xs
xsm
sm
md
lg

ปัจจุบันเป็นผลของอดีตและจะเป็นเหตุของอนาคต คดีซุกหุ้นภาค 1 เหตุแห่งคดี ยึดทรัพย์ 76,000 ล้านบาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อผู้ร้องกล่าวหาผู้ถูกร้องว่า จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ มีข่าวที่ค่อย ๆ เบี่ยงเบนประเด็นที่ผู้ถูกร้องถูกกล่าวหาทีละน้อย ๆ และเป็นระยะๆ ว่ า ผู้ถูกร้องประกอบธุรกิจจนร่ำรวยด้วยน้ำพักน้ำแรง ไม่มีการทุจริตผิดกฎหมาย ผู้ถูกร้องเป็นคนแรกที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินให้ประชาชนทราบ ในขณะที่ยังไม่มีกฎหมายบังคับ ผู้ถูกร้องสมัครใจยื่นรายการทรัพย์สินและหนี้สินเพิ่มเติมเอง หากศาลเห็นว่า ผู้ถูกร้องกระทำผิดก็เป็นการทำผิดโดยสุจริต ควรใช้หลักรัฐศาสตร์ชลอการตัดสินคดี หรือยกโทษให้ผู้ถูกร้องไม่ควรลงโทษผู้ถูกร้องซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนสิบกว่าล้านคน เพื่อให้โอกาสผู้ถูกร้องบริหารประเทศต่อไปอีกระยะหนึ่ง เพราะไม่มีใครดีกว่าผู้ถูกร้อง ประเทศไทยขาดผู้ถูกร้องไม่ได้ซึ่งไม่มีบทบัญญัติให้ศาลกระทำได้ และเมื่อใกล้จะถึงวันที่ศาลลงมติมีข่าวหนาหูขึ้นว่า ฝ่ายผู้สนับสนุนผู้ถูกร้องจะชุมนุมกันเพื่อกดดันศาลจะวางเพลิงเผาศาล ตลอดจนจะทำร้ายตุลาการบางคน จนกระทั่งมีการส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจไปให้ความคุ้มครองทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินไปอย่างน่าเสียดาย เป็นต้น ข่าวต่าง ๆดังกล่าวมานี้เกิดขึ้นได้อย่างไร หากมิใช่เป็นการแสดง "ความเห็นแก่ตัว" ของคน”

ข้อความยาวๆ ในย่อหน้าข้างบนนี้ อยู่ใน คำวินิจฉัยของนายประเสริฐ นาสกุล ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ในคดี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ซุกหุ้น เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2544

เวลาผ่านไปเกือบจะเก้าปีแล้ว ความเป็นไปของบ้านเมืองในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนถึงวันอ่านคำพิพากษาคดียึดทรัพย์ 76,000ล้านบาท หลายๆอย่างเหมือนกับสถานการณ์ก่อนวันศาลรัฐธรรมนูญจะอ่านคำวินิจฉัยคดีซุกหุ้น ไม่มีผิด ทั้งข้อแก้ตัวของนช. ทักษิณ ชินวัตร ว่า ทำมาหากินร่ำรวยมาก่อนที่จะมาเล่นการเมือง และความพยายามทำให้เกิดความวุ่นวาย ข่มขู่คุกคาม ผู้พิพากษา ซึ่งเป็นเพราะ “ ความเห็นแก่ตัว” ของคน

สิ่งที่ต่างกันก็คือ ถึงวันนี้แล้ว คนไทยส่วนใหญ่ รู้จักนช ทักษิณ ตัวจริงแล้วว่า เป็นอย่างไร ในขณะที่เมื่อ 9 ปีที่แล้ว คนจำนวนมากยังหลงเชื่อว่า คนรวยแล้วไม่โกง ที่มาเล่นการเมืองก็เพราะต้องการช่วยประเทศชาติ สังคมยังมองว่า เขาคือ อัศวินขี่ม้าขาว จึงเอาใจช่วยให้เขาพ้นผิด คนที่มอง นช. ทักษิณ ทะลุ ตั้งแต่วันนั้น ยังเป็นคนส่วนน้อย ซึ่งในจำนวนนั้น มีอดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญผู้ล่วงลับไปแล้วอยู่ด้วย โดยได้กล่าวถึงพฤติกรรมของ นช. ทักษิณไว้ในคำวินิจฉัยว่า

“การกระทำของผู้ถูกร้องดังกล่าวข้างต้น ย่อมแสดงให้เห็นว่าผู้ถูกร้องซึ่งเป็นผลของอดีต ยังคงคิดและทำเหมือนเดิม เหมือนนักธุรกิจคนอื่น ๆในระบบทุนนิยมในประเทศไทย แต่ยังคงเข้าใจผิดคิดว่าแนวความคิดที่จะบริหารประเทศของผู้ถูกร้องเป็นการคิดใหม่และทำใหม่ ไม่เข้าใจสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของชาติซึ่งแก้ไขไม่ได้ด้วย "เงิน" อย่างเดียว

