จับความเคลื่อนไหว “นักโทษชายทักษิณ” ปากบอกไม่ห่วงคดียึดทรัพย์ แต่ถึงขั้นกินไม่ได้นอนไม่หลับ เล่นทวีตหามรุ่งหามค่ำ ส่อหวงเงิน 7.6 หมื่นล้าน เฝ้าหน้าจอทวีตถึงลูกรักและสาวกเสื้อแดง บอกไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ขออยู่ด้วยกันตลอดไป พร้อมยันเงินที่หามาได้ใช้หยาดเหงื่อและมันสมอง ไม่ได้โกงมาอย่างที่ถูกกล่าวหา ย้ำปี 37 แจงบัญชีทรัพย์สิน 60,000 ล้าน
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้ต้องหาหลบหนีคดีทุจริต ได้โพสต์ข้อความผ่านเว็บไซต์ทวิตเตอร์ ในนาม Thaksinlive โดยส่งข้อความถึงลูกสาวคนเล็ก แพทองธาร ชินวัตร ว่า “Sleep tight, don't worry. We will be together forever regardless what's happening loog rak” ซึ่งแปลความคร่าวๆ มีใจความว่า “หลับเถอะไม่ต้องกังวลใจ เราจะอยู่ร่วมกันตลอดไปไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นลูกรัก”
ต่อจากนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ได้โพสต์ข้อความอีกว่า ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร น้ำใจของพี่น้องคนเสื้อแดงที่คอยห่วงใยและให้กำลังใจตนและครอบครัวมาตลอด มันเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่ตนและครอบครัวจะจดจำไปตลอดนานแสนนาน และจะไม่มีวันลืมเลือน
นอกจากนี้ ได้โพสต์ข้อความยืนยันว่าเงินทั้งหมดเป็นเงินของตนและครอบครัวที่หามาได้ด้วยหยาดเหงื่อรวมทั้งมันสมอง โดยไม่ได้โกงมาอย่างที่ถูกกล่าวหา อีกทั้งเมื่อปี 2537 ได้แจ้งบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. ไปทั้งหมด 60,000 ล้านบาท
อนึ่ง จากการสืบค้นข้อมูลย้อนหลัง พบว่า เมื่อปี 2537 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ชี้มูลความผิดว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ปกปิด ไม่แจ้งทรัพย์สิน โดยโอนหุ้นไปให้แก่คนใกล้ชิด คนขับรถ และคนรับใช้ ถือแทน มีมูลค่าหุ้นจำนวน 646.984 ล้านบาท (จากมูลค่ารวมทั้งหมดที่ครอบครองกว่า 60,000 ล้านบาท) โดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชี้แจง ต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า เอกสารการแจ้งบัญชีทรัพย์สินของ ป.ป.ช.ไม่ชัดเจน อีกทั้งตนเองก็โอนหุ้นนี้ให้ภริยานานแล้ว ก่อนที่จะเข้ามาสู่วงการเมือง แต่ ป.ป.ช.ชี้แจงว่า สามีภริยาย่อมเป็นบุคคลเดียวกันตามกฎหมาย ซึ่งจะต้องรับผิดชอบร่วมกัน
ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินในประเด็นนี้ว่า การพิพากษาตัดสินคดีที่มีผลต่อการดำรงตำแหน่งผู้นำทางการเมืองของประเทศ จะใช้การอนุมานเอาตามกฎหมายไม่ได้ ป.ป.ช.จะต้องนำสืบให้ได้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ทราบหรือไม่ว่าภริยาโอนหุ้นไปให้แก่คนอื่นถือไว้แทนตน เพราะในข้อเท็จจริงสามีไม่จำเป็นจะต้องทราบสิ่งที่ภริยาทำทุกเรื่อง ซึ่ง ป.ป.ช.ไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่า พ.ต.ท.ทักษิณ รับรู้การโอนหุ้นครั้งนี้ (คดีนี้ไม่ใช่คดีแพ่ง ที่สามีภริยามีหน้าที่รับผิดชอบร่วมกัน หากมีการละเมิดเกิดขึ้น แต่เป็นคดีคล้ายคดีอาญา ที่จะต้องพิสูจน์ให้ชัดเจนว่า จำเลยทราบการกระทำของภริยาหรือไม่) โดยศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยคดีนี้เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2544