xs
xsm
sm
md
lg

ภูมิใจไทยปรับทัพโละ ชวรัตน์ ดัน“ป.ประวิตร” หัวขบวนใหม่ !?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การออกมาให้ข้อมูลน่าสนใจของ อนุทิน ชาญวีรกูล แกนนำคนสำคัญของพรรคภูมิใจไทย ระบุในทำนองว่าบิดาของเขาคือ ชวรัตน์ ชาญวีรกูล ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอาจก้าวลงจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค ภูมิใจไทยในช่วงการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง โดยให้เหตุผลว่ามีอายุมากแล้ว อยากใช้ชีวิตสงบสุขในบั้นปลาย

ในคำพูดดังกล่าวเชื่อว่ามีความจริงเจือปนอยู่ไม่น้อย แต่ขณะเดียวกันมันสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการ “ขยับตัว” ของพรรคภูมิใจไทย เพื่อดำรงสถานะเป็นพรรค “ตัวแปร” ให้ได้อีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะความพยายามในการก้าวขึ้นเป็นพรรค “ขนาดกลาง” มี ส.ส.ในสังกัดไม่ต่ำกว่า 50 คนให้ได้หลังการเลือกตั้งคราวหน้า

ที่ผ่านมาก็เริ่มมีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งวิธีการที่ใช้กันมาอย่างต่อเนื่องก็คือใช้ “พลังดูด” ซึ่งเป็นที่รับรู้กันอยู่แล้วว่าดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง เป้าหมายหลักยังพุ่งไปที่การเจาะไชเข้าไปที่พรรคเพื่อไทยในพื้นที่ภาคอีสาน เริ่มจากรัศมีแถบอีสานใต้แล้วขยายออกมาเป็นวงแหวนเรื่อยๆ

ทั้งนี้เพื่อให้สอดรับกับการผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญแบ่ง “เขตเล็ก” เพื่อให้สามารถแย่งชิงเก้าอี้ ส.ส.สู้กับ “กระแสทักษิณ” ให้ได้มากกว่าเดิม

วกกลับมาที่การแย้มข่าว “ไขก๊อก” ของ ชวรัตน์ ชาญวีรกูล จากตำแหน่งหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยในช่วงการเลือกตั้งคราวหน้าว่า มีแนวโน้มเป็นไปได้สูง ขณะเดียวกันต้องแยกแยะสาเหตุให้เข้าใจเสียก่อนว่าทำไมออกมาแบบนี้

หากพิจารณาจากศักยภาพส่วนตัวของ ชวรัตน์ แล้ว การได้เป็นหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และเป็นถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ทั้งที่พื้นเพเดิมมาจาก “ผู้รับเหมาก่อสร้าง” ก้าวมาถึงขนาดนี้ถือว่า “ไกลเกินฝัน” แล้ว น่าจะเป็นที่สุดในชีวิตแล้ว ตายไปก็ย่อมนอนตาหลับ

อีกมุมหนึ่งหากพิจารณาตามความเป็นจริงยังมีสาเหตุอื่นเพิ่มเติมเข้ามาใน สถานการณ์ใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในการเลือกตั้งคราวหน้า นั่นคือต้องใช้ “ศักยภาพ” ส่วนบุคคลเข้ามาเป็น “จุดขาย” เพิ่มความแข่งแกร่งให้กับพรรค นอกเหนือจากการใช้แรงดึงดูดบรรดา ส.ส.และนักเลือกตั้งทั้งหลายเข้ามาร่วมแล้ว ยังมีลูก “ข่มขวัญ” อยู่ในทีเข้ามาด้วย ซึ่งที่กล่าวมาทั้งหมด “เสี่ยจิ้น” ชวรัตน์ ไม่มี

ขณะเดียวกันสาเหตุสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่เพิ่มเข้ามาในระยะหลังอาจเป็นเพราะ “จ่ายเบา” รวมไปถึงลักษณะ “ลงทุนน้อย” แต่เอากำไรมากไปหรือเปล่า ข่าวประเภทนี้ประดังเข้ามาด้วย ทำให้มีการส่งสัญญาณแย้มๆออกมาล่วงหน้าจาก ลูกชาย ซึ่งนาทีนี้ใน “วงการ” รู้กันไปทั่วว่า อนุทิน นี่แหละคือ “รัฐมนตรีเงา” อีกคนของ ชวรัตน์ นั่นเอง เป็นการแสดงให้เห็นว่าเป็นการก้าวลงโดยสมัครใจและวางมืออยู่ข้างหลังเมื่อ สังขารร่วงโรยประมาณนั้น

