“นช.ทักษิณ” ใช้เว็บ thaksinlive เป็นเครื่องมือระบายความชั่วที่อัดแน่นสุมอก ระเบิดความแค้น กุเรื่องเท็จสมัยอดีตโจมตีชาวบ้าน มันปากร่ายยาวถึงสมัยทำธุรกิจกับ “สนธิ” ร่วมบริหารไออีซี จนถึงคราวแตกหักขายหุ้นทิ้ง พล่ามต่อบริหารอาณาจักรชินฯ จนยิ่งใหญ่ พร้อมอารัมภบทยืดเยื้อบอกชีวิตนี้ไม่เคยคิดเป็นศัตรูใคร แต่ชอบมีเหตุทำให้ขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็น “ประสงค์” “อ.ปราโมทย์” หรือแม้แต่ “อ.โต้ง”
วานนี้ (11 ก.พ.) พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้ดำรงสถานะปัจจุบันเป็นนักโทษชายหลบหนีคดีอาญา ได้เพิ่มวันในการจัดรายการ “ทอล์ก อะราวด์ เดอะเวิลด์” ผ่านทางเว็บไซต์ thaksinlive ซึ่งจากเดิมจะเป็นทุกวันอังคาร แต่ปัจจุบัน พ.ต.ท.ทักษิณ อ้างว่ามีผู้เรียกร้องมากันเยอะ อยากให้จัดรายการทุกวัน จึงทนเสียงเรียกร้องจากผู้สนับสนุนไม่ไหว เลยต้องลงทุนมานั่งพล่ามให้ฟังวันละครึ่งชั่วโมง ตั้งแต่วันจันทร์-วันศุกร์ เวลาประมาณ 20.30-21.30 น.
โดยเนื้อหาถ้อยคำในรายการของ พ.ต.ท.ทักษิณ ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 ก.พ.ที่ผ่านมาได้เล่าเท้าความหลังถึงสมัยอดีตเมื่อครั้งก่อนเป็นนายกรัฐมนตรีปล้นชาติ จนถึงปัจจุบันที่พยายามใช้สื่อทุกรูปแบบในการโฆษณาชวนเชื่อให้ผู้คนลุ่มหลงว่า ความร่ำรวยที่มีอยู่ ไม่ได้ใช้ตำแหน่งทางการเมือง เสกสรรปั้นแต่งขึ้นมา หากแต่ได้มาโดยสุจริตจากการทำธุรกิจ
ทั้งนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้เริ่มต้นการจัดรายการครั้งนี้ด้วยการเล่าย้อนถึงชีวิตที่ผ่านมาว่า หลังจากที่ตนลาออกจากหัวหน้าพรรคพลังธรรม ซึ่งตอนนั้นตรงกับปี 2539 สมัยนั้นได้เป็นรองนายกฯ ในรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา และต่อมารัฐบาลชุดดังกล่าวได้ยุบสภา ทำให้ตนมีเวลาว่างจากงานการเมือง จึงหยุดนิ่งหลายช่วง โดยตอนแรกที่ลาออกจากตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ ช่วงนั้นก็ว่างอยู่ประมาณ 2-3 เดือน ก็ได้หันไปทำอย่างอื่น พอมาอีกช่วงก็เป็นตอนที่ไปเป็นรองนายกฯ สมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ก็อยู่ได้แค่ระยะสั้นเพียง 3 เดือนเท่านั้น จากนั้นก็ว่างอีก
จากนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ตัดบทเปลี่ยนมาพูดเรื่องความสัมพันธ์ที่เคยมีต่อ นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ และหัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ ว่า “ตอนผมรู้จัก สนธิ ลิ้มทองกุล ผมเจอนายสนธิครั้งแรกที่บ้านของคุณไชยทัศน์ เตชะไพบูลย์ หรือที่เรียกว่า "โป้ยเสี่ย" ซึ่งเป็นลูกของคุณอุเทน เตชะไพบูลย์ ประธานมหานครทรัสต์ ที่ผมเคยเล่าว่าผมเคยกู้เงินจากเขาเพื่อมาซื้อที่ตรงตึกแถวราชวัตร ก็ตอนนั้นผมเป็นลูกหนี้เขา และเข้าใจว่าคุณสนธิก็คงเป็นลูกหนี้เขาเช่นกัน โดยวันนั้นได้มีการดื่มและรับประทานอาหารร่วมกัน คุณไชยทัศน์ได้แนะนำให้รู้จักกัน ตอนนั้นก็รู้สึกเฉยๆ กับคุณสนธิ ไม่ได้สนิทชิดเชื้อกัน จนมาอีกทีตอนผมทำธุรกิจแล้ว คุณสนธิขอให้ไปลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ จนมารู้จักกันมากหน่อยตอนที่ไปทำบริษัท ไออีซี ซึ่งอยู่ในเครือปูนซิเมนต์ไทย แล้วเขามีแผนอยากปรับโครงสร้างตัวเอง จึงปรับบริษัทที่ไม่เกี่ยวกับสายธุรกิจหลักออก ซึ่งบริษัท ไออีซี เป็นหนึ่งในนั้น โดยคุณสนธิตอนนั้นได้บอกผมว่าอย่าเข้าไปยุ่ง แล้วเดี๋ยวมาถือหุ้นร่วมกัน ก็ในที่สุด คุณสนธิให้ผมถือหุ้นร่วม 10% สาเหตุตอนนั้นผมทำเอไอเอสแล้ว และบริษัท ไออีซี ขายโทรศัพท์มือถือโนเกีย แต่ทั้งนี้ ผมคิดว่าเป็นการพึ่งพาอาศัยกัน” พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าว
พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวต่อว่า นายสนธิเอาหุ้นมาให้ตนถือหุ้น 10% แล้วนำบริษัทดังกล่าวเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งในที่สุดตนก็ขายหุ้นทิ้ง พร้อมกับดึงนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ หนึ่งคณะกรรมการบริษัท ไออีซี ให้มาช่วยงานเป็นที่ปรึกษาชินคอร์ป
ต่อมา พ.ต.ท.ทักษิณได้กล่าวถึงการทำธุรกิจเคเบิลทีวีที่ชื่อ "ไอบีซี" และทำธุรกิจร่วมกับนายสนธิอีกครั้ง
“ตอนนั้น ผมทำไอบีซี คุณสนธิก็ทำผู้จัดการรายวัน ผมก็เลยได้เข้ามาทำการตลาด แต่ตอนนั้นยังไม่ได้เล่นการเมืองนะครับ ซึ่งแนวคิดผมช่วงนั้น คือ การลด แลก แจก แถม คือ ถ้าใครสมัครสมาชิกบริษัท ไอบีซี ผมก็จะแถมหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันให้ โดยทางด้านคุณสนธิ ก็ขายสมาชิกแบบเหมาให้บริษัทไอบีซี ในราคาถูกลงหน่อย เพราะถึงอย่างไร บริษัทไอบีซี ช่วยทำการตลาดให้แก่หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ จะได้เผยแพร่ออกไป ซึ่งความสัมพันธ์ของผมกับคุณสนธิ ช่วงนั้นเป็นไปในทางเชิงธุรกิจ ต่อจากนั้นก็ได้ชวนกันมาทำงานต่อ จนสุดท้ายก็แตกหักกัน เป็นไงครับประเทศไทย ยุ่งเหยิงดีไหมจริงๆ” พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าว
จากนั้น สัญญาณเสียงบางช่วงได้ขาดหายไป พ.ต.ท.ทักษิณ จึงหยุดพูด เพื่อรอให้เจ้าหน้าที่แก้ไขปัญหาด้านเทคนิค หลังจากผ่านไปหลายนาที สัญญาณเสียงได้กลับมาอีกครั้ง พร้อมด้วย พ.ต.ท.ทักษิณ ได้กล่าวต่อถึงช่วงที่ดำเนินธุรกิจชินคอร์ปว่า ในช่วงวิกฤตปี 40 หลายบริษัทล้วนแล้วแต่ได้รับผลกระทบ เช่นเดียวกับชินคอร์ป ที่สมัยนั้นขาดทุนถึง 4,000 ล้านบาท ในขณะที่ธุรกิจอื่นๆ ขาดทุนเป็นหลักหมื่นล้านบาท ถามว่าทำไมถึงขาดทุนแค่นั้น ก็เพราะชินคอร์ปฯ กู้เงินจากต่างประเทศน้อย แต่ถ้าถามว่ากำไรตอนนั้นมีมากหรือไม่ ตอบได้เลยว่าไม่มี เพียงแค่ไม่ขาดทุนเท่านั้น
พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวต่อถึงสมัยที่ชินคอร์ป เข้าไปเทกโอเวอร์ซื้อหุ้นไอทีวีว่า ไอทีวีที่มีการประมูลกันในสมัยนายอานันท์ ปันยารชุนเป็ํนนายกรัฐมนตรีนั้น กำหนดให้แต่ละบริษัทถือหุ้นไม่เกิน 10% ก็ปรากฏว่ากลุ่มที่ประมูลได้มีเครือเนชั่นอยู่ด้วย รวมทั้งธนาคารไทยพาณิชย์ แต่พอเนชั่นบริหารขาดทุนทำให้เป็นหนี้ธนาคารไทยพาณิชย์อยู่ 3 พันกว่าล้าน ทางธนาคารก็มาชวนให้ชินคอร์ปฯ เข้าไปซื้อหุ้นไอทีวีเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดทุน ซึ่งตนเห็นว่าไทยพาณิชย์ก็เคยช่วยเหลือกันมาก่อนจึงให้เข้าไปซื้อหุ้นไอทีวี โดยใช้มติ ครม.ยกเลิกเงื่อนไขห้ามถือหุ้นเกิน 10% พอชินคอร์ปเข้าไป ตนโดนโจมตีอย่างหนัก โดยเฉพาะจากกลุ่มเนชั่น หาว่าต้องการซื้อสื่อมาเป็นพวกของตัวเอง เพราะตอนนั้นกำลังตั้งพรรคไทยรักไทย ซึ่งต่อมาก็ปรากฏว่า ไอทีวี ในยุคนั้นกลายมาเป็นสื่อที่โจมตีพรรคไทยรักไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลสุดท้ายแล้วในที่สุดก็มีการยึดไอทีวีและเนชั่นก็ได้กลับเข้ามาบริหาร โดยใช้เงินหลวงเป็นทุน เป็นทีพีบีเอสทุกวันนี้
“เห็นไหมครับว่านี่คือเรื่องของผลประโยชน์ในประเทศไทย ผมสร้างศัตรูโดยที่ไม่มีเจตนาสร้างเลย มีแต่เจตนาดีๆ ทั้งนั้น ในเมื่อเขามาขอให้ช่วยแบงก์ ก็ไปช่วย เลยมีศัตรูโดยไม่รู้ตัว ตอนเข้าพรรคพลังธรรม ลุงจำลองขอให้ไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ก็ทำเลยทำให้ไปเป็นศัตรูกับคุณประสงค์ (สุ่นศิริ)” พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าว
พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวถึงนายปราโมทย์ นาครทรรพ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และกรณี ปฏิญญาฟินแลนด์ว่า ประมาณปี 2541 ตนเดินทางไปฟินแลนด์พร้อมกับนายภูมิธรรม เวชชยชัย นายเกรียงกมล เลาหะไพโรจน์ และนายอำนวยชัย ที่เคยช่วยเหลือตนมาก่อน ซึ่งการเดินทางไปครั้งนั้นก็ไปตามคำเชิญของบริษัทในสวีเดนและฟินแลนด์เพื่อไปดูงานด้านเทคโนโลยีและไปเที่ยวกันอย่างสนุกสนาน แต่นายปราโมทย์ กุเรื่องว่าไปทำปฏิญญาฟินแลนด์ เพื่อจะล้มล้างสถาบัน ซึ่งเป็นการปั้นน้ำเป็นตัว โดยตนรู้สึกตกใจมากกับสิ่งที่เกิดขึ้น ทั้งที่ตอนนั้นไม่มีอะไรเลยที่เป็นประเด็นทางการเมือง แต่พอกลับมาเสร็จกลับกลายเป็นว่ามีปฏิญญาฟินแลนด์ ซึ่งตนก็ฟ้องร้องเรื่องนี้ ซึ่งศาลก็สั่งลงโทษ ตอนนี้คาดว่าคดีจะอยู่ในขั้นอุทธรณ์ ไม่ทราบว่าคดีคืบหน้าถึงไหนแล้ว
“มีช่วงหนึ่งที่ผมเว้นวรรคจากการเมือง แล้วรู้สึกติดหนี้บุญคุณ คุณภูมิธรรม (เวชยชัย) คุณอำนวยชัย (ปฏิพัทรเผ่าพงศ์) และคุณเกรียงกมล (เลาหะไพโรจน์) เพราะ 3 คนนี้เคยมาช่วยผมคิดและวิเคราะห์งานการเมือง และได้เป็นที่ปรึกษาให้ผมสมัยเป็นหัวหน้าพรรคพลังธรรม ดังนั้น ตอนนั้น ผมเลยชวนไปดูงานที่บริษัท อีริคสันฯ ประเทศสวีเดน และบริษัท โนเกีย ที่ประเทศฟินแลนด์ โดยงานนี้ตลอดทริปเน้นเฮฮาอย่างเดียวครับ ไปดูงาน ไปฟังเขาพูดเรื่องเทคโนโลยี พูดคุยกันสนุกสนาน ไม่รู้เรื่องอะไรเลย แต่พออยู่มาได้ไม่นาน จนเป็นนายกฯ สักพัก ไอ้เจ้าปราโมทย์ นาครทรรพ คนที่ไปร่วมประชุมกับปีย์ มาลากุล และ พล.อ.สุรยุทธ์ (จุลานนท์) ในการแผนจะจัดการกับผม ตอนนั้น พล.อ.พัลลภ ก็ไปด้วย คนนี้แหละที่กุเรื่องปฏิญญาฟินแลนด์ขึ้นมา” พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าว
ช่วงสุดท้ายของการจัดรายการ พ.ต.ท.ทักษิณ ย้ำอีกหลายครั้งว่ามีขบวนการปั้นน้ำเป็นตัว โดยแม้จะหันไปพึ่งกระบวนการยุติธรรมก็ทำได้ยาก เพราะเวลานี้ เขาแบ่งกันไปหมด มีทั้งเสื้อเหลือง เสื้อแดง นับว่าเป็นช่วงที่น่าห่วง โดยถ้าถามว่าตนเป็นคนพูดยากหรือไม่ ตนคิดว่าเป็นหนูเพียงตัวเดียวที่เขาเผาบ้านเพื่อจะไล่จับ ทั้งที่ในความความจริง ไม่มีอะไรเลย หนูตัวนี้คุยรู้เรื่อง แต่ไม่ยอมคุย กลับยอมเผาบ้าน
“ผมก็ไม่รู้จะพูดอย่างไงแล้ว ผมก็เสียดายบ้านผมนะ ถึงแม้ว่าผมจะเป็นส่วนน้อยนิดในบ้าน แต่ว่าการที่จะเผาบ้านหลังนี้ มันเผาผมได้ไหม มันเผาไม่ได้อยู่ดี เพียงแต่ว่ามันทำให้ผมต้องหลบไปนอนโพรงนอกบ้านบ้าง นี่คือสิ่งที่มันร่วมกันเป็นแก๊งเพื่อจะจัดการกับผม ด้วยความไม่มีคุณธรรม จึงถือเป็นกติกาที่ยอมทำลายทุกระบบ และผลสุดท้ายที่บอกว่าปกป้องสถาบัน รักเจ้านาย ก็จะระคายพระองค์ท่าน พวกนี้ทำเสียหายหมด จริงๆ แล้ว ทุกคนรักเจ้านาย รักพระเจ้าอยู่หัว ไม่มีคนไทยคนไหนไม่รักพระเจ้าอยู่หัว แต่พวกนี้พยายามจะสร้างความดีความชอบให้แก่ตัวเอง” พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าว
ช่วงท้ายสุด พ.ต.ท.ทักษิณ ได้หยิบยกประเด็นความบาดหมางกับนายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ขึ้นมาพูดว่า พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกฯ ซึ่งเป็นบิดาของนายไกรศักดิ์เคยชวนให้ตนไปเป็นหัวหน้าพรรคชาติพัฒนา แต่ตนไม่ตอบรับเพราะกลัวจะมีปัญหาเหมือนตอนเป็นหัวหน้าพรรคพลังธรรม ตอนที่ พล.อ.ชาติชายป่วยและไปรักษาตัวที่ลอนดอน ตนเดินทางไปเยี่ยม นายไกรศักดิ์ก็มาหาที่อพาร์ตเมนต์และทวงถามตนเรื่องที่ พล.อ.ชาติชาย เชิญให้เป็นหัวหน้าพรรคชาติพัฒนา แต่ตนบอกว่าเอาไว้ทีหลัง แต่นายไกรศักดิ์ก็คะยั้นคะยอจะเอาคำตอบให้ได้ ต่อมาหลังจาก พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เสียชีวิตไปแล้ว ตอนนั้นตนก็ได้ไปร่วมงานศพ จึงรู้ว่านายไกรศักดิ์มีอะไรที่โกรธเคืองอยู่ โดยเฉพาะช่วงที่นายไกรศักดิ์เป็น ส.ว. และเป็นประธานกรรมาธิการการต่างประเทศ แล้วตนเป็นนายกรัฐมนตรี พอทำเนียบฯ มีการจัดงาน ตนก็เชิญมา แต่ตอนนั้นนายไกรศักดิ์ วิพากษ์วิจารณ์ถึงแต่รัฐบาล ทำให้เกิดความเสียหาย ตนจึงไม่เชิญนายไกรศักดิ์มาอีก ก็คงเป็นสาเหตุทำให้อีกฝ่ายไม่พอใจ