วิปรัฐบาลพร้อมระดม ส.ส.ร่วมประชุมสภา ไม่หวั่นหางแดงปิดล้อม เชื่อชุมนุมสงบ วอนฝ่ายค้านร่วมมือ ขณะเดียวกัน ไม่ขัดวุฒิสภาเปิดอภิปรายทั่วไป แต่ต้องดูเวลาและสถานการณ์ที่เหมาะสม เชื่อการเจรจายังมีความเป็นไปได้ แต่หากยื่นเงือนไขให้ “นช.แม้ว” กลับประเทศ โดยไม่ต้องรับผิดคงคุยกันลำบาก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวิทยา แก้วภราดัย ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ได้เปลี่ยนสถานที่ประชุมวิปรัฐบาลมาเป็นที่พรรคประชาธิปัตย์แทน เนื่องจากรับทราบว่า ทางสภาผู้แทนราษฎร ได้มีการเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ทหาร และตำรวจ เพื่อดูแลรักษาความปลอดภัยอาคารรัฐสภา สำหรับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 24 มี.ค.นี้ ทำให้ทางวิปรัฐบาลต้องเปลี่ยนสถานที่การประชุมกะทันหัน โดยมาใช้ที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์แทน
นายวิทยา แถลงภายหลังการประชุม ว่า วิปรัฐบาลมีความเห็นตรงกันว่าตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมาได้เห็นทุกฝ่ายดำเนินการด้วยสันติวิธี ที่ถือเป็นแนวทางปฏิบัติ และเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมทุกฝ่ายจะช่วยหาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกัน ดังนั้น นับจากพรุ่งนี้ (24 มี.ค.) เป็นต้นไป พรรคร่วมรัฐบาลจะเข้าร่วมประชุมสภาทุกครั้ง ส่วนกรณีที่ฝ่ายค้านจะไม่เข้าประชุมสภานั้น ตนขอเรียกร้องให้พรรคฝ่ายค้านดูสถานการณ์ หากสถานการณ์ไม่เลวร้ายเกินไปก็ขอให้ทุกคนเข้าร่วมประชุมสภา โดยเฉพาะ ส.ส.รัฐบาลทุกคนต้องมาประชุม ในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาลวิปรัฐบาลคนใดที่มีหน้าที่ดูแล ส.ส.ต้องเข้ารายงานต่อที่ประชุมวิปรัฐบาลเป็นระยะๆ หากส.ส.คนใดไม่ป่วยก็ขอให้เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพียงกัน
ส่วนกรณีที่ ส.ว.ขอเปิดอภิปรายไม่โดยไม่ลงมติเพื่อให้รับบาลชี้แจงต่อสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น นายวิทยา กล่าวว่า ที่ประชุมวิปเห็นว่า หากสถานการณ์เหมาะสมรัฐบาลก็ควรจะหาทางเปิดประชุม เพื่อร่วมกันพิจารณาหาทางออก และรัฐบาลจะมีโอกาศชี้แจง แต่ทั้งนี้ ต้องดูความเหมาะสมอของสถานการณ์เป็นหลัก และยืนยันว่าทางวิปรัฐบาลจะทำหน้าที่ให้สมบูรณ์แบบจนกว่าจะครบสมัยการประชุม
“ถึงวันนี้ค่อนข้างมั่นใจได้ว่าผู้ชุมนุมจะไม่ไปขัดขวางการทำหน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ดังนั้นยืนยันว่าจะมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 24 มี.ค.นี้แน่นอน สำหรับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ถ้ามีเรื่องของนายกรัฐมนตรีที่จะต้องตอบก็จะต้องเข้าประชุมด้วย ในฐานะที่ท่านก็เป็น ส.ส.ก็ต้องเข้าร่วมประชุม”