อย่างไรก็ดีสิ่งที่ต้องมองไปข้างหน้าและเป็นประเด็นคำถามต่อมาว่าแล้ว “ใคร” จะมาเสียบแทน ถ้าให้ตอบแบบรวดรัดตัดความ นาทีนี้ถือว่ายังไม่ชัวร์ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เริ่มเห็นเงาหลังชัดขึ้นเรื่อยๆ อย่างน้อยก็มีให้เห็นสองคน คนแรกก็คือ “ป.ประวิตร” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กับ “หม่อมอุ๋ย” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ แต่ถ้าให้น้ำหนักก็ต้องทิ้งไปที่ ป.แรกคือ ประวิตร มากกว่า

ทำไมต้อง ประวิตร คำตอบก็ไม่ยาก เพราะที่ผ่านมาหากพูดถึงพรรคภูมิใจไทยก็ย่อมมองเห็น เนวิน ชิดชอบ ยืนอยู่โดดเด่น และที่ผ่านมาทั้งคู่ก็เกื้อหนุนกันมาในลักษณะ “สร้างฝัน” ร่วมกันทั้งในสถานการณ์ปัจจุบันและต่อเนื่องไปถึงอนาคต

เพราะต้องยอมรับว่าในยุคที่ เนวิน ติดอยู่ในบ้านเลขที่ 111 ทำให้เคลื่อนไหวไม่เต็มที่ มันจำเป็นให้ต้องใช้วิธี “ต่างตอบแทน” กันไปก่อน ในลักษณะ “วินวิน” ด้วยกันทั้งคู่

พิจารณาจากศักยภาพส่วนตัวของ พล.อ.ประวิตร นาทีนี้ถือว่าได้สร้างบารมีในฐานะ “พี่ใหญ่” ในกองทัพมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสามารถสอดแทรกขึ้นมาหลังจาก ทักษิณ ชินวัตร ถูกโค่นล้มลงไป ซึ่งเครือข่ายอำนาจตกอยู่ในมือของ “บูรพาพยัคฆ์” ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ด้วยพลังอำนาจ “สีเขียว” ที่เกิดขึ้นมันย่อมเป็นผลดีทั้งทางตรงและทางอ้อมไม่มากก็น้อยสำหรับพรรคไหน ก็ตามที่ ประวิตร เดินเข้าไป “ต่อยอด” ซึ่งหากพิจารณาจาก “แบ็กกราวด์” เก่าๆ มันก็ย่อมมีแนวโน้มไปร่วมกับ เนวิน แบบเปิดเผยสูงยิ่ง

สอดคล้องกับเป้าหมายของพรรคภูมิใจไทยที่บรรดาแกนนำบางคนเคยออกมาเปิดเผยให้ เห็นบ้างแล้วว่าต้องการเป็นพรรค “ขนาดกลาง” คาดหวังให้มีจำนวน ส.ส.ประมาณไม่ต่ำกว่า 50-75 คน เพื่อเป็น “ตัวแปร” ซึ่งเมื่อพิจารณาจากองค์ประกอบทั้งจากตัวบุคคลที่มี เนวิน-ประวิตร เข้ามาผนึกกำลังกันประกอบกับเงื่อนไขรัฐธรรมนูญที่กำลังจะเปลี่ยนเป็น “เขตเล็ก” มันก็เป็นไปได้สูง

ดังนั้นเมื่อเห็นความเคลื่อนไหวข้างต้นของพรรคภูมิใจไทย แม้ว่านาทีนี้ยังเร็วไปที่จะสรุป แต่เชื่อว่าแนวโน้มไม่น่าจะหนีไปจากนี้มากนัก โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาความทะเยอทะยานส่วนตัวของแต่ละคน ซึ่งถ้าทำได้ตามแผนเบื้องต้นสำหรับพรรคตัวแปรดังกล่าวย่อมต้องกลับมายึดกุม กองทัพในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอีกครั้ง สร้างหลักประกันให้ “เพื่อนพ้องน้องพี่” ได้อย่างมั่นใจ !!

กำลังโหลดความคิดเห็น