xs
xsm
sm
md
lg

“สาทิตย์” เตือนทุกสื่อเป็นเป้าหมายถูกแดงป่วน โยน ICT สอบ SMS ชวนถอนเงิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
“สาทิตย์” เผยรัฐเร่งทำความเข้าใจประชาชน ยันไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งเสื้อแดง นัดผู้บริหารสื่อแจงแนวทางปฏิบัติเจ้าหน้าที่หากใช้ พ.ร.บ. พร้อมออกรายการพิเศษแจงการทำงานรับมือม็อบพรุ่งนี้ รับทุกสื่อเป็นเป้าหมายถูกแดงยึด แนะต้องระมัดระวังตัว หากแกนนำคุมมวลชนไม่ได้ เชื่อหลังประกาศ พ.ร.บ.มั่นคงฯ แล้วจะคุมง่ายขึ้น โยนไอซีทีสอบมือมืดส่ง SMS ให้คนแห่ถอนเงิน



วันนี้ (9 มี.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับประชาชนก่อนที่จะมีการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ในฐานะที่ดูแลสื่อว่า รัฐบาลจะดำเนินการใน 2 เรื่อง คือ เร่งทำความข้าใจต่อประชาชนในเรื่องของจุดยืนรัฐบาลว่า รัฐบาลไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งกับคนเสื้อแดง แต่รัฐบาลมีหน้าที่รักษาความสงบให้กับประชาชน และประเทศชาติ รัฐบาลเคารพการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ ที่สงบปราศจากอาวุธ และพร้อมที่จะอำนวยความสะดวกทั้งหมด ทั้งที่จอดรถ หรือการจัดรถในการเคลื่อนย้ายเพื่อให้ผู้ชุมนุมสามารถเข้ามาได้ และต้องอำนวยความสะดวกให้ประชาชนใน กทม. รถดับเพลิง รถพยาบาล ต้องมีเส้นทางที่สามารถวิ่งได้ และคนที่ต้องสัญจรไปมา

นายสาทิตย์กล่าวต่อว่า ถ้าการชุมนุมผ่านไปด้วยความสงบเรียบร้อยบ้านเมืองก็จะเดินหน้าต่อไปได้ จะไม่มีอะไรมาทำลายความเชื่อมั่นลงได้

“ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจะมีการพูดคุยกับทางผู้บริหารสื่อหลายๆ ที่ และในวันที่ 10 มีนาคม ก็จะมีการประชุมผู้บริหารสื่อเพื่อชี้แจงแนวปฎิบัติของเจ้าหน้าที่ และถ้าครม.ประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ และจะชี้แจงด้วยว่า นครบาล กทม.และหน่วยงานอื่นใน กทม.จะมีแผนในการจัดการเรื่องการจราจร การดูแลคนเจ็บ การดูแลสถานที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดวินาศกรรม โดยในวันที่ 10 มีนาคม ก็มีรายการพิเศษ ทางช่อง 11 ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงตั้งแต่เวลา 22.00-24.00 น. ที่จะให้หน่วยงานต่างๆ ได้ชี้แจงเรื่องแผนรองรับการชุมนุมหากมีปัญหาที่ทำให้ การจราจรติดขัด หรือ กรณีการเกิดเหตุจลาจลแบบเมื่อวันที่ 11-12 เมษายนที่ผ่านมา ก็ต้องเตรียมพร้อมผังรายการของสื่อของรัฐให้เป็นสื่อเพื่อข้อมูลข่าวสารของประชาชน โดยจะมีการเกาะสัญญาณทั่วประเทศจากช่อง 11 และสถานีวิทยุทั่วประเทศของทุกกองทัพ ตำรวจ อสมท.และเครือข่ายวิทยุชุมชน” นายสาทิตย์กล่าว

นายสาทิตย์กล่าวต่อว่า หากสถานการณ์ ยังเป็นเช่นนี้คงจะยังไม่มีในเรื่องการตอบข้อซักถามใดๆ เพราะเป็นเรื่องของการชี้แจงเบื้องต้นในวันที่ 10-12 มีนาคมก็น่าจะเพียงพอ แต่ถ้าสถานการณ์เปลี่ยนไปในเชิงรุนแรงขึ้นก็จะมีการปรับผังรายการใหม่ ส่วนผู้ที่จะไปร่วมในรายการชี้แจงทำความเข้าใจก็จะเป็นตัวแทนในระดับปฏิบัติจากทุกหน่วยงาน อาทิ ทหาร ตำรวจ และพลเรือน

เมื่อถามว่าจะดูแลสถานที่เป้าหมายอย่างช่อง 11 อย่างไร นายสาทิตย์กล่าวว่า เป้าหมายมีหลายที่ เป้าหมายในครั้งนี้จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ กลุ่มเสื้อแดงที่มาก็มีความแตกแยกกัน มีหลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มก็อาจจะมีการปฏิบัติที่ไม่แน่ใจว่าแกนนำจะสามารถควบคุมได้ ตนคิดว่าสื่อทุกทีโดยเฉพาะทีวีต้องระมัดระวัง ช่อง11 หรือช่อง 9 ช่อง 5 ที่เป็นสื่อของรัฐ โดยเฉพาะช่อง 11 ก็จะมีแผนในการที่จะดูแลกรณีเกิดสถานการณ์วิกฤตรองรับอยู่ ขอกำลังเจ้าหน้าที่ไปช่วยดูแล อยากให้กลุ่มคนเสื้อแดงเข้าใจว่า สื่อมีหน้าที่ที่จะนำข้อเท็จจริงไปสู่ประชาชน และอำนวยความสะดวกให้ข้อมูลต่อประชาชน