ผู้สื่อข่าวถามว่า กังวลหรือไม่ว่าทางกลุ่มผู้ชุมนุมจะไปปิดล้อมที่รัฐสภา นายวิทยา กล่าวว่า ฟังจากที่แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมพูด ก็น่าจะเชื่อได้ เพราะไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องไปปิดล้อมรัฐสภา เมื่อถามว่ามั่นใจว่าจะมีผู้เข้าร่วมประชุมครบจนสามารถเปิดการประชุมได้ใช่หรือไม่ นายวิยา กล่าวว่า ในการประชุมสภาฯ 2 ครั้งที่ผ่านมา วิปรัฐบาลลงมติเองว่าจะเป็นการท้าทายสถานการณ์เกินไป จึงได้มีมติไม่เข้าประชุม แต่ในวันที่ 24 มี.ค.นี้เราคิดว่าสถานการณ์ค่อนข้างคลี่คลายไปในระดับหนึ่ง โดยทุกฝ่ายยึดมั่นในแนวทางสันติวิธีจริงๆ ดังนั้น ทางสภาก็จะทำหน้าที่ให้เป็นปกติ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ได้หารือนอกรอบกับพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว และวันนี้วิปรัฐบาลก็จะมีมติอย่างเป็นทางการออกมาอีกครั้ง
ส่วนหากเกิดปัญหาผู้ชุมนุมมาปิดล้อมจะมีการเปลี่ยนสถานที่การประชุมสภาหรือไม่ นายวิทยา กล่าวว่า เป็นเรื่องของฝ่ายความมั่นคงที่จะต้องดูแลเตรียมการในเรื่องการรักษาความปลอดภัย แต่ยืนยันว่าการประชุมสภาจะต้องดำเนินการที่รัฐสภาเท่านั้น ส่วนที่มีสมาชิกพรรคเพื่อไทยออกมาพูดเรื่องการบอยคอตการทำหน้าที่ในสภานั้น ตนคิดว่าเป็นเพียงความเห็นของบางคนเท่านั้น ยังไม่ใช่มติของพรรคเพื่อไทย
สำหรับการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มเสื้อแดงที่ล้มไปแล้วนั้น นายวิทยา กล่าวว่า ก็ยังมีการเสนอเรื่องการเปิดโต๊ะเจรจา ดังนั้นถ้ายังพูดแบบนี้อยู่ คิดว่าก็ยังมีแนวทางที่จะเกิดขึ้นได้ เพียงแต่ระยะเริ่มต้นข้อเรียกร้องอาจจะสูงกันไปหน่อย ถ้าลดลงมาในระดับที่ทำให้มีการเริ่มต้นได้ กระบวนการเจรจาก็จะเดินหน้าต่อไปได้
เมื่อถามว่า คิดว่า ทางรัฐบาลจะต้องเสนอชื่อบุคคลที่มีลักษณะอ่อนโยนมากกว่านี้ในการไปทำหน้าที่เจรจาหรือไม่ นายวิทยา กล่าวว่า ตนคิดว่าสำหรับนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รมว.ศึกษาธิการ ก็มีความอ่อนโยนเพียงพอ เพราะไม่ได้เป็นคนที่แข็งกร้าวอะไร เมื่อถามว่าควรจะเสนอคนอื่นเช่น นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ หรือนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข ตามที่ นายพายัพ ชินวัตร เสนอมาหรือไม่ นายวิทยา กล่าวว่า ก็เป็นข้อเสนอมา เพียงแต่ว่าฝ่ายที่จะเจรจาด้วยยังไม่บอกว่าจะให้ไปเจรจากับใคร ฝ่ายผู้ชุมนุมก็ควรจะบอกมาด้วยว่าจะให้ไปเจรจากับใคร
ผู้สื่อข่าวถามว่า ความต้องการของฝ่ายผู้ชุมนุมค่อนข้างชัดเจนว่า ต้องการนำ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กลับประเทศ โดยไม่ต้องถูกดำเนินคดี นายวิทยา กล่าวว่า ประเด็นเรื่องการนำ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมานั้น เป็นเพียงข้อเสนอของน้องชาย พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ว่าทางกลุ่มผู้ชุมนุมก็ยังยืนยันในเรื่องการยุบสภา แต่เมื่อไหร่ที่กลุ่มผู้ชุมนุมหันไปเรียกร้องเรื่องการนำ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมา ก็จะไม่ใช่เรื่องการเรียกร้องทางการเมืองอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัวและเป็นการทับซ้อนในเรื่องผลประโยชน์ ซึ่งทางการเมืองคงคุยกันลำบาก