเดียม ล้มทับมาแล้ว
สิ่งที่สมาชิกพรรคเพื่อไทยควรจะพิเคราะห์ให้ถี่ถ้วนคือ หัวข้อ “มองไปข้างหน้ากับความฝันเป็นนายกของมิ่งขวัญ” จะล้มพับหงายตึงไม่เป็นท่าหรือไม่ เพราะลีลาของผู้ที่ถูกชูให้เป็นผู้นำ ดูเหมือนจะไม่ได้ทำให้พรรคโดดเด่นขึ้น
ตรงกันข้าม แค่เอ่ยชื่อความแตกแยกก็มาเยือน จนทำให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประกาศวางมือจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในสมัยนี้เสียแล้ว แถมยังเตรียมทำตนไม่ต่างจาก เห็บ หมัด ที่กระโดดหนีหมาที่กำลังจะตาย ด้วยการทิ้งพรรคเพื่อไทยไปตั้งพรรคใหม่ หลังจากไม่ประสบความสำเร็จกับการรับใช้ ทักษิณ ชินวัตร
จะว่าไปแล้วการอภิปรายไม่ไว้วางใจ จะมี ร.ต.อ.เฉลิม ร่วมตีปี๊บด้วยหรือไม่ ดูเหมือนจะไม่มีผลสะเทือนซางรัฐบาลเท่าใดนัก เพราะแค่วลีของ ร.ต.อ.เฉลิม ที่เคยพูดไว้ว่า “พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย เพียงแต่ทำในสิ่งที่กฎหมายห้ามเท่านั้น” ก็บอกราคาค่างวดของ ร.ต.อ.เฉลิมในยุคนี้ได้เป็นอย่างดีว่า คำขวัญที่เคยพูดกันว่า “ไปทะเลเจอฉลาม มาสภาเจอเฉลิม” เมื่อครั้งที่เป็นดาวสภา ดูจะเป็นอดีตที่ยากจะหวนกลับ เพราะวันนี้ของ ร.ต.อ.เฉลิมได้กลายเป็นดาวดับตามมติของนักข่าวสภา ไปตั้งแต่ปี 2552 แล้ว
จะสร้างราคาว่า ถ้าไม่มี ร.ต.อ.เฉลิมในการอภิปรายไม่ไว้วางใจคราวนี้ จะทำให้กร่อยก็คงไม่เป็นผล เพราะแม้จะมี ร.ต.อ.เฉลิม การอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคเพื่อไทย ก็ไม่ได้มีความเข้มข้นหรือมีน้ำหนักอะไร นอกจากใช้เวทีสภาเป็นวาระของทักษิณ และคนเสื้อแดง
เพียงแต่สิ่งที่เกิดขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าพรรคเพื่อไทยกำลังป่วยหนัก และคงไม่ใช่แค่ ร.ต.อ.เฉลิม เท่านั้นที่จะตีจาก แต่น่าจะมี ส.ส.อีกจำนวนไม่น้อย ที่อยู่ระหว่างการตัดสินใจ
นอกจากนี้ ก็ยังเป็นทางสามแพร่งที่ทักษิณน่าจะตัดสินใจไประดับหนึ่งแล้วว่า จะให้ใครมาเป็นนอมินีอยู่บนบัลลังก์อำนาจแทนตัวเองที่ยังเป็นสัมภเวสีอยู่ต่างแดน และแน่นอนว่า ไม่ใช่ชื่อ “ร.ต.อ.เฉลิม” ที่แอบหวังมาโดยตลอด
และยิ่งไม่ใช่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ที่สู้อุตส่าห์ยอมเสียคนตอนแก่ ถึงขนาดเพิกเฉยต่อคำเตือนของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ที่ระบุให้ “ระวังจะเป็นคนทรยศชาติ” เมื่อครั้งตัดสินใจซบพรรคเพื่อไทย
พล.อ.ชวลิตลงทุนถึงขนาดกระทำการมิบังควร ด้วยการกดดันให้องค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งทรงอยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมืองเข้ามาแก้ปัญหาแดงเผาเมือง ด้วยคำกล่าวที่ว่า
“ไม่มีใครสามารถทำให้ประเทศสงบสุขได้ในตอนนี้ นอกจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผมขอเรียกร้องให้พระองค์ท่านได้โปรดลงมาคลี่คลายสถานการณ์ หากพระองค์ยังไม่ทราบใช้พระราชอำนาจเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ในคืนนี้ (14 เม.ย.52) คุณจะเห็นประชาชนเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีก”
เมื่อเดือนที่แล้ว พล.อ.ชวลิตยังพูดหน้าชื่นว่าพร้อมเป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า แต่เมื่อไม่กี่วันมานี้ วันเดียวกับที่มีข่าวว่า ร.ต.อ.เฉลิม จะทิ้งพรรคเพื่อไทย ก็มีการประกาศจุดยืนทางการเมืองของพล.อ.ชวลิต ที่แตกต่างจากความมั่นใจในการทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีสมัยที่สองที่เคยพูดไปก่อนหน้านี้อย่างสิ้นเชิง โดยระบุว่า “จะไม่ลงสมัคร ส.ส.ในการเลือกตั้งครั้งหน้า”
ความหมายของการไม่ลงสมัคร ส.ส.ก็คือมิอาจเป็นนายกรัฐมนตรีได้ เพราะไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญปี 50 หรือถ้าพรรคเพื่อไทยได้กลับมา และแก้ไขรัฐธรรมนูญให้กลับไปใช้ปี 2540 ได้สำเร็จ ผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ก็ยังต้องเป็น ส.ส.อยู่ดี
การไม่ลงสมัคร ส.ส.ก็เท่ากับยอมรับสภาพการไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี หลังการเลือกตั้งด้วยเช่นเดียวกัน
งานนี้จึงเท่ากับว่า ร.ต.อ.เฉลิม และ พล.อ.ชวลิต รู้พร้อมๆ กันว่า โดนทักษิณหลอกใช้ ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจที่ทั้งคู่หลงงมงาย เนื่องจากทั้งสองคนเคยทำงานการเมืองร่วมกันในนามของ “พรรคความหวังใหม่” มาก่อน
วันนี้ ถ้า “ความหวังหมด” พร้อมกันก็เป็นเรื่องของคนแก่หัวอกเดียวกัน ที่อาจจะต้องไปปรับทุกข์ซึ่งกันและกันมากขึ้น แต่การมีนักการเมืองสองคนนี้บนถนนการเมือง ต้องบอกว่า ไม่ได้มีสิ่งใดเป็นประโยชน์ต่อประชาชน
ตรงกันข้าม การไม่มีชื่อ ร.ต.อ.เฉลิม และ พล.อ.ชวลิต บนเส้นทางการเมืองสายประเทศไทยน่าจะเป็นผลดีต่อบ้านเมืองมากกว่า