xs
xsm
sm
md
lg

รบ.สั่งแจงนิยาม “ไพร่-อำมาตย์” หวั่นปมเกลียดชังย้อนยุคคอมมิวนิสต์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สาทิตย์ วงศ์หนองเตย
รมต.สำนักนายกฯ ประณาม “แม้ว-สาวก” หยิบประเด็นการแบ่งแยกชนชั้น ใช้เป็นเงื่อนไขปลุกระดมสร้างความเกลียดชังในสังคม สั่งการ รมต.ทุกกระทรวงเร่งแจงคำนิยาม “ไพร่-อำมาตย์” ให้ชัด หวั่นซ้ำรอยยุคคอมมิวนิสต์ ยัน สงครามชนชั้นหมดไปนานแล้ว ระบุ นายกฯ ยังขอทำงานต่อที่ราบ 11 เกรงถูกปิดล้อมหากเดินทางเข้าทำเนียบ-สภา

วันนี้ (18 มี.ค.) ที่กรมทหาราบที่ 11 นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ได้พูดถึงการแบ่งชนชั้น และอำมาตย์ ว่า จริงๆ ก็ห่วงใย เพราะว่าเงื่อนไขที่อดีตนายกฯ สร้างเรื่องสงครามชนชั้นนั้น เป็นเงื่อนไขที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงได้ เพราะว่าสิ่งที่อดีตนายกฯ ใช้ในการถกเงื่อนไข นั้นใช้สิ่งที่อยู่ในใจของชาวบ้าน ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงและผสมกับข้อมูลที่เป็นเท็จจริง คือ ชาวบ้านยังมีปัญหาอยู่จริง เช่น ความไม่เป็นธรรม ขนาดที่ดินทำกิน ปัญหาหนี้สิน ปัญหาความยากจน แต่ในขณะเดียวกัน ที่อดีตนายกฯ พยายามอธิบายว่านี่เป็นเรื่องอำมาตย์ กับเรื่องไพร่ แต่นิยามคำว่าไพร่กับอำมาตย์ มันไม่ชัด เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะเกิดการใช้เงื่อนไขเหมือนคอมมิวนิสต์สมัยเมื่อ 30 ปีที่แล้ว นั้นก็อาจเป็นได้ ฉะนั้น สิ่งที่รัฐบาลทำก็คือ การอธิบาย ซึ่งเมื่อคืนก็ได้ทำหน้าที่นี้ แต่ก็ต้องทำในรูปแบบที่กว้างขวางขึ้น

นายสาทิตย์ กล่าวต่อว่า การให้ข้อมูลข้อเท็จจริงกับประชาชน พร้อมทั้งคำอธิบายคำว่าอำมาตย์ และไพร่คืออะไร ที่สำคัญ วันนี้รัฐบาลก็จะได้ให้ทางรัฐมนตรีแต่ละกระทรวง หรือผู้ปฏิบัติ ออกไปชี้แจงแนวทางในการช่วยเหลือคนยากจน หรือปัญหาที่ดินทำกิน และปัญหาหนี้สินที่เกิดขึ้นในประเทศไทย อาทิ โครงการประกันรายได้เกษตรกร เรื่องโฉนดชุมชนโครงการบ้านมั่นคง ปัญหาหนี้สินนอกระบบ ฯลฯ ซึ่งจะต้องทำการชี้แจงอย่างเป็นระบบ อีกทั้งต้องทำผ่านสื่อ และเครือข่ายที่อยู่ในต่างจังหวัด ซึ่ง กอ.รมน.ก็จะรับผิดชอบเรื่องนี้ต่อไป และยังได้ขอความร่วมมือไปยังบรรดานักวิชาการ สถานศึกษาต่างๆ ที่ศึกษาในเรื่องนี้ ได้ช่วยกันชี้แจงด้วย ซึ่งถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญที่จะนำไปสู่ความขัดแย้ง ที่พาประเทศไทยกลับไปสู่ยุคสงครามคอมมิวนิสต์ได้

เมื่อถามว่า เป็นห่วงไหมว่าความคิดแบบเดิมๆ แบบนี้จะย้อนกลับมาได้อีก รมว.ประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า เป็นห่วงมาก เพราะดูแนวทางอดีตนายกฯ คงจะใช้เงื่อนไขนี้ปลุกระดม ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วนั้น สงครามชนชั้นอย่างที่อดีตนายกฯ อธิบายนั้น ไม่มีข้อเท็จจริงอยู่แล้วในสังคมไทยในยุคนี้ เพราะว่าการมีส่วนร่วมทางการเมืองของภาคประชาชน ภาคการเมืองนั้น มันสูงมาก และกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะมันมีการมีส่วนร่วมของประชาชนคนยากจนในทุกภาคส่วน ซึ่งวันนี้นายกฯ ได้มีการสั่งการในที่ประชุม ศอ.รส.นั้น ทางเราต้องทำการชี้แจงกันเยอะ เพื่อชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลมีนโยบายในการแก้ไขปัญหาเพื่อคนยากจน ปัญหาที่ดินทำกิน และปัญหาหนี้สิน ซึ่งเป็นเงื่อนไขในการต่อสู้ทางชนชั้นที่ยาวนาน