ผู้ถูกร้องโฆษณาให้ประชาชนทราบเพียงว่าผู้ถูกร้องประสบความสำเร็จในการประกอบธุรกิจ มีเงินทองมากมาย ไม่ทุจริตผิดกฎหมาย และไม่อำพราง แล้วอุทิศตัวหันมาทำงานทางการเมืองโดยโอนการจัดการธุรกิจให้แก่คู่สมรส บุตร และเครือญาติ ผู้ถูกร้องรู้ปัญหาของบ้านเมืองดีจึงอาสาเข้ามาแก้ไข แต่ผู้ถูกร้องมิได้แสดงหรือเปิดเผยว่าความสำเร็จในการประกอบธุรกิจในอดีตของผู้ถูกร้อง ภายในระยะเวลาอันสั้นนั้นกระทำได้อย่างไรและจะแก้ปัญหาการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ของครอบครัวกับประโยชน์ของส่วนรวมหรือของชาติอย่างไร

ปัญหาของบ้านเมืองบางอย่างอาจแก้ไขได้โดยไม่ต้องใช้เงินทองเลย เพียงแต่ผู้นำของประเทศต้องประพฤติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดี โดยการคิด พูดและทำตรงกัน และชี้นำประชาชนในชาติว่าปัญหาของชาตินั้นอยู่ที่ทุกคนจะต้องร่วมมือร่วมใจกันแก้ไข ด้วยการลด ละและเลิก "ความเห็นแก่ตัว" เป็นอันดับแรก ยิ่งทำได้มากและรวดเร็วเท่าใดจะสามารถนำพาชาติบ้านเมืองให้รอดพ้นจากภาวะวิกฤติสู่ความเป็นปกติรวดเร็วมากขึ้นเท่านั้น หากไม่แก้ไขความเห็นแก่ตัวก่อนแล้ว เห็นว่า หมดหวังเพราะไม่มีทางอื่นใดที่จะแก้ไขปัญหาของชาติในเวลานี้ได้ “

นช. ทักษิณ ซึ่งในขณะนั้น เพิ่งเป็นนายกรัฐมนตรีได้เพียง 5 เดือนเศษเท่านั้น รอดพ้นจากคดีซุกหุ้นมาได้ เพราะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญลงมติด้วยคะแนนเสียง 8 ต่อ 7 ว่า นช. ทักษิณ ไม่มีความผิดฐานปกปิดทรัพย์สินตามมาตรา 295 แห่งรัฐธรรมนูญราชอาณาจักไทย 2540

8 เสียงที่วินิจฉัยว่า ไม่ผิดคือ นายกระมล ทองธรรมชาติ นายจุมพล ณ สงขลา พลโทจุล อติเรก นายผัน จันทรปาน นายศักดิ์ เตชาชาญ นายปรีชา เฉลิมวณิชย์ นายสุจินดา ยงสุนทร และ นายอนันต์ เกตุวงศ์

ส่วนเสียงข้างน้อยได้แก่ นายประเสริฐ นายมงคล สระฏัน นายสุจิต บุญบงการ นายสุวิทย์ ธีรพงษ์ นายอมร รักษาสัตย์ นายอิสระ นิติทัณฑ์ประกาศ และ นายอุระ หวังอ้อมกลาง

อย่างไรก็ตาม ในเสียงข้างมาก 8 เสียง มีอยู่ 4 เสียงคือ นายกระมล นายจุมพล นายผัน และนายศักดิ์ ที่เห็นว่า ไม่สามารถนำมาตรา 295 ของรัฐธรรมนูญปี 2540 มาบังคับใช้กับ นช. ทักษิณได้ เพราะรับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ในสมัยรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ก่อนรัฐธรรมนูญเปี 2540 จะมีผลบังคับใช้ ทั้ง 4 เสียงนี้ จึงไม่พิจารณาว่า นช.ทักษิณ ชุกหุ้นหรือไม่

ดังนั้นในฝ่ายเสียงข้างมากที่ลงมติว่า นช. ทักษิณ ไม่จงใจซุกหุ้น จึงมีเพียง 4 เสียงเท่านั้น ส่วนเสียงข้างน้อย ที่ลงมติว่า จงใจซุกหุ้น มีอยู่ 7 เสียง แต่ 4 เสียงที่ลงมติว่า นช. ทักษิณไม่จงใจซุกหุ้นถูกนำไปนับรวมกับ 4 เสียง ที่ตัดตอนตัวเอง ไปก่อนด้วยมาตรา 295 จึงกลายเป็น 8 เสียง ชนะมติ 7 เสียงที่เห็นว่า นช ทักษิณ จงใจซุกหุ้น

