โฆษกรัฐบาลเผยความพร้อมรับมือการคเลื่อนไหว ก่อนวันตัดสินยึดทรัพย์แม้ว ยอมรับส่งกองกำลังผสมลงพื้นที่สีแดง ส่วนเขตรอยต่อ กทม.-ปริมณฑล ตั้งด่านบล็อก 200 จุด จัดชุดพิเศษ 54 กองร้อยป้องกันเหตุไม่คาดคิด ยอมรับหลัง 26 ก.พ.สถานการณ์ยิ่งไม่น่าไว้วางใจ จำเป็นต้องตรึงกำลังไปอีกสักระยะ
วันนี้ (8 ก.พ.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมรับมือการเคลื่อนไหวการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ก่อนและหลังการตัดสินคดียึดทรัพย์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 26 ก.พ.ว่า ในส่วนของรัฐบาลก็มีการเตรียมความพร้อมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่มีการประชุม ครม.เมื่อ 2-3 สัปดาห์ก่อน ก็อนุมัติให้มีการเสริมกำลังเจ้าหน้าที่ลงไปในพื้นที่ 38 จังหวัด โดยในแต่ละจังหวัดก็จะมีกองกำลังผสม ตำรวจ ทหารและพลเรือน ประจำอยู่ประมาณ 3-5 กองร้อย และมีกองหนุนในแต่ละจังหวัดที่ตั้งขึ้นมาตามสถานการณ์อีกส่วนหนึ่ง เพื่อให้เกิดความพร้อมในการตรวจสอบสถานการณ์ตามขั้นตอนปกติและใช้กฎหมายปกติ ซึ่งในบางจังหวัดอาจต้องเข้มข้นกว่าบางจังหวัด ในส่วนของกรุงเทพมหานครก็จะมีการตั้งด่านเกือบ 200 ด่าน ในบริเวณจุดทางเข้าออกทั้งในส่วนพื้นที่ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นสถานที่สำคัญๆ เครื่อข่ายคมนาคม เพื่อป้องกันการแปรปรวน ขณะนี้ถือว่าอยู่ในขั้นการเตรียมการเฝ้าระวังตามปกติ
“ที่รัฐบาลให้ความสำคัญ คือ บริเวณพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งเข้าใจว่าจะมีคนเข้ามาชุมนุมมาก ในต่างจังหวัดเราประเมินว่ากลุ่มคนที่จะมาชุมนุมไม่เพิ่มมากขึ้นเท่าไหร่ พื้นที่ละไม่กี่พันคน ในส่วนของกรุงเทพฯ นั้นจะมีการทยอยตั้งด่านประมาณ 160-200 ด่าน ใช้กองกำลังผสมประมาณ 54 กองร้อย และจะมีกองหนุนอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งในส่วนของการตั้งด่านนั้นจะตั้งพร้อมกันทีเดียว จนทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกว่าเหตุการณ์ตึงเครียด เราจะดูความเหมาะสมและความเป็นจริง โดยครึ่งเดือนแรกของเดือน ก.พ. การประจำกำลังพล การจัดระเบียบ การกำหนดแผนต่างๆจะทำอย่างต่อเนื่องโดยเริ่มทยอยเข้าพื้นที่ แต่เมื่อผ่านวันที่ 15 ก.พ.แล้วก็จะเข้มข้นขึ้นตามลำดับ ไม่เช่นนั้นอาจเกิดปัญหาได้ เพราะเหตุการณ์เดือน เม.ย.52 ที่ผ่านมา พบว่าต้องใช้เวลานานมากหลังการสั่งการกว่ากำลังพลจะออกมา ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมมาประชิดสี่แยกและสถานที่สำคัญๆ ครั้งนี้จึงสั่งการให้กำลังพลประจำจุด จุดระบบและออกมาเป็นระยะๆก่อนที่จะมีการเคลื่อนไหวการชุมนุม” นายปณิธานกล่าว
เมื่อถามว่ากองกำลังได้ส่งลงไปในพื้นที่แล้วหรือยัง นายปณิธานกล่าวว่า ลงไปในพื้นที่แล้วซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นกำลังในพื้นที่ ขณะนี้มีการจัดระบบ มีผู้บังคับบัญชาคือผู้ว่าราชการจังหวัด และ กอ.รมน.จังหวัดเป็นผู้ดูแล และรายงานเข้ามายังกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรใหญ่ (กอ.รมน.) อีกครั้ง
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า การกำหนดแผนและมาตรการต่างๆจะทำควบคู่ไปพร้อมๆ กับการสร้างเครือข่ายภาคประชาชน รวมทั้งการชี้แจงต่างๆ มากขึ้นผ่านทาง กอ.รมน. กรมประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนร่วมกันสังเกตการณ์ เฝ้าระวังและเบาะแส แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประชาชนและรัฐบาล
นายปณิธานกล่าวว่า การชุมนุมต่างๆ รัฐบาลถือเป็นสิทธิที่ทำได้ โดยจะมีการอำนวยความสะดวก แต่ก็ต้องตรวจสอบกลุ่มที่จะเคลื่อนไหวเข้ามา ต้องไม่มีการติดอาวุธ ก่อความไม่สงบ หรือเตรียมก่อการวินาศกรรมต่างๆ แต่การชุมนุมนั้นก็สามารถดำเนินการได้ตามปกติในการแสดงสิทธิ ส่วนกลุ่มที่เกิดปัญหาเกิดข้อขัดแย้งกัน ก็มีการเฝ้าระวังเพราะอาจมีผลกระทบบานปลายหรือไม่ จุดนี้ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ไม่ให้เกิดความแปรปรวนหรือกลุ่มคนที่สามเข้ามาแทรกแซงฉวยโอกาสจากความคิดเห็นที่แตกแยก โดยจะมีเจ้าหน้าที่เฝ้าดูแล
“ย้ำอีกครั้งว่า ทั้งหมดถือเป็นมาตรการปกติตามกฎหมาย โดยทุกขั้นตอนมีการเชิญสื่อมวลชนเข้าร่วมสังเกตการการทำงานของเจ้าหน้าที่ โดยจะมีการประเมินสถานการณ์เป็นระยะๆ มรีการรายงานผ่านทาง กอ.รมน. สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) บางช่วงก็จะมีการรายงานเข้ามายัง ครม.และหากมีความจำเป็น ก็จะมีการประกาศใช้กฎหมายที่มีความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ โดยทุกๆขั้นตอนจะต้องผ่านการอนุมัติ จากผู้ที่รับผิดชอบทั้งจากฝ่ายการเมือง ฝ่ายนโยบายและฝ่ายปฏิบัติ โดยเฉพาะการใช้เครื่องมือในการควบคุมฝูงชน จะต้องได้รับการอนุมัติตามขั้นตอน หลักการชัดเจนรัฐบาลไม่ต้องการเห็นความแปรปรวนเหมือนอย่างเดือน เม.ย.52 ขณะเดียวกัน เราเชื่อว่าคนที่มาชุมนุมส่วนใหญ่มาด้วยความบริสุทธิ์ใจ ต้องการแสดงจุดยืนทางการเมือง แต่เมื่อมีการปลุกระดมเจ้าหน้าที่ก็จำเป็นต้องเข้าไปควบคุม” นายกรัฐมนตรีกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่ารัฐบาลประเมินหรือไม่ว่า หลังการตัดสินคดียึดทรัพย์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ในวันที่ 26 ก.พ.แล้วเหตุการณ์จะทวีความรุนแรงต่อเนื่องไปอีกนานแค่ไหน นายปณิธานกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีให้นโยบายไปแล้วว่าคงต้องมีการเฝ้าระวังต่อไปสักระยะหนึ่ง ดังนั้น การให้เจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปเป็นผู้ช่วยเจ้าหน้าที่พนักงานตำรวจก็คงต้องมีอยู่ แต่เราจะพยายามให้กฎหมายปกติเป็นหลัก และใช้กรอบการทำงานที่ตรวจสอบได้ อย่างไรก็ตาม ในแง่การพัฒนาการต่างๆ ก็ต้องดูว่าเจ้าหน้าที่ทำงานได้ผลก่อนที่จะมีการชุมนุมหรือไม่ ถ้าเจ้าหน้าที่ทำงานได้ ปัญหาคงไม่มีอะไรมากนัก ทั้งนี้ จากการประเมินสถานการณ์คิดว่าหลังวันที่ 26 ก.พ.คงจะมีบางกลุ่มเดินหน้าเคลื่อนไหวต่อไปโดยแยกตัวออกมาเคลื่อนไหวอย่างอิสระจากเรื่องของคดีมากขึ้น ตรงนี้รัฐก็ต้องคอยดูพัฒนาการว่า การเคลื่อนไหวดังกล่าวอยู่ในกรอบของกฎหมายหรือไม่ ทั้งนี้ รัฐบาลยินดีที่จะให้ข้อมูลแลกเปลี่ยนกับบางกลุ่มที่อาจจะมีแนวคิดในเชิงการเมืองที่ต้องการให้เปลี่ยนแปลงก็สามารถทำได้ แต่ถ้าเป็นส่วนอื่นๆ หลังจากวันที่ 26 ก.พ.อาจมีผลกระทบหรือพยายามจะก่อเหตุให้มีความรุนแรงมากขึ้น การดำเนินการของรัฐบาลก็ต้องเข้มข้นมากขึ้น
เมื่อถามว่าวิเคราะห์หรือไม่ว่า กลุ่มที่เคลื่อนไหวต้องการให้เกิดความรุนแรงมากขึ้น เพื่อหวังผลเหตุการณ์บางอย่าง นายปณิธานกล่าวว่า ก็เป็นการวิเคราะห์ของนักวิชาการว่า หากรัฐบาลไม่สามารถควบคุมดูแลความสงบเรียบร้อยได้หรือใช้กำลังเกินกว่าเหตุก็จะทำให้เป็นเงื่อนไขให้ผู้มาชุมนุมเข้ามาชุมนุมมากขึ้น ทำให้เกิดสถานการณ์รุกรามบานปลาย เรื่องนี้รัฐบาลก็ระมัดระวังอยู่ มีการจัดระบบและดำเนินการเป็นขั้นตอนอยู่ 2-3 ขั้นตอน คือ การใช้กฎหมายปกติ ใช้กฎหมายพิเศษธรรมดา และการใช้กฎหมายพิเศษที่เข้มข้น โดยแต่ละกรอบจะมีเจ้าหน้าที่ดูแล มีฝ่ายการเมืองรับผิดชอบและมีขั้นตอนการปฏิบัติที่ชัดเจน
เมื่อถามว่าแสดงว่าในเดือน มี.ค.สถานการณ์ยังไว้ใจไม่ได้อาจเกิดเหตุรุนแรงขึ้นใช่หรือไม่ นายปณิธาน กล่าวว่า คงต้องรอดูว่าหลังจากวันที่ 26 ก.พ.สถานการณ์จะคลี่คลายไปขนาดไหน แต่จะห้ามไม่ให้มีการชุมนุมแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างเลยคงไม่เร็วขนาดนั้น
นายปณิธานกล่าวถึงความขัดแย้งในกลุ่มคนเสื้อแดงซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลเป็นคนส่ง พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี และพล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าไปสร้างความปั่นป่วน ว่า แนวทางของรัฐบาลในการดำเนินการมีการชี้แจงทุกขั้นตอน มีระบบมีความโปร่งใส ซึ่งความเกี่ยวพันกับบุคคลเหล่านั้นยืนยันว่าไม่มี สิ่งที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นความขัดแย้งภายในและเข้าใจกันดีว่าสาเหตุน่าจะมาจากอะไร