xs
xsm
sm
md
lg

“ศิริโชค” แจงผ่านเฟซบุ๊ก จุดจับ 7 คนไทย อยู่ระหว่างเจรจาปักปันเขตแดน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพที่นายศิริโชคใช้ประกอบคำชี้แจง 1
“ศิริโชค” โต้ผ่านเฟซบุ๊ก บ้านหนองจาน ไม่ใช่ค่ายอพยพของ UNHCR อยู่ระหว่างเจรจาปักหลักเขตแดน ยืนยันไม่มีการย้ายหลักเขตแดน “คำนูณ” ถามกลับ ถ้าที่หนองจานอยู่ระหว่างเจรจา ทำไมคนทางการออกมาบอกว่า 7 คนไทยล้ำดินแดนเขมร และรัฐบาลยอมปล่อยให้ถูกจับขึ้นศาลเขมรโดยไม่ประท้วง ชี้ “แก่น” ของเรื่องคือ “คนไทยถูกจับในผืนแผ่นดินไทย”

เมื่อเวลาประมาณ 18.00 น. นายศิริโชค โสภา ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้เผยแพร่บทความ ผ่านเฟซบุ๊ค sirichok sopha เรื่อง “ความจริงอีกด้านจากบ้านหนองจาน” ดังนี้

“ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหาของบทความที่ผมจะนำเสนอต่อไปนี้คงต้องขอออกตัวไว้ก่อนว่า ผมไม่มีเจตนาที่จะโต้แย้งหรือจับผิดใครทั้งสิ้น แต่เห็นความจำเป็นที่ต้องนำเสนอข้อเท็จ จริงที่ผมได้ค้นคว้าและศึกษาเกี่ยวกับปัญหาเขตแดนไทย-กัมพูชาในบริเวณบ้านหนองจานซึ่งเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ว่ามีรายละเอียดอย่างไร ข้อมูลตรงกับสิ่งที่ทางกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้เสนอต่อสาธารณะหรือไม่ และมีส่วนใดที่น่าจะเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนเพื่อให้เกิดองค์ความรู้ที่ถูกต้องต่อสังคมไทย

ประเด็นที่ทางกลุ่มพันธมิตรฯ ได้นำมาเปิดเผยต่อสาธารณะมีเนื้อหาสำคัญ คือ
1. พื้นที่บริเวณบ้านหนองจานเป็นจุดที่ตั้งของยูเอ็นเอชซีอาร์ในการเข้ามาช่วยเหลือผู้อพยพหนีภัยสงครามชาวกัมพูชา
2. 7 คนไทยถูกจับบนแผ่นดินไทยซึ่งเป็นจุดเดียวกับที่ยูเอ็นเอชซีอาร์เข้ามาตั้งศูนย์ผู้อพยพ
3. มีการเคลื่อนย้ายหลักเขตโดยพลการของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่
4. มีการเปรียบเทียบแผนภูมิที่ตั้งค่ายอพยพของยูเอ็นเอชซีอาร์กับกูเกิลเอิร์ธ และระบุว่าที่ตั้งของสระน้ำอยู่ในเขตแดนไทย
5. ประณามและเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการขั้นเด็ดขาดกับรัฐบาลกัมพูชา และไม่ยอมรับคำตัดสินของศาลกัมพูชาโดยต้องนำ 7 คนไทยกลับประเทศอย่างไร้เงื่อนไข

ก่อนที่ผมจะอธิบายในแต่ละประเด็นที่กลุ่มพันธมิตรฯ ตั้งข้อสงสัย มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่สังคมไทยจะต้องเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของประเทศกัมพูชาเพื่อให้เกิดความเข้าใจต่อ สภาพปัญหาในพื้นที่ดังกล่าวและจะเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การตัดสินใจได้ว่าสิ่งที่รัฐบาลดำเนินการอยู่ในขณะนี้ถูกต้องหรือไม่

