“มาร์ค” พอใจเทคโนโลยีด้านการสื่อสารก้าวหน้า ขอสื่อมีความรับผิดชอบ รัฐพร้อมสนับสนุนไม่คิดแทรกแซง
เมื่อเวลา 18.00 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายวรินทร์ เทียมจรัส ส.ว.สรรหา ร่วมงาน “มหกรรมโลกไร้เสา (Stat Expo 2010)” ซึ่งจัดโดยสมาคมโทรทัศน์ดาวเทียม (ประเทศไทย) ที่ลานปาร์กพารากอน ห้างสยามพารากอน
โดยนายกฯ ปาฐกถาพิเศษก่อนทำพิธีเปิดงานว่า ในรอบหลายสิบปีระบบโทรคมนาคมมีความก้าวหน้ามาก มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคสื่อ ทำให้การติดต่อการสื่อสารการรับทราบข่าวสารจึงพัฒนารูปแบบมาโดยลำดับ ซึ่งเป็นที่ยอมรับและคาดหมายกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
นายกฯ กล่าวอีกว่า ประเทศไทยเดินทางมาไกลจากที่มี่แค่ช่อง 4 บางขุนพรหม เพียงช่องเดียว จนมีสถานีที่ประชาชนรับชมได้หลายช่อง และต่อมาก็มีระบอบบอกรับสมาชิกและเป็นโทรทัศน์ดาวเทียม ที่แพร่ภาพผ่านระบบจาน และรับชมผ่านเคเบิลและอินเตอร์เน็ต ซึ่งขณะนี้แพร่ภาพแล้วนับร้อยช่อง ทั้งนี้เป็นความเปลี่ยนแปลงนวัตกรรมของเทคโนโลยนีเป็นทั้งทางเลือกและเสรีภาพของประชาชนและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง
“ผมเชื่อมั่นว่าโทรทัศน์ดาวเทียมประชาชนจะสนใจและนิยมมากขึ้น เพราะรูปแบบของการรับข่าวสารเป็นลักษณะที่สามารถเลือกตามความสนใจมากยิ่งขึ้น และสะดวก ประสิทธิภาพความชัดเจนของภาพและเสียง ซึ่งนอกจากจะส่งผลต่อพฤติกรรมของการรับข่าวสารแล้ว ยังส่งผลถึงประเทศเพื่อนบ้านที่ชมผ่านทีวีดาวเทียมด้วย” นายกฯ กล่าว
นายอภิสิทธิ์กล่าวอีกว่า ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเป็นประโยชน์ต่อวงกว้าง ทั้งเศรษฐกิจอุตสาหกรรมใหม่และเศรษฐกิจต่อเนื่อง เพราะเมื่อผู้