เมื่อถามว่า ในประชุม ศอ.รส.ประเมินอย่างไรที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ออกมากล่าวว่า จากนี้ไปอีก 7 วันการต่อสู้จะเข้มข้นตรงนี้จะนำไปความรุนแรงอย่างไรหรือไม่ นายสาทิตย์ กล่าวว่า ทางศอ.รส.ก็มีการคุยกันทั้ง 2 ด้าน คือ ด้านที่เป็นห่วงอย่างเช่นปัญหาจราจร เรื่องความรุนแรง เรื่องที่ชุมนุมที่อาจจะกีดขวางการเดินทางสัญจร และเรื่องงานกาชาด และอีกเรื่องคือกระบวนการแก้ปัญหา ก็ต้องนำมาสู่กระบวนการทางการเมือง วันนี้ คณะกรรมการสิทธิฯ เองก็มีการประสานงาน ทางนายกฯเองได้ประชุมร่วมกันและมีการกำหนดทิศทาง เชื่อว่า ตรงนี้น่าจะเป็นทางออกที่ดี และใน ศอ.รส.เองก็เห็นว่ากระบวนการแก้ปัญหา ด้วยการใช้กระบวนการทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยก็เป็นทางออกของการชุมนุม และต้องขึ้นอยู่กับพื้นฐานของผู้ชุมนุม ที่ต้องยอมรับกติกาที่ถูกสร้างขึ้นโดยกรรมการสิทธิฯ ที่พยายามเสนอตัวเข้ามาช่วย เมื่อถามต่อว่ามีความเป็นห่วงในกลุ่มเสื้อแดงหรือไม่ ที่เริ่มมีความแตกแยกในกลุ่มเสื้อแดงนายสาทิตย์ กล่าวว่า ยังไม่ไว้วางใจ เรื่องสถานการณ์ ที่อาจจะมีบางฝ่ายที่ยังต้องการก่อความรุนแรง

เมื่อถามว่า การทำงานของรัฐบาล ยังจะอยู่แบบนี้ไปอีกนานแค่ไหน นายสาทิตย์ กล่าวว่า อย่างที่นายกฯ กล่าวไป คือ พยายามทำงานให้เหมือนปกติในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ งานที่หลายอย่างที่เมื่อออกไปแล้วเป็นเงื่อนไขที่นำไปสู่ความขัดแย้งได้อาทิไปแล้วถูกปิดล้อม รัฐบาลก็ไม่อยากทำ และเมื่อกรรมการสิทธิฯ เสนอว่า ในข้อตกลงที่ นปช.กรรมการสิทธิฯ กับรัฐบาลคุยกันมีเงื่อนไขเรื่องการปิดล้อมสถานที่อยู่ด้วย เช่น ต้องไม่ไปปิดล้อมทำเนียบ รัฐสภา บ้านพักอาศัย เขตพระราชฐานนั้น ก็เป็นสิ่งที่ดี ในสัปดาห์หน้าก็ควรมีการทำงานให้เป็นปกติมากขึ้น ส่วนจะกลับเข้าทำงานที่ทำเนียบเมื่อไรนั้น ยังไม่ได้มีการพุดคุย แต่จะพยายามทำให้เป็นปกติมากขึ้น นายกฯเองก็เอางานมาเซ็นที่กรมทหารราบ 11 เป็นจำนวนมากอยู่แล้ว

นายสาทิตย์ กล่าวถึงเรื่องกรณีคลิปเสียงด้วยว่า เรื่องนี้ชัดเจนมาก ทางกองพิสูจน์หลักฐานก็ยืนยันชัดเจน กระบวนการเรื่องคลิปเสียงได้ไปสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว และเมื่อมีการนำมาขยายความอีก นายกฯก็จำเป็นที่จะต้องใช้สิทธิ์ และที่นายกฯมีความกังวลมาก คือ การชุมนุมของคนเสื้อแดงในวันที่ 20 มีนาคมนี้ ที่จะมีการเคลื่อนไปรอบ กทม.นั้น ก็ได้สั่งการให้ทางนครบาลไปคุยกับผู้ชุมนุมว่าแผนคืออะไร เพื่อจะได้อำนวยความสะดวก

เมื่อถามว่า รัฐบาลได้มีการประเมินการแสดงออกของคนเสื้อแดง ว่า จะส่งผลเสียต่อประเทศชาติอย่างไร นายสาทิตย์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่เขาต้องประเมินเอง ทางรัฐบาลต้องการจะสื่อให้เห็นว่า จริงแล้วเงื่อนไขในการชุมนุมนั้นสามารถที่จะแก้ไขได้ โดยกระบวนการประชาธิปไตย และเงื่อนไขอย่างสงครามชนชั้นอะไรนั้น ก็เป็นเงื่อนไขที่รัฐพยายามอธิบายว่า มันไม่ใช่เงื่อนไขของการเคลื่อนไหวอีกต่อไป และถ้าทุกคนยอมรับกติกา และถอยกลับไปสู่กระบวนการเจรจา หรือรัฐสภา ทุกอย่างก็จะไปในทิศทางที่ดี คิดว่าผู้ชุมนุมหลายคนเหนื่อล้า ชาวบ้านใน กทม.เองก็ เริ่มมีคำถามว่าเมื่อไรจะสงบสุขชีวิตจะได้ไปสู่ปกติ รัฐบาลมีหน้าทีที่ต้องหาวิถีทางให้กลับไปสู่ปกติ
กำลังโหลดความคิดเห็น