ปธ.วิปรัฐบาลปวดเศียรเวียนเกล้า ส.ส.นักโดดร่วม ยอมรับสันดานแก้ไม่หายประชดสภาล่ม ร้องประชาชน เจอ ส.ส.โดดประชุมจับส่งสภาทันที สั่งงดร่วมงานบุญ-งานศพ ทุกพุธ-พฤหัสฯ เห็นด้วยข้อเสนอพรรคการเมืองใหม่ ขาดประชุมเกิน 4 ครั้ง ตัดสิทธิลงเลือกตั้ง ปัดความขัดแย้งพรรคร่วมทำสภาล่ม ยันยังไม่มีสัญญาณยุบสภา
วันนี้ (8 ก.พ.) นายวิทยา แก้วภราดัย ประธานวิปรัฐบาล แถลงภายหลังการประชุมว่า ได้มีการหารือพรรคร่วมรัฐบาล ถึงเหตุการณ์องค์ประชุมไม่ครบในวันพุธ-พฤหัสบดีที่ผ่านมา เบื้องต้นได้เรียนถามพรรคร่วมทุกพรรคจากที่มีข่าวปรากฎตามสื่อว่าอาจจะเป็นการแสดงปฏิกิริยาจากพรรคร่วมรัฐบาล กรณีไม่พอใจประธานวิป และท่าทีรัฐบาล ทุกพรรคที่อยู่ในประชุมยืนยันว่า เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้เป็นการส่งสัญญาณใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากนั้นเรายังได้พิจารณาว่าทำไมองค์ประชุม ถึงไม่ครบได้ข้อเท็จจริงว่า วันพุธองค์ประชุมครบ แต่ผลที่ทำให้องค์ประชุมไม่ครบถ้วนนั้น นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาฯ ได้ยืนยันตัวเลขกับตนว่ามีผู้ร้อง 7 คน ที่อยู่ในห้องประชุม แต่ไม่ปรากฏชื่อในบัญชีที่คอมพิวเตอร์พิมพ์ออกมานั้นตรวจพบแล้ว 4 คน อีก 3 คนของประชาธิปัตย์ ซึ่งในวันพุธ นางผ่องศรี ธาราภูมิ และ นพ.ณรงค์ เดชวิกรม วิปรัฐบาล จะพาตัวบุคคลยืนยันกับประธานสภา นอกจากนั้นยังมีพรรคภูมิใจไทยและพรรคเพื่อแผ่นดิน ที่อยู่ในที่ประชุมแต่ไม่ปรากฏชื่อก็จะยืนยัน เมื่อยืนยันจบก็เป็นหน้าที่ประธานสภาฯต้องแก้ปัญหา
ส่วนการตรวจสอบการประชุมเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา เบื้องต้นทุกพรรคระบุว่า ส.ส.ยังตั้งหลักไม่ทัน เพราะสมัยประชุมที่ผ่านมา วันพฤหัสบดีจะมีกระทู้ถามทั่วไป และกระทู้สด แล้วจะต่อด้วยเรื่องเพื่อทราบ ซึ่งไม่มีการลงมติในวันพฤหัสบดี เป็นเหตุการณ์ปกติที่ในวันพฤหัสบดี ส.ส.จะทยอยกลับต่างจังหวัด เป็นความเคยชินที่เคยปฏิบัติมา แต่ในวันพฤหัสฯ ที่ผ่านมามีการเสนอญัตติด่วนจากฝ่ายค้าน ฉะนั้น การพิจารณาญัตติของฝ่ายค้าน หากฝ่ายรัฐบาลไม่เห็นด้วยก็จำเป็นต้องมีการตรวจสอบองค์ประชุมและลงคะแนน ข้อเท็จจริง มี 2 ประเด็นวันนั้น มี ส.ส.รัฐบาลบางคนนั่งในที่ประชุมไม่ยอมกดบัตร ได้สอบถามดูหลายท่านระบุว่าอยากประท้วงคนที่ทำหน้าที่ประธานในตอนนั้น เพราะแนะนำให้นับคนที่นั่งอยู่จริงแล้ว ยังไม่ยอมปฏิบัติทั้งที่เคยตกลงกันร่วมกับประธานสภาและรองประธานทั้ง 2 คนแล้ว
