“เทพไท” รู้ทันเสื้อแดงนัดชุมนุมใหญ่รับลมร้อน มี.ค.แค่กลลวง เตือนฝ่ายมั่นคงอย่าชะล่าใจ เชื่อไม่มีสัจจะในหมู่โจร เตรียมใช้วิทยุชุมชนนัดระดมพลบุกกรุงหลังรู้คำตัดสินหาก “แม้ว” เป่านกหวีด ด้าน ปชป.ประเมิน 3 ปัจจัย ทำไข่แม้วแดงชะงักเคลื่อนไหว ด้าน “บัญญัติ” ลากไส้แม้วคนไม่ยอมรับผิด เชื่อยังป่วนเมืองแน่ เป้าต่อไปคือรัฐบาล แนะตั้งรับให้มั่น
วันนี้ (23 ก.พ.) นายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมพรรคว่า ตามที่แกนนนำ นปช.ได้ประกาศว่าจะมีการชุมนุมใหญ่ในต้นเดือนมีนาคมนั้น อาจจะเป็นกลลวงที่ทำให้ฝ่ายรัฐบาลตายใจได้เพราะมีสายข่าวได้รายงานให้ทราบว่ามีการเคลื่อนไหวอย่างผิดปกติในพื้นที่หลายจังหวัดในภาคอีสานที่มีการระดมแกนนำ ในระดับต่างๆ เพื่อมาเตรียมพร้อมนำมวลชนเข้าชุมนุมใหญ่ที่ กทม. โดยใช้เครือข่ายของ ส.ส.พรรคเพื่อไทยเป็นแกนหลักในการปฏิบัติงานและมีการสั่งเตรียมพร้อมตลอดเวลา เมื่อมีสัญญาณผ่านจากนายใหญ่โดยจะประกาศผ่านวิทยุชุมชนระดมมวลชนในทันที เพราะฉะนั้น การประกาศว่าจะไม่มีการชมุนุมใหญ่ก่อนวันที่ 26 ก.พ. ไม่มีหลักประกันใดที่คนเหล่านี้จะปฏิบัติตามคำสัญญาที่ประกาศไว้
ดังนั้น ไม่อยากให้ฝ่ายความมั่นคงนิ่งนอนใจหรือประมาทในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ต้องเตรียมพร้อมและเฝ้าระวังตลอดเวลา ยิ่งมีการประกาศจากแกนนำว่า นปช.จะไม่มีการชุมนุม แต่ก็จะเปิดโอกาสให้เป็นสิทธิ์กับคนเสื้อแดงทั่วไป สามารถชุมนุมได้โดยอิสระ
นายเทพไทกล่าวว่า ดังนั้น การกระทำของแกนนำ นปช.อาจจะเป็นการตีสองหน้าและในขณะเดียวกันกลุ่มแดงสยาม ก็ได้มีการประกาศว่ามีการชมุนุมที่ท้องสนามหลวงในวันที่ 25-27 ก.พ.นี้เป็นไปได้หรือไม่ว่า อาจจะเป็นการแบ่งบทการแสดงของแต่ละกลุ่ม โดยใช้กลุ่มแดงสยามเป็นหัวหอกในการเคลื่อนไหวและสั่งการให้มวลชนคนเสื้อแดงเข้าร่วมการชุมนุมด้วย และหากมีความรุนแรงใดๆ เกิดขึ้นแกนนำ นปช.ก็จะปฏิเสธเสื้อแดงว่า ไม่ใช่ความรับผิดชอบของตัวเอง อยากให้สังคมจับตามองความเคลื่อนไหวของนายใหญ่ ที่เป็นเจ้าของม็อบตัวจริง ที่พยายามดิ้นอย่างสุดชีวิตเพื่อไม่ให้ถูกยึดทรัพย์ 7.6 พันล้านบาท ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณเร่งด่วนในการระดมมวลชนทั้งหมดชุมนุมใหญ่ในวันที่ 26 ก.พ.นี้ก็เป็นได้ ดังนั้น ไม่อยากให้สังคมนิ่งนอนใจกับคำประกาศใดๆ ต้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะไม่มีสัจจะในหมู่โจรฉันใด ก็ไม่มีสัจจะในแกนนำคนเสื้อแดงฉันนั้น