ตุลาการที่เห็นว่า นช ทักษิณ ไม่ได้จงใจซุกหุ้น เชื่อตามข้อต่อสู้ของ นช. ทักษิณที่ว่า ตัวเองไม่รู้มาก่อนว่า หุ้นที่โอนลอยไปให้ภรรยาก่อนหน้านั้น จะถูกนำไปให้ผู้อื่นคือ คนใช้ คนสวนคนขับรถ ถือแทน และเลขานุการของภรรยา ก็ไม่รู้ว่า ต้องแจ้งทรัพย์สินที่อยู่ในชื่อของบุคคลเหล่านี้ด้วย ดังข้อความในท้ายคำวินิจฉัยกลางว่า

“คู่สมรสของผู้ถูกร้องเองยังให้การต่อคณะอนุกรรมการตรวจสอบฯด้วยว่า ตนเองก็ยังไม่รู้ว่า เลขานุการส่วนตน ไม่ได้แจ้งหุ้นเหล่านั้นไว้ในบัญชีฯ ถ้าตนตรวจดู ก็จะรู้ และให้แจ้งไว้ เห็นได้ว่า แม้กระทั่งคู่สมรสผุ้ถูกร้อง ก็ยังไม่รู้ว่า ในขณะยื่นบัญชีฯ ทั้ง 3 ครั้งของผู้ถูกร้อง ไม่ได้แจ้งรายการหุ้นเหล่านั้นไว้ในบัญชีฯ เมื่อเจ้าของหุ้นที่แท้จริงซึ่งเป็นคู่สมรสผู้ถูกร้องยังไม่รู้ จะรับฟังได้อย่างไรว่า ผู้ถูกร้อง ต้องรู้ถึงการไม่แจ้งหุ้นเหล่านั้นไว้ในยบัยชี เช่นนี้ จึงเชื่อว่า ผุ้ถูกร้องน่าจะไม่รู้ว่า ขณะยื่นบัยชีฯทั้ง 3 ครั้ง มีหุ้นที่ให้ผู้อื่นถือแทน และยังไม่ได้แสดงไว้ในบัญชี ข้อต่อสุ้ของผุ้ถูกร้องจึงมีน้ำหนักรับฟังได้ “

ในขณะที่นายประเสริฐ วินิจฉัยข้อต่อสู้ของ นช.ทักษิณ ในเรื่องไม่รู้ ไม่เห็นว่า มีหุ้นที่ให้คนใช้ คนขับรถถือแทนอยู่ว่า

“ผู้ถูกร้องซึ่งดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นอดีตรองนายกรัฐมนตรีไทย ไม่รู้และไม่ทราบอะไร รวมทั้งการขัดกันของผลประโยชน์ของธุรกิจในครอบครัว เช่นการรับสัมปทานจากรัฐ การเป็นคู่สัญญากับรัฐอันมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอนหรือเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญาในลักษณะดังกล่าว (ถ้ามี)กับผลประโยชน์ของชาติ (มาตรา ๑๑๐ (๒))และปัดความรับผิดในหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ (มาตรา ๒๙๑ วรรคสอง)ให้แก่พนักงานบริษัทเอกชนซึ่งเป็นเพียงหญิงตัวน้อย ๆ ด้วยเหตุผลที่รับฟังไม่ได้ ส่วนคู่สมรสผู้ถูกร้องยื่นคำให้การเป็นหนังสือและไม่มาศาลให้ผู้ร้องซักค้าน แต่ผู้ถูกร้องมาและอยู่ในห้องพิจารณาของศาลนัดสุดท้ายเฉพาะเวลาที่ผู้ถูกร้องแถลงการณ์ปิดคดีเท่านั้น”

เวลาผ่านไป 9 ปี หุ้นที่ซุกไว้กับคนขับรถ คนใช้ คนสวน เพราะตอนนั้น ลูกชาย ลูกสาว ยังอายุไม่ถึง 20 ปี ต้องแจ้งทรัพย์สินที่ถือครองด้วย ถูกโยกมาซุกไว้กับลูกชาย ลูกสาว ซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว การไล่ล่า ติดตามหาว่า หุ้นที่ถูกซุกไว้เป็นของใคร ในรอบนี้ ไม่ได้ฟังแต่คำบอกเล่าของบุคคล หรือคำให้การเป็นหนังสือเท่านั้น แต่ ติดตามแกะรอยเส้นทางการเงิน การโอนย้าย ถ่ายเทหุ้น เพื่อจับให้มั่น คั้นให้ตาย ผลแห่งอดีตที่ยังไมได้รับการชำระ กำลังจะถูกสะสางในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้


กำลังโหลดความคิดเห็น