หลังจากที่กองทัพเวียดนามได้เข้าไปยึดประเทศกัมพูชา จากเขมรแดงที่ครองอำนาจใน ปี คศ 1979 ทำให้ประเทศกัมพูชาแบ่งออกเป็น 3 ฝ่าย คือ เขมรแดง ที่มี พลพต เป็นผู้นำ เขมรเสรี มีนายซอนซาน อดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชาเป็นผู้นำ และฟุนซินเปค (FUNCINPEC) มีกษัตริย์สีหนุ เป็นผู้นำ โดยทั้งหมดถอยร่นมาอยู่บริเวณแนวตะเข็บชายแดนไทย–กัมพูชา แม้ว่ากองกำลังเวียดนามจะปลดแอกกัมพูชาจากความโหดร้ายของเขมรแดง และตั้งรัฐบาลหุ่นเชิดเฮงสัมรินขึ้นมา แต่ทั่วโลกก็ไม่ยอมรับการกระทำดังกล่าวโดยมี การประณามประเทศเวียดนาม เนื่องจากเป็นผู้บุกรุกเข้าไปยึดครองอีกประเทศหนึ่ง และไม่รับรองรัฐบาลหุ่นเชิดเฮงสัมรินว่าเป็นรัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ถูกคว่ำบาตร ไม่มีที่นั่งในสหประชาชาติ ในทางกลับกันสหประชาติกลับไปลงมติรับรองรัฐบาลผสมกัมพูชาประชาธิปไตย (CGDK) ซึ่งประกอบไปด้วยเขมร 3 ฝ่าย ว่าเป็นรัฐบาลที่ชอบด้วย กฎหมาย

รัฐบาลผสมกัมพูชาประชาธิปไตย (CGDK) จึงมาตั้งอาณาจักรเพื่อต่อสู้กับรัฐบาลเฮงสัมริน ตามตะเข็บชายแดนไทย-กัมพูชา ดังในรูปที่ 1

แต่ปัญหาที่ตามมา คือ ประชาชนที่ปะปนอยู่กับกองกำลังของเขมร 3 ฝ่าย ซึ่งอยู่บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา กำลังประสบกับความหิวโหย เนื่องจากขาดอาหารและน้ำ โดย เป็นหน้าที่ของ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ต้องเข้าไปจัดการให้ความช่วยเหลือ แต่ปรากฎว่าธรรมนูญของ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่ง สหประชาชาติ (UNHCR) ไม่อนุญาตให้ช่วยได้ เนื่องจากประชาชนเหล่านี้ไม่มีสถานภาพของความเป็นผู้ลี้ภัย เนื่องจากคนเหล่านี้อยู่ในความดูแล และคุ้มครองของรัฐบาลผสมประชาธิปไตย (CGDK) ซึ่งประกอบไปด้วยเขมร 3 ฝ่าย ตามการรับรองของสหประชาติ ดังนั้นสมัชชาใหญ่สหประชาชาติจึงมีมติให้มีการปฎิบัติช่วยเหลือผู้หนีภัยสงครามในพื้นที่กัมพูชาที่ติดกับเขตแดนไทย โดยใช้ชื่อโครงการว่า UNBRO

ภายใต้โครงการ UNBRO ทาง UNHCR ได้ส่งเฉพาะเจ้าหน้าที่เข้าไปรับผิดชอบช่วยเหลือในการส่งน้ำ และอาหาร โดยไม่ได้บริหารค่ายดังกล่าวซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของ กองกำลังเขมร 3 ฝ่ายดังที่กล่าวไปแล้วในข้างต้น

สำหรับ สถานที่ที่เข้าใจว่าเป็น ศูนย์ผู้หนีภัยสงครามหนองจานนั้น เป็นของค่ายเขมรเสรี ซึ่งมี นายซอนซานเป็นผู้นำ ไม่ได้มีสถานะเป็นค่ายผู้ลี้ภัยของ UNHCR ตามที่นักวิชาการของพันธมิตรฯ เข้าใจแต่อย่างใด เพียงแต่ผู้ลี้ภัยที่อยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาลผสมประชาธิปไตยของเขมรสามฝ่ายได้รับการช่วยเหลือด้านน้ำและอาหารจากโครงการ UNBRO เท่านั้น

สำหรับบ่อน้ำที่ปรากฏในรูปซึ่งอ้างว่าเป็นสระน้ำของ UN นั้นน่าจะเป็นการขุดของกองกำลังค่ายเขมรเสรี ไม่ได้เกี่ยวกับ UNHCR แต่อย่างใด เพราะ UNHCR ไม่ได้เข้าไป บริหารจัดการในบริเวณพื้นที่ดังกล่าว นอกจากการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเพื่อให้ชาวกัมพูชาดำรงชีพท่ามกลางความแร้นแค้นจากภัยสงครามเท่านั้น