ด้าน นพ.บุรณัชย์ สมุกรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงผลการประชุม ส.ส.พรรค ว่า ที่ประชุมได้มีการหารือถึงสถานการณ์ทางการเมือง และได้มีการประเมินก่อนและหลังวินิจฉัยคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยพรรคเห็นว่า แนวร่วมของ พ.ต.ท.ทักษิณ ทั้งกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และพรรคเพื่อไทย มีแน้วโน้มชะลอความเคลื่อนไหว โดยมาจาก 3 เหตุผลหลัก คือ 1.ปัญหาความพร้อมของมวลชน 2.แนวรบในสภาคือพรรคเพื่อไทยมีความแตกแยก และ 3.สังคมรู้ทันว่าความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงเพื่อมุ่งล้มรัฐบาล และทวงคืนทรัพย์สินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ทั้งนี้ รัฐบาลควรที่จะชี้แจงทำความเข้าใจเรื่องดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนเข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
ขณะที่ นายบุญยอด สุขถิ่นไทย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่าในที่ประชุมพรรคนายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรค ได้วิเคราะห์สถานการณ์การเมืองช่วงนี้โดยเชื่อว่า ภายหลังการตัดสินคดียึดทรัพย์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 26 ก.พ.นี้ สถานการณ์จะไม่จบ เพราะบุคลิกของ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นคนไม่ยอมรับความผิด และเมื่อมีทรัพย์สินมากก็มีต้นทุนสูง จึงทำให้พยายามที่จะกลับมา โดยล่าสุดเมื่อคืนวันที่ 22 ก.พ.ที่ผ่านมา พ.ต.ท.ทักษิณ ได้พูดผ่านวิดีโอลิงก์ว่าจะต้องนิรโทษกรรมให้ตัวเอง นอกจากนี้ นายบัญญัติยังได้ย้ำให้รัฐบาลทำความเข้าใจกับประชาชนในเรื่องที่เกิดขึ้น รวมทั้งจะต้องพยายามทำให้ประชาชนออกมาจากการร่วมสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งที่ผ่านมาเริ่มมีคนถอนตัวออกมาบ้างแล้ว
นายบุญยอดกล่าวอีกว่า นายบัญญัติยังได้ให้คำแนะนำกับรัฐบาลในเรื่องการดูแลสถานการณ์ โดยแนะนำให้ตั้งคณะกรรมการติดตามเรื่องความมั่นคง ในช่วงก่อนและหลังวันที่ 26 ก.พ. และหากสถานการณ์มีการพัฒนาไปจนต้องเพิ่มขีดความสามารถ ก็อาจจะต้องตั้งเป็นกองอำนวยการรักษาความมั่นคง ที่น่าสนับสนุนให้เกิดขึ้น คือ การให้ชุมชนออกมาปกป้องตนเอง เช่นกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนเมษาฯ เลือด หากเกิดเหตุก็ขอให้ชุมชนรวมตัวปกป้องชุมชนของตนเอง
แหล่งข่าวเผยว่า นายบัญญัติได้เสนอแนะในที่ประชุม ส.ส.พรรคว่า ในวันที่ศาลอ่านคำพิพากษา รัฐบาลควรจัดรายการวิเคราะห์ โดยเชิญนักวิเคราะห์ มาสะท้อนว่าคำพิพากษามีความหมายอย่างไร โดยให้ทำเหมือนกับการจัดรายการรายงานผลการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งจะทำให้ประชาชนเข้าใจในคำพิพากษามากขึ้น และบรรยากาศการเมืองหลังการตัดสินคดียึดทรัพย์ เชื่อว่าปฏิกริยาจะกลับมาหารัฐบาล โดยรัฐบาลจะเป็นเป้า เช่น ปัญหาการคอร์รัปชัน และการเดินเข้าสู่ศึกการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งรัฐบาลจะต้องตั้งรับให้ดี