xs
xsm
sm
md
lg

“เทอดพงษ์” ยันโหวตชี้ขาดตามหลักสากล งงรัฐไม่เคลียร์พรรคร่วมก่อนชงแก้ รธน.เข้าสภา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ ประธานกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ปี 2550
ประธานคณะกรรมการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมิน “ปู่ชัย” ชี้ แก้รัฐธรรมนูญมีสิทธิ์พลิกใช้สูตร 400+100 แนะรอเข้าสภาก่อน จ่อเรียก กมธ.ให้คนสงวนท่าทีแจง 18 ม.ค. คาดใช้เวลาสักพักรวบรวม ไม่เกินต้นเดือนหน้า ยันออกเสียงโหวตเป็นไปตามสากล เพื่อชี้ขาด ถามทำไมรัฐไม่เคลียร์กันก่อนชงเรื่องเข้าสภา

วันนี้ (12 ม.ค.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีที่ นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ระบุว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจมีสิทธิ์พลิกมาใช้สูตร 400+100 ว่า เรื่องดังกล่าวตนไม่อยากให้ความเห็นอะไรมาก รอให้เข้าสู่สภาก่อน ทั้งนี้ ในวันที่ 18 ม.ค.จะมีการเรียกประชุมกรรมาธิการ เพื่อให้ผู้ที่สงวนคำแปรญัตติเข้ามาชี้แจง ซึ่งคาดว่า ต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรในการรวบรวม และตรวจสอบรายละเอียดความถูกต้องก่อนส่งให้สภา อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวไม่สามารถกำหนดระยะเวลาว่าจะให้แล้วเสร็จเมื่อไหร่ แต่พยายามทำให้เร็วที่สุด ทั้งนี้ ตนคาดว่า น่าจะสรุปคำแปรญัตติให้สภาได้ในปลายเดือนมกราคม หรือต้นเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนกรณีที่ ส.ว.สรรหาลาออกไปจะมีปัญหาต่อการลงมติในวาระ 2 และ 3 นั้น แล้วแต่คนจะตีความ แต่หากมองว่ามีปัญหา ตนคิดว่า ควรส่งเรื่องดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตีความว่าสามารถทำได้หรือไม่

นายเทอดพงษ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่หลายฝ่ายออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงการทำหน้าที่ประธานในการโหวตออกเสียงสนับสนุนการแก้ไขจำนวน ส.ส.เขต 375 และ ส.ส.สัดส่วน 125 คน ว่า ตนไม่เข้าใจที่มีหลายฝ่ายออกมาวิพากษ์วิจารณ์เรื่องของตน ซึ่งตนได้พยายามอธิบาย และทำความเข้าใจว่า ในการทำหน้าที่ของตนเป็นไปตามหลักสากลที่ประธานสามารถทำได้ เนื่องจากตนก็ถือเป็นหนึ่งคณะกรรมาธิการ เพียงตนได้รับตำแหน่งประธานด้วย ซึ่งในการประชุมเมื่อผลโหวตออกมาได้ 17 เท่ากัน ตนก็ใช้สิทธิในความเป็นประธานตัดสินด้วยการออกเสียงโหวต เพราะหากไม่ทำหน้าที่ก็ถือว่าละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่

นายเทอดพงษ์ กล่าวว่า ตามหลักสากลทั่วไปบางแห่งสามารถใช้สิทธิออกเสียงได้ 2 ครั้ง ในฐานะที่เป็นกรรมาธิการและในฐานะประธาน แต่ในการโหวตตนไม่ได้ใช้สิทธิออกเสียงเลย แต่เมื่อคะแนนออกมาเท่ากัน ตนจึงต้องเลือกใช้สิทธิในฐานะประธานเพียงอย่างเดียว เพื่อชี้ขาดผลการประชุม เพราะหากปล่อยทิ้งไว้หรือเลื่อนไปประชุมในสัปดาห์ต่อไปก็จะเป็นปัญหาและอาจถูกตีความได้ เช่น หากเลื่อนโหวตไปสัปดาห์ต่อไปก็ต้องไปรับว่าใครที่ได้ออกเสียงไปแล้วและใครที่ยังไม่ออกเสียงโหวต และผลโหวตที่ออกมาเสมอกัน 17:17 จะทำอย่างไร หรือจะปล่อยให้เป็นโมฆะเลยหรือไม่ต้องถูกตีความอีก ซึ่งอาจถูกครหาว่าการลงมติของ กมธ.ไม่ชอบ ทั้งนี้ ได้มีรัฐมนตรีบางคนมาเสนอกับตนว่าจะไม่เห็นด้วยกับร่างที่คณะรัฐมนตรีเสนอ ซึ่งตนก็อยากตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมรัฐบาลไม่พูดคุยกันให้ชัดเจนหรือตกผลึกก่อนและค่อยมาเสนอแก้ไขต่อสภา

ด้าน น.ส.รัชดา ธนาดิเรก ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) แก้ไขรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า กรรมาธิการได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่เสนอคำแปรญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาชี้แจงกับคณะกรรมาธิการในวันที่ 18 และ 19 มกราคม นี้ เวลาประมาณ 10.00 น.เป็นต้นไป ทั้งนี้ ตนคาดว่า การให้เวลา 2 วันดังกล่าวจะเพียงพอที่ผู้เสนอคำแปรญัตติจะชี้แจงได้ครบ แต่หากจำเป็นต้องใช้เวลามากกว่านั้นก็จะมีการพิจารณาเพิ่มวันชี้แจง อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้ว่า กรรมาธิการจะเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ได้มีการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการเข้าสู่ระเบียบวาระได้ทันทีที่มีการเปิดประชุมรัฐสภาปลายเดือนมกราคมนี้

“กรรมาธิการต้องรับฟังผู้ที่เสนอคำแปรญัตติ แม้ว่าขณะนี้กรรมาธิการเสียงข้างมากจะมีมติยืนตามร่างแก้ไขเดิมของคณะรัฐมนตรีในประเด็นจำนวนของ ส.ส.ตามสูตร 375+125 แล้วก็ตาม ทั้งนี้ เมื่อกรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่มีความเห็นสรุปเป็นเช่นไรแล้ว ก็คาดว่า จะเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขยาก ยกเว้นผู้ที่เสนอคำแปรญัตติจะชี้แจงในเหตุผล จนชักจูงกรรมาธิการเห็นคล้อยตาม” น.ส.รัชดา กล่าว

น.ส.รัชดา ยังกล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทย ระบุว่า นายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ ส.ส.สัดส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ฐานะประธานคณะกรรมาธิการ ทำตัวไม่เหมาะสมภายหลังจากที่ออกเสียงโหวตสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อชี้ขาดว่า นายเทอดพงษ์ ได้ใช้สิทธิ์ของกรรมาธิการคนหนึ่งโหวตชี้ขาด ถือว่าเหมาะสมแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น