ต่อมาเมื่อปี ค.ศ.1983-1984 กองกำลังของรัฐบาลเฮงสัมรินเริ่มปฎิบัติการทางทหารกับบรรดาค่ายผู้หนีภัยสงคราม เนื่องจากเป็นแหล่งซ่องสุมกำลังของรัฐบาลผสม ประชาธิปไตย (CGDK) และเป็นภัยต่อรัฐบาล โดยสามารถกวาดล้างได้เกือบทั้งหมด ในส่วนของค่ายหนองจานถูกตีแตกในช่วงเดือนมกราคม ปี ค.ศ.1983 ดังนั้นในปี ค.ศ.1985 สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) จึงต่อรองกับรัฐบาลไทย ซึ่งอยู่ภายใต้ความกดดันของนานาชาติ ให้จัดตั้งค่ายคัดแยกคนชั่วคราว (Holding camp) มาอยู่ในบริเวณพื้นที่ของประเทศไทย ตามรูปที่ 2

โดยมีการคัดเฉพาะประชาชนที่หนีภัยสงครามเท่านั้น มิให้มีกองกำลังของเขมร 3 ฝ่ายเข้ามาปะปนด้วย และเลือกพื้นที่ๆ มีผลกระทบกับหมู่บ้านคนไทยน้อยที่สุด แต่อยู่ใกล้ กับเขตแดนไทย-กัมพูชา

โดยค่ายที่ใหญ่ที่สุดภายใต้โครงการ UNBRO ก็คือ SITE II ตามรูป 3 ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นฝ่ายเขมรเสรี ขณะที่ SITE 8 เป็นค่ายที่ดูแลเขมรแดง และค่าย SITE B เป็น ค่ายที่ดูแลฟุนซินเปค เป็นหลัก สำหรับค่ายผู้ลี้ภัยของ UNHCR นั้นอยู่ที่เขาอีแดง

ตรงจุดนี้เองครับที่ทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับแผนผัง SITE II ซึ่งทางนักวิชาการพันธมิตรฯ สำคัญผิดคิดว่าเป็นพื้นที่บริเวณหนองจาน ซึ่งอาจเกิดจากเห็น ข้อความ LEGEND และตามด้วยคำว่าค่ายหนองจาน ก็เลยเข้าใจว่า SITE II เป็นค่ายผู้ลี้ภัยของ UNHCR และอยู่บริเวณหนองจาน และมีการนำแผนผังของ SITE II ซึ่งมีบ่อน้ำอยู่ด้วย ไปเปรียบเทียบกับแผนที่กูเกิลเอิร์ธ บริเวณบ้านหนองจาน เห็นว่ามีลักษณะใกล้เคียงกันจึงคิดว่าเป็นสถานที่เดียวกัน ซึ่งในข้อเท็จจริงนั้น คำว่า LEGEND แปลว่า อดีตที่ผ่านมา คือ ในแผนผังนั้นเป็นการแสดงบริเวณพื้นที่ๆได้กำหนดให้แต่ละค่ายผู้หนีภัยสงครามที่ถูกรัฐบาลเฮงสัมรินตีแตก ได้อพยพคนมาอยู่โดยแบ่งเป็นล็อกๆ ยกตัวอย่าง เช่น ค่าย เขมรเสรีที่หนองจานซึ่งถูกตีแตกนั้น ได้มีการอพยพคนเขมรจากหนองจานมาอยู่ใน SITE II จึงได้ระบุในตารางไว้ว่า เป็น LEGEND – NONG CHAN CAMP มิใช่หมายความ ว่า SITE II อยู่บริเวณหมู่บ้านหนองจานแต่อย่างใด นอกจากนั้นยังมีการอพยพค่ายผู้หนีภัยสงครามในดินแดนกัมพูชาอื่นฯมาไว้ใน SITE II เช่น หนองเสม็ด เป็นต้น

นอกจากนี้ พิกัดของ SITE II ตามนักวิชาการพันธมิตรฯ ระบุก็คาดเคลื่อนไปมาก เพราะไม่ได้อยู่บริเวณหนองจาน ซึ่งอยู่แนวหลักเขตที่ 46- 47 แต่อยู่ทางเหนือของบ้านตาพระยา เลยไปทางเทือกเขาดงรัก บริเวณหลักเขต ที่ 29-30 ตามรูปที่ 3 โดยพื้นที่ของ SITE II นั้น เนื้อที่ประมาณ 7.8 ตารางกิโลเมตร และเมื่อขยายภาพออกมาตามรูปที่ 4 จะ เห็นได้ชัดถึงองค์ประกอบในค่าย SITE II ซึ่งทำให้เห็นว่าการเอาแผนผัง SITE II ไปเปรียบเทียบ กับแผนที่กูเกิลเอิร์ธ และพยายามชี้ว่าบ่อน้ำดังกล่าวเป็นการขุดโดย UNHCR ในบริเวณหมู่บ้านหนองจาน เป็นหลักฐานชัดว่าคนไทย 7 คนโดนจับในแผ่นดินไทย เป็นการกล่าวหาที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เพราะเป็นการเอา SITE II ซึ่งอยู่คนละพื้นที่ เพียงแค่มีคำว่าหนองจาน ก็เข้าใจไปเองว่าเป็นพื้นที่บริเวณบ้านหนองจานทั้งที่ความหมายคือ นำเอาคนจากค่ายหนองจานมาอยู่ที่ SITE II

จากที่ผมได้อธิบายทั้งหมดคงพอจะทำให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้นว่าข้อเท็จจริงในเรื่องนี้เป็นอย่างไร โดยผมจะได้สรุปชี้แจงทั้ง 5 ประเด็น ที่กลุ่มพันธมิตรฯ มีความกังวลเพื่อให้ เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องดังนี้

1. พื้นที่บริเวณบ้านหนองจานเป็นจุดที่ตั้งของยูเอ็นเอสซีอาร์ในการเข้ามาช่วยเหลือผู้อพยพหนีภัยสงครามชาวกัมพูชา

คำชี้แจง
พื้นที่บริเวณบ้านหนองจานไม่ใช่จุดที่ตั้งของยูเอ็นเอสซีอาร์ แต่เป็นค่ายของรัฐบาลเขมรสามฝ่ายภายใต้การรับรองของสหประชาชาติใช้เป็นสถานที่ดูแลประชาชนชาวกัมพูชา และโต้แย้งอำนาจรัฐบาลเฮงสัมรินที่ตั้งโดยประเทศเวียดนาม และในขณะนี้พื้นที่ดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการเจรจาปักหลักเขตแดนของสองประเทศคือไทยและกัมพูชา ซึ่งรัฐบาลยืนยันเอกสารสิทธิครอบครองที่ดินของชาวบ้านว่าอยู่ฝั่งไทยและจะดูแลให้ชาวบ้านได้ใช้สิทธิ์ในที่ดินทำกินของตัวเอง

2. 7 คนไทยถูกจับบนแผ่นดินไทยซึ่งเป็นจุดเดียวกับที่ยูเอ็นเอชซีอาร์เข้ามาตั้งศูนย์ผู้อพยพ

คำชี้แจง
7 คนไทยไม่ได้ถูกจับในจุดเดียวกับที่ยูเอ็นเอชซีอาร์เข้ามาตั้งศูนย์อพยพ เพราะค่ายอพยพของยูเอ็นเอชซีอาร์ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นที่หนองจาน

3. มีการเคลื่อนย้ายหลักเขตโดยพลการของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่

คำชี้แจง
จากรายงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงชาวบ้านที่เข้าพบนายกรัฐมนตรี ยืนยันตรงกันว่า ไม่มีการย้ายหลักเขตแดนตามความเชื่อของกลุ่มพันธมิตรฯ แต่เมื่อมีความกังวล ในเรื่องนี้ก็เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะต้องทำความเข้าใจต่อสาธารณะ อย่างไรก็ตามอยากให้เข้าใจว่างานด้านความมั่นคงไม่ใช่สิ่งที่จะอธิบายได้ในทุกประเด็นต่อสาธารณะเพราะอาจกระทบต่อสิทธิและอำนาจต่อรองของประเทศไทยได้

4. มีการเปรียบเทียบแผนภูมิที่ตั้งค่ายอพยพของยูเอ็นเอชซีอาร์กับกูเกิลเอิร์ธและระบุว่าที่ตั้งของสระน้ำอยู่ในเขตแดนไทย

คำชี้แจง
แผนภูมิค่ายอพยพที่ถูกนำมาเปรียบเทียบไม่ได้อยู่บริเวณหนองจานจึงไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกับกูเกิลเอิร์ธได้ เพราะเป็นคนละสถานที่

5. ประณามและเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการขั้นเด็ดขาดกับรัฐบาลกัมพูชาและไม่ยอมรับคำตัดสินของศาลกัมพูชาโดยต้องนำ 7 คนไทยกลับประเทศอย่างไร้ เงื่อนไข

คำชี้แจง
รัฐบาลได้ใช้ทุกช่องทางในการช่วยเหลือ 7 คนไทยให้คืนสู่มาตุภูมิโดยเร็วที่สุด ขณะเดียวกันก็จะดูแลไม่ให้การช่วยเหลือคนไทยกระทบต่อสิทธิของประเทศ และรัฐบาลย่อมมี มาตรการที่เหมาะสมหลังจากศาลกัมพูชามีคำตัดสิน ซึ่งแน่นอนว่าหากมีส่วนใดมากระทบต่อสิทธิและอธิปไตยของประเทศ รัฐบาลย่อมต้องดำเนินการในการรักษาสิทธิและอธิปไตยของชาติอย่างไม่ต้องสงสัย

ผมเขียนบทความนี้ด้วยความเศร้าลึกๆ ในใจ เพราะเรากำลังย้อนมองประวัติศาสตร์ความล่มสลายของประเทศเพื่อนบ้าน ผ่านความแตกแยกที่เกิดขึ้นภายในประเทศ น่าเศร้าไหมครับ

แต่ผมยังเชื่อเหมือนที่เคยพูดเสมอมาว่า พลังบริสุทธิ์ของประชาชนที่มีความตื่นตัวในการรักษาบ้านเมืองเป็นสิ่งที่น่าชี่นชมและควรค่าแก่การยกย่อง เพียงแต่เราน่าจะได้รับฟัง และเคารพเหตุผลซึ่งกันและกันแทนการประณามก่นด่า

เราแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ครับ แต่ต้องระมัดระวังอย่าให้กลายเป็นการเอาชนะคะคาน จนกลายเป็นช่องว่างที่อาจทำให้ประเทศอื่นนำไปใช้ประโยชน์จนส่งผล กระทบต่อ ประโยชน์ส่วนรวมของชาติ การตรวจสอบรัฐบาลเป็นสิ่งที่พึงกระทำ แต่ความหวาดระแวงที่เกินพอดี และการตัดสินใจบนความเชื่อมากกว่ายึดหลักข้อเท็จจริงเป็น อันตรายอย่างยิ่ง

ผมหวังว่ารัฐบาลและพลเมืองไทยจะร่วมกันกำหนดทิศทางของประเทศในวันนี้อย่างมีเอกภาพเพื่อรักษาสิทธิและอธิปไตยของชาติอันเป็นที่รักยิ่งของเราไว้ร่วมกัน เพื่อที่ในวันหน้าเยาวชนรุ่นหลังจะไม่ต้องมาย้อนมองประวัติศาสตร์ชาติไทยวันนี้ว่าผู้คนในสังคมเกิดความแตกแยกจนส่งผลกระทบในทางลบต่อชาติบ้านเมือง”

ด้าน นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา เข้าไปโพสต์ข้อความตอบบทความของนายศิริโชค ดังนี้ “ดีครับคุณศิริโชคฯ ที่ได้ชี้แจงข้อมูลกัน ผมได้ความรู้เพิ่มขึ้นอีกมาก แต่คำถามที่บทความนี้ยังไม่ได้ตอบชัดๆ ก็คือ...

(1) บ่อน้ำที่ “หนองจาน” ซึ่งตามข้อมูลนี้ไม่ได้เป็นค่ายของ UNHCR แต่เป็นค่ายเขมรเสรีและผู้อพยพที่ได้รับการดูแลจาก UNBRO ซึ่งทั้งไทยและ UN ในขณะนั้นก็สนับสนุนอยู่นั้น อยู่บนแผ่นดินไทยหรือเปล่า?

(2) และไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ที่คุณสรุปในข้อ 1 ตอนท้ายว่า “...ในขณะนี้พื้นที่ดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการเจรจาปักหลักเขตแดนของสองประเทศคือไทยและกัมพูชา ซึ่งรัฐบาลยืนยันเอกสารสิทธิ์ครอบครองที่ดินของชาวบ้านว่าอยู่ฝั่งไทย และจะดูแลให้ชาวบ้านได้ใช้สิทธิ์ในที่ดินทำกินของตัวเอง...” อันนี้ผมเห็นด้วย 20,000% ก็ในเมื่อยังตกลงกันไม่ได้ แล้วคนของรัฐหลายคน (ไม่ใช่นายกฯ) ออกมาบอกว่าคนไทยที่ถูกจับล้ำแดนกัมพูชาได้ยังไง?? และยอมรับอำนาจอธิปไตยของกัมพูชาในการยอมขึ้นศาลโดยรัฐบาล ไม่ได้ประท้วงและกดดันด้วยมาตรการอื่นได้ยังไง??? ทั้งๆ ที่สวนทางกับคำแถลงจุดยืนของรัฐบาลโดยนายกฯเมื่อวันที่ 30 ธ.ค.2553 ที่ยอดเยี่ยมและถูกต้องแล้ว

หลักๆ มีอยู่ 2 ข้อนี้เป็นสำคัญ

ข้อมูลที่นักวิชาการฝ่ายพันธมิตรฯ ซึ่งในกรณีนี้ก็ไม่ต้องปิดบังกันละว่าคือ อ.เทพมนตรีฯ สมมติว่าพลาด - ย้ำว่าสมมติ - ก็ต้องยอมรับกัน แต่ถามว่าพลาดใน “แก่น” หรือ “กระพี้” พลาดในสารัตถะสำคัญหรือเปล่า ?

ผมคิดว่า “แก่น” หรือสารัตถะที่ อ.เทพมนตรีฯพยายามอดหลับอดนอนหาข้อมูลจากทุกแหล่ง (ยกเว้นจากรัฐ) ก็คือจุดที่คนไทยทั้งเจ็ดถูกจับอยู่บนแผ่นดินไทยตั้งแต่ก่อนปี 2518 หรือ 2522 ประเด็นสำคัญไม่ใช่ว่าจุดนั้นเป็นค่ายของ UNHCR หรือค่ายเขมรเสรีภายใต้การอุปถัมภ์ของ UNBRO ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าจุดนั้นเป็นแผ่นดินไทยหรือเปล่า???

ผมนับถือคุณศิริโชคฯ มากในฐานะที่เป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ที่มีความรู้กว้างขวาง แต่อยากจะบอกด้วยความเคารพว่า ในฐานะที่ผมมีอาชีพเขียนหนังสือและเป็นบรรณาธิการมาครึ่งชีวิต บทความของคุณจะยอดเยี่ยมและจริงใจมากกว่านี้ถ้าจะตอบคำถามที่เป็น “ประเด็นหลัก” สั้นๆ ง่ายๆ ให้ครบถ้วน คือ จุดที่ 7 คนไทยถูกจับเป็นแผ่นดินไทยหรือเปล่า?? และถ้ามันเป็นแผ่นดินสีเทา ทำไมคนของรัฐจึงด่วนสรุปต่างกรรมต่างวาระต่างคำพูดแต่จงใจให้เข้าใจว่าจุดนั้นล้ำแดนกัมพูชาเข้าไป ??? แต่บทความที่ไม่ตอบคำถาม ที่เป็นประเด็นสำคัญนี้กลับมี “น้ำเสียง” และ “ท่วงทำนอง” ที่มุ่งกระโจนเข้างับเหยื่อคือนักวิชาการพันธมิตรฯ ที่อาจจะพลาดเรื่อง UNHCR-UNBRO-ค่ายเขมรเสรี-Site 2 ได้ อย่างยอดเยี่ยมและเนียนมาก เหมือนกับจะสื่ออย่างมีศิลปะในการเขียนอย่างสูงว่าแค่ข้อมูลพื้นฐานที่ควรจะรู้ยังพลาด แล้วจะเชื่อข้อสรุปได้ยังไง

ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งครับกับที่คุณกล่าวในตอนท้ายประโยคหนึ่งว่า “เราแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ แต่ต้องระมัดระวังอย่าให้กลายเป็นการเอาชนะคะคาน...” ก็ขอให้ยึดมั่นอย่าง จริงจังกันทุกฝ่าย

ขอแลกเปลี่ยนความเห็นมาด้วยความเคารพและจริงใจ”
ภาพที่นายศิริโชคใช้ประกอบคำชี้แจง 2
ภาพที่นายศิริโชคใช้ประกอบคำชี้แจง 3
ภาพที่นายศิริโชคใช้ประกอบคำชี้แจง 4
กำลังโหลดความคิดเห็น