เมื่อถามว่า สื่อที่จะตกเป้าหมายนั้น ทราบเพราะการข่าวหรืออย่างไร นายสาทิตย์กล่าวว่า กลุ่มคนเสื้อแดงพูดเองว่าในการชุมนุมกลุ่มแกนนำเสื้อแดง ว่า สงครามปฏิวัติประชาชน จะไปยึดสถานที่ราชการ ยึดโทรทัศน์ ยึดสถานีวิทยุเพื่อมากระจายเสียง เราก็ประเมินว่าตรงนี้คือ สัญญาณที่ส่งให้เห็นว่า ทุกที่เป็นเป้าหมายหมด และด้วยความที่คนเขามาก อาจจะมีที่ไม่ชอบใจสถานีใดสถานีหนึ่ง รายการใดรายการหนึ่งก็อาจจะชักชวนพวกไปได้ต้องระมัดระวัง

“สิ่งที่เรากลัวว่าในการชุมนุมวันที่ 13-14 นี้ ถ้าชุมนุมอยู่ระบบ ในที่ควบคุมได้ปัญหาก็ง่าย ในการดูแล แต่มีหลายกลุ่มคุมไม่ได้ ไม่รู้ใครไปไหน แล้วยังมีมือที่ 3 ที่พร้อมก่อสถานการณ์อีก เจ้าหน้าที่ก็ต้องทำงานหนักเป็นพิเศษ เราก็จะขอ ครม.ใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงและ พ.ร.บ.ป้องกันภัยสาธารณะ ที่เรียกเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนได้และเจ้าหน้าที่ ที่ออกปฎิบัติงานนั้น ถือเป็นเจ้าพนักงานไม่ใช่ผู้ช่วยเจ้าพนักงาน มีอำนาจดำเนินการได้อย่างเต็มที่” นายสาทิตย์กล่าว

เมื่อถามว่า หนังสือพิมพ์แนวหน้าและสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสก็ตกเป็นเป้าหมายด้วยนั้น นายสาทิตย์กล่าวว่า ทุกที่มีโอกาสที่เป็นจุดเสี่ยงได้รับผลกระทบด้วยกันทั้งหมด โดยเหตุว่ากลุ่มผู้ชุมนุมมีจำนวนมากและไม่แน่ใจว่าจะคุมกันเองได้ อาจจะมีกลุ่มย่อยฉวยโอกาสไปสร้างสถานการณ์อื่นได้ เจ้าหน้าที่คงต้องทำงานหนัก เมื่อถามย้ำว่าจะทำอย่างไรหากประชาชนไม่เชื่อข่าวสารจากภาครัฐ นายสาทิตย์กล่าวว่า รัฐบาลมีหน้าที่ทำความเข้าใจ คงจะไม่ใช่เฉพาะสื่อที่กล่าวไปอย่างเดียว

เมื่อถามว่า กับกรณีสถานีวิทยุชุมุชนที่นายกฯ เคยกล่าวว่า หากจัดการกับสถานีไม่ได้ ให้จัดการกับดีเจนั้น นายสาทิตย์กล่าวว่า หากมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง การดูแลก็จะเข้มงวดขึ้น กรณีเรื่องคนจะเป็นความผิดทางอาญา หากใครพูดในเชิงที่ทำให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวาย จาบจ้วงสถาบัน หรือหมิ่นประมาทนั้นสามารถดำเนินการทางอาญาได้ทันที ส่วนในช่วงที่มีการชุมนุมคงไม่จับตาใครเป็นเพิเศษ แต่จะดูทั้งหมด

นอกจากนี้ นายสาทิตย์ยังกล่าวถึงกรณีการส่ง SMS ไปยังประชาชนว่าให้ไปถอนเงินจากธนาคารในช่วงนี้ว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการติดตามสถานการณ์ความมั่นคง (คตม.) มีการยกเรื่องนี้ขึ้นมาหารือในการประชุม ครม.คงมีการหารือ การเอาผิดกับผู้ส่งนั้นสามารถทำได้ แต่คงต้องหารือกับบริษัทที่เกี่ยวข้อง และกำลังติดตามดูอยู่ว่าคนส่งส่งแบบไหน

“SMS กำลังดูอยู่ว่าเขาใช่ระบบส่งแบบไหน เพราะเมื่อวานมีข้อมูลอยู่ และปกติการส่งSMS จะต้องผ่านโอเปอร์เรเตอร์ ที่อยู่เพียงไม่กี่เจ้า ยกเว้นว่าเขามีระบบที่ส่งใช้เฉพาะกันภายใน ก็ต้องว่าผ่านระบบต่างๆ ซึ่งอันนี้กระทรวงไอซีทีที่ดูแลก็สามารถตรวจสอบได้อยู่แล้ว และถ้า SMS ถึงขั้นที่ทำให้เกิดความแตกตื่น แล้วเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ เป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายอยู่แล้ว” นายสาทิตย์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น