วิปวุฒิฯ เซ็งหารือท่าทีประชุมร่วม 11 ก.พ. เหตุนำ ส.ว.เป็นตัวประกอบเล่นเกมการเมือง เชื่อสุดท้ายให้ฟรีโหวต หากมีการเสนอเลื่อนวาระอื่นขึ้นมา ด้าน “ส.ว.สมชาย” ท้าวัดใจ 5 พรรคร่วมฯ หากกล้ายกมือโหวตรับร่าง คปพร. เชื่อนายกฯ ยุบสภาแน่
วันนี้ (10 ก.พ.) รายงานข่าวจากวุฒิสภาแจ้งว่า สำหรับท่าทีของ ส.ว.ก่อนเปิดประชุมร่วมกันของรัฐสภาในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ซึ่งมีญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของคป.พร.และของส.ส.จำนวน 102 คน บรรจุอยู่ในวาระเรื่องด่วนสองเรื่องแรกนั้น ในช่วงบ่ายวันที่ 10 กุมภาพันธ์ คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิ) ได้หารือกันในเรื่องนี้ โดยในที่ประชุม วิปวุฒิบางส่วนที่มาจากกลุ่ม ส.ว.เลือกตั้ง เห็นว่าควรพิจารณาเรื่องรัฐธรรมนูญไปเลย ตามที่บรรจุในวาระเป็นเรื่องด่วนที่ 1 และ 2 เพราะญัตติค้างในวาระนานแล้ว
ขณะที่วิปส่วนใหญ่ที่เป็น ส.ว.สายผู้ใหญ่ มองว่าหากถึงขั้นมีการโหวตแล้วเกิดมีสมาชิกเกินกึ่งหนึ่งรับหลักการ ทำให้ต้องมีการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญตอนนี้จริง จะยิ่งทำให้สถานการณ์วุ่นวายมากขึ้น จึงควรพักเรื่องนี้ไว้ก่อน เช่นเดียวกับวิปที่มาจาก ส.ว.สรรหา มองว่าควรเลื่อนวาระอื่นขึ้นมาพิจารณาก่อน เพราะตัวแทนวิปวุฒิที่ไปประชุมกับนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา เมื่อบ่ายวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ไปชี้แจงแล้วว่า วุฒิสภามีวาระการประชุมแน่นมากในช่วงเดือนนี้ โดยเฉพาะการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 2 ตำแหน่ง และเสนอว่า ควรประชุมร่วมรัฐสภากลางหรือปลายเดือนมีนาคม และยังสงสัยว่า ข้อบังคับการประชุมที่นาย ชัย อ้าง กำหนดเพียงว่า ให้บรรจุญัตติภายใน 7 วัน แต่ไม่ได้กำหนดว่า ต้องนัดประชุมเมื่อไหร่ และการนัดประชุมต้องนัดล่วงหน้าก่อน 3 วัน แม้จะมีข้อยกเว้นว่าสามารถแจ้งด้วนได้ แต่การเร่งนัดแบบนี้ น่าสงสัยว่าเร่งรัด และเป็นการนำวุฒิสภามาเป็นตัวประกอบเพื่อเล่นเกมระหว่างภายในพรรคร่วมรัฐบาล
อย่างไรก็ดี สุดท้ายในที่ประชุมวิปวุฒิ ไม่ได้มีมติให้ ส.ว.โหวตไปในทางเดียวกัน หากมีการเสนอในที่ประชุมรัฐสภาว่า ให้นำญัตติอื่นขึ้นมาพิจารณาก่อน โดยให้เป็นเอกสิทธิ์ของสมาชิก ในการตัดสินใจหลังจากมีการอภิปรายเหตุผลในสภาแล้ว
ด้าน นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา แกนนำกลุ่ม 40 ส.ว.กล่าวว่า การประชุมร่วมกันของรัฐสภา น่าจะวัดใจให้เอาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ญัตติมาพิจารณาเลย จะได้ให้จบๆไป ไม่ต้องนำเรื่องรัฐธรรมนูญมาเป็นเกมต่อรองอีก และจะได้ดูว่าพรรคร่วมรัฐบาล 5 พรรค ที่เสนอญัตติ และพรรคเพื่อไทย จะกล้าร่วมมือโหวตเอาร่างของคป.พร.จริงหรือไม่ ซึ่งถ้าร่วมมือกัน คงมี ส.ว.บางกลุ่ม โหวตเอาด้วย เสียงน่าจะเกินกึ่งหนึ่งแน่ แต่สิ่งที่ตามมาคือ นายกฯ คงจะยุบสภาแน่ ซึ่งเป็นสิ่งที่พรรคร่วมรัฐบาลกลัวที่สุด เพราะโอกาสที่พรรคร่วมซึ่งมี ส.ส.ไม่มาก แต่กลับได้คุมกระทรวงเกรดเอบวก หาไม่ได้อีกแล้วในโลกนี้ หรือจะโหวตเอาญัตติแก้ 2 ประเด็น ของพรรคร่วมรัฐบาล แต่พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย และส.ว. ก็ไม่เอาด้วย ฉะนั้นเอาเข้ามาพิจารณาก็เจอโหวตตกแน่
“เอาเข้ามาพิจารณาจะได้จบๆ กันไป เพราะถ้าเป็นญัตติแก้ 2 ประเด็น ของพรรคร่วม เจอที่ประชุมโหวตตกแน่ ส่วนร่าง คปพร.พรรคร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย ร่วมมือกันจริง ก็จะเจอนายกฯยุบสภาแน่ ฉะนั้นวัดใจกันไปเลย จะได้ไม่ต้องนำเรื่องรัฐธรรมนูญ มาค้างคาเป็นเกมในสภาระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลอีก เพราะเห็นชัดว่าเป็นเกมต่อรองอำนาจ ผลคือบ้านเมืองเสียหาย เรื่องแก้รัฐธรรมนูญต้องคิดให้ดีก่อน ไม่ใช่เอามาเล่นกันแบบนี้” นายสมชาย กล่าว