ประการที่ 2 มีคนขาดประชุมจริง และเป็นการขาดประชุมด้วยความเคยชิน ที่ประชุมพรรคร่วมรัฐบาลวันนี้ จึงลงมติเพื่อให้ทุกพรรคไปปฏิบัติเหมือนกัน คือไปแจ้งกับ ส.ส.ทุกพรรค ตั้งแต่วันพุธ-พฤหัสบดีนี้ไปต้นไป ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลทุกคน ต้องอยู่ในห้องประชุมสภา และอยู่กรุงเทพฯ ตั้งแต่เปิดประชุม 09.00 น.จนเลิกประชุมเวลา 17.00 น. โดยประมาณในทั้ง 2 วัน
“ถ้าใครมีพฤติกรรมขาดประชุมเช่นนี้ ก็ให้ทุกพรรคหามาตรการตรวจสอบ ว่ากล่าวตักเตือน ถึงขั้นลงโทษกันเอง ถือว่าเป็นวินัยที่ ส.ส.ต้องปฏิบัติ ตัวแทนจากพรรคร่วม จะนำไปหารือผู้บริหารพรรคในการกำหนดมาตรการควบคุม ส.ส.ในเรื่องของการประชุม นอกจากนี้ อยากฝากไปถึงประชาชน หัวคะแนนทุกคน ท่านจะมีงานประเพณีขึ้นบ้านใหม่ แต่งงาน งานศพ ขอความกรุณาอย่าเชิญ ส.ส.ไปงานในวันพุธและวันพฤหัสบดีเด็ดขาด เพราะถ้าเชิญอาจเสียใจที่เขาไม่ไป หรืออาจจะเสียใจที่เขาไม่ทำหน้าที่ ส.ส. และฝากประชาชนว่าใครที่เห็น ส.ส.ไปเดินเล่นนอกสภาในวันประชุม ช่วยจับส่งขึ้นรถให้กลับมาสภาด้วย เพราะหน้าที่ ส.ส.คืออยู่สภา สำหรับพรรคประชาธิปัตย์จะนำเข้าหารือในที่ประชุมวันที่ 9 ก.พ.นี้” นายวิทยากล่าว
นายวิทยากล่าวว่า นอกจากนี้การประชุมในวันพฤหัสบดีนี้จะมีการพิจารณาญัตติด่วนของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ที่ค้างคาอยู่เพื่อลงมติยุติการอภิปรายเพื่อสนับสนุนญัตติหรือไม่ ถ้ายุติก็จะลงมติต่อว่าจะรับญัตติเรื่องสถานการณ์การปฏิวัติรัฐประหารของนพ.ชลน่านหรือไม่ ซึ่งวิปรัฐบาลมีมติไม่รับให้เป็นญัตติด่วน เพราะถือว่าเรื่องการปฏิวัติหยิบยกมากล่าวโดยกลุ่มเสื้อแดง และพยายามขยายความ เป็นเรื่องพูดกันเอง และเชื่อกันเอง ซึ่งสภาไม่อาจใช้เป็นเครื่องมือโหมกระพือขึ้นมาให้ประชาชนสับสน มติวิปไม่รับญัตตินี้ในการพิจารณา
ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้าฝ่ายค้านยืนยัน ยื่นญัตติการปฏิวัติดังกล่าว รัฐบาลจะมีแนวทางแก้ปัญหาอย่างไร นายวิทยากล่าวว่า สภาต้องลงมติจะให้ยุติอภิปรายหนุนญัตติหรือไม่ ซึ่งมติเราให้ยุติการหนุนญัตติ จากนั้นประธานสภาต้องถามต่อไปว่าจะให้เลื่อนวาระญัตติด่วนเรื่องปากเปราะขึ้นมาหรือไม่ มติวิปรัฐบาลบอกไม่เลื่อนก็จบ
เมื่อถามว่ามาตรการขั้นสูงสุดในการลงโทษ ส.ส.โดดประชุมสภาคืออะไร นายวิทยากล่าวว่า ยังคิดไม่ออก ให้ทุกพรรครับไปดำเนินการก่อนคือทุกพรรคจะมีมาตรการที่แตกต่างกัน สำหรับพรรคประชาปัตย์มีผู้เสนอว่าจะฝากหนังสือพิมพ์ช่วยโฆษณาหาตัวด้วย ประกาศชื่อทุกคนที่ขาดประชุม
