xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.หนุนสูตร 375+125 อ้างยึดตามข้อเสนอ กก.สมานฉันท์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์
“ปชป.” ยัน จุดยืนแก้ รธน.สัดส่วน ส.ส. หนุนสูตร 375+125 อ้างยึดตามข้อเสนอคกก.สมานฉันท์ฯ “เทพไท” เชื่อเสียงข้างมากหนุนแน่นอน โยนผู้ใหญ่ไปเคลียร์กับ “เติ้ง” เอง แนะควรยึดมติ กมธ.เป็นหลัก ค้านหยิบยกสูตร 400+100 ชี้บรรจุอยู่ในร่างเหวง ซึ่งไม่ผ่านวาระแรก


วันนี้ (11 ม.ค.) นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ในสัดส่วนของกมธ.พรรคประชาธิปัตย์ว่า ที่ประชุมได้มีการปรึกษาหารือในเรื่องของระบบการเลือกตั้ง จำนวนเขตและ ส.ส. ซึ่งได้มีความเห็นพ้องต้องกันใน 2 หลักการ คือ กมธ.ของพรรคประชาธิปัตย์สนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลได้เสนอเข้ามา โดยมีจำนวน ส.ส.เขต 375+ 125 คน รวมทั้งยืนยันว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ได้แนวทางมาจากคณะทำงานเพื่อความสมานฉันท์และการปฏิรูปการเมือง โดย กมธ.ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์จะพิจารณาในกรอบของการปฏิรูปการเมืองที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งที่ปราศจากความขัดแย้งทางการเมือง และจะนำเสนอหลักคิดในเรื่องเขต และจำนวน ส.ส.ตามที่ได้หารือในวันนี้นำไปให้ประชุมใหญ่ได้พิจารณาร่วมกัน

ด้าน นายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า สำหรับท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้านที่ออกมาสนับสนุนสูตรการเลือกตั้ง 400+100 ซึ่งในส่วนของพรรคเพื่อไทย ไม่มีข้อสงสัยใดๆ เพราะพรรคเพื่อไทยไม่ได้ร่วมพิจารณากฎหมายดังกล่าวตั้งแต่ต้น เพียงแต่ฉวยโอกาสทำให้เกิดความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาล ตนอยากตั้งข้อสังเกตว่า การหยิบเอาสูตรดังกล่าวมานั้นได้อยู่ในร่าง นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงที่ได้เสนอแก้ไขให้เป็นตามรัฐธรรมนูญ 2540 และร่าง 102 ส.ส.ที่ต้องการให้เป็น 400+80 ซึ่งไม่ผ่านวาระแรก แต่ทำไมต้องหยิบเอามาอีก แม้สามารถแปรญัตติได้ก็ตาม แต่ตามมารยาททางการเมืองก็ไม่ควร

นายเทพไทกล่าวว่า ส่วนร่างของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีเนื้อหามาจาก อ.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เป็นร่างที่เห็นชอบโดย ครม. และมีตัวแทนพรรคร่วมอย่างน้อย 3 พรรครวมอยู่ด้วย จึงอยากถามว่าการที่ไม่เห็นด้วยตามร่าง ครม. ตัวแทนพรรคร่วมที่อยู่ใน ครม.ได้มีการท้วงติงหรือไม่ ดังนั้น ตัวแทนพรรคร่วมที่อยู่ใน ครม.ต้องไปอธิบาย แม้ที่ผ่านมาจุดเริ่มต้นพรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นชอบ แม้กฎหมายดังกล่าวเป็นของ ครม. แต่เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลโดยพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ จึงสนับสนุนเรื่องดังกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่ามั่นใจหรือไม่ว่าเสียงสนับสนุนจำนวน ส.ส.375+125 ในชั้นของกมธ.จะได้รับเสียงสนับสนุนเพียงพอหรือไม่ นพ.บุรณัชย์กล่าวว่า เราต้องรอพรรคร่วมหารือเป็นการภายในอย่างเป็นทางการก่อน อย่างไรก็ตาม เราเคารพสิทธิของกมธ.ทุกคน

ด้าน นายเทพไทกล่าวว่า หากดูจากการพิจารณาของที่ประชุม กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญหลายนัดที่ผ่านมา จะเห็นว่าท่าที กมธ.3 ฝ่ายยังมีความแตกต่างกันอยู่ โดยความเห็นวุฒิสภายังอยู่ก้ำกึ่งระหว่าง 2 สูตรอยู่ ส่วน ส.ส.ที่ไม่ใช่สัดส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ก็มีการแสดงท่าทีชัดเจนว่าสนับสนุน 375+125 ทั้งนี้ หากดูตัวเลขของ กมธ.ทั้งหมดที่มี 45 คน ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์มี 19 คน มีเสียงสนับสนุนจาก ส.ว.อีก 4-5 คน และเพื่อนส.ส.อีกจำนวนหนึ่งที่สนับสนุน ดังนั้น คาดว่าสูตร 375+125 จะได้รับเสียงข้างมากได้อย่างแน่นอน

ผู้สื่อข่าวถามว่ามีการประเมินว่าในชั้นกมธ.อาจจะได้รับเสียงสนับสนุนร่างของรัฐบาล แต่เมื่อเข้าสภาอาจจะมีการเปลี่ยนแปลง นพ.บุรณัชย์กล่าวว่า ชั้น กมธ.เป็นขั้นตอนการรับฟังความเห็น และได้ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงด้วย ซึ่ง กมธ.มีหน้าที่คือ นำข้อมูลมาชี้แจงในรัฐสภา เพื่อให้สังคมได้ร่วมรับรู้ ซึ่งคงต้องรอดูในชั้นกมธ.ว่าจะมีความเห็นร่วมกันในลักษณะใดบ้าง อย่างไรก็ตาม ตนเชื่อว่าแนวทางของสภาจะอยู่บนพื้นฐานเหตุผลที่มาของการแก้รัฐธรรมนูญ

นายเทพไทกล่าวว่า การได้มาซึ่ง กมธ.เป็นสัดส่วนที่มาจากตัวแทนของกลุ่มการเมืองต่างๆ การที่ กมธ.มีมติออกมาอย่างไรก็น่าจะเป็นสื่อทางอ้อมได้ว่าเมื่อตัวแทนเห็นด้วย กลุ่มการเมืองที่มีตัวแทนในกมธ.ก็น่าจะสนับสนุนด้วย ดังนั้น หาก กมธ.เสียงข้างมากมีมติเช่นใด เสียงส่วนใหญ่ในสภาก็น่าจะสนับสนุนตามเสียงข้างมากของ กมธ.ด้วยเช่นกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่านายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา สนับสนุนสูตร 400+100 นายเทพไทกล่าวว่า ถือเป็นความเห็นของนายบรรหาร คงต้องให้ระดับผู้ใหญ่ไปทำความเข้าใจกัน อย่างไรก็ตาม มติจะออกมาเป็นอย่างไรควรฟังจาก กมธ.ชุดนี้ดีกว่า แม้จะมีเสียงจากข้างนอก ผู้ใหญ่ หรือผู้สนับสนุน ก็เป็นหน้าที่ที่ผู้ใหญ่แต่ละฝ่ายจะไปทำความเข้าใจกัน เมื่อถามว่าพรรคร่วมมองว่าพรรคประชาธิปัตย์เขี้ยวลากดินไม่ยอมฟังเสียงพรรคร่วมรัฐบาล นพ.บุรณัชย์กล่าวว่า เราก็ทำงานร่วมกันมาตลอดจึงไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่เป็นเรื่องของการถกเถียงข้อดีข้อเสียมากกว่า ส่วนจะเป็นปัจจัยให้นายกฯ ยุบสภาเร็วขึ้นหรือไม่นั้น ตนคิดว่าไม่ แต่เป็นการรับฟังความเห็นมากกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น