เมื่อถามว่าสะท้อนให้เห็นว่าวุฒิภาวะของสภาชุดนี้ ทำไมเป็นอย่างนี้ นายวิทยากล่าวว่า เป็นมาตลอด ต่อข้อถามว่าทำไมชุดนี้หนักกว่าที่ผ่านมา นายวิทยากล่าวว่า ที่หนักกว่า เพราะปัจจุบันเราใช้การตรวจสอบองค์ประชุม แต่เดิมไม่มีการตรวจสอบองค์ประชุม ตนอยู่มา 20 ปีก็เป็นอย่างนี้ คนที่ไม่รับผิดชอบก็ไม่รับผิดชอบ
เมื่อถามว่าแนวทางที่ระบุว่าพบ ส.ส.ที่ไหนให้จับตัวมาสภาจะได้ผลแค่ไหน เพราะ ส.ส.ถูกมองว่ามีนิสัยโดดประชุมเป็นกิจวัตร นายวิทยากล่าวว่า เป็นมาตรการเชิงสังคม ส่วนมาตรการทุกพรรคก็ต้องคิดกัน
เมื่อถามถึงข้อเสนอของพรรคการเมืองใหม่ที่เสนอว่าหาก ส.ส.ขาดประชุมสภาเกิน 4-5 ครั้ง ให้ตัดสิทธิ์ลงสมัครรับเลือกตั้ง นายวิทยากล่าวว่า เป็นข้อเสนอที่ดี บางท่านอาจจะต้องนำไปพิจารณา ถ้าเห็นพ้องต้องกันก็เป็นแนวทางที่ดี เมื่อถามว่าแผนการคุมเสียงให้ ส.ส.1 คน ดูแล 5 คน ยังใช้อยู่หรือไม่ นายวิทยากล่าวว่า เหมือนเดิม บางทีคนคุมก็หายไปด้วย
เมื่อถามว่าวิปรัฐบาลประเมินสถานการณ์การเมืองอย่างไร นายวิทยากล่าวว่า เรามองแยก สถานการณ์สภาล่มยอมรับว่าคนไม่มาประชุม ไม่ได้เกี่ยวกับสถานการณ์การเมือง หรือพรรคร่วมไม่พอใจเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อถามเกิมป่วนในสภานอกสภาจะป้องกันอย่างไร ดูเหมือนฝ่ายค้านมาใช้กระบวนการสภา นายวิทยากล่าวว่า วิปรัฐบาลได้มีการหารือกัน ถ้าผู้แทนรัฐบาลมาประชุมพร้อมกัน ฝ่ายค้านก็ทำอะไรไม่ได้ ปัญหาสภาล่มเกิดจากส.ส.ฝ่ายรัฐบาลขาดความรับผิดชอบ ซึ่งเราต้องไปทบทวนตัวเอง ถ้าฝ่ายค้านต้องการป่วนก็เป็นเรื่องที่รับมือได้ เสียงข้างมากได้เปรียบเสมอ
เมื่อถามว่าคิดว่าระหว่าง 14-26 ก.พ.รัฐบาลชุดนี้ยังอยู่หรือไม่ นายวิทยากล่าวว่า ถ้านายกฯ ไม่ยุบก็อยู่ เมื่อถามว่าคิดว่าสถานการณ์เช่นนี้จะทำให้สภารอดหรือไม่ นายวิทยากล่าวว่า สภารอด เพราะคนยุบสภาได้คือนายกฯ คนเดียว ยังไม่มีสัญญาณใดให้นายกฯยุบสภา เมื่อถามว่าเสื้อแดงประกาศจะเคลื่อนไหวใต้ดินจะเป็นอย่างไร นายวิทยากล่าวว่า ทำอย่างไรก็ได้ ให้อยู่กรอบกฎหมาย และเสื้อแดงต้องอธิบายได้ทำเพื่ออะไร แต่ทำเพื่อคนคนเดียวสังคมก็ไม่ยอมรับ บ้านเมืองมีปัญหาหนัก 2 เรื่อง คือ ปัญหาเศรษฐกิจ และความขัดแย้ง ซึ่งกำลังเบาบาง เหลือพวกคอหนักๆ ไม่กี่คน ซึ่งตอนนี้ทะเลาะกันเองอยู่ ถ้าทะเลาะกันเสร็จก็มาทะเลาะกับชาวบ้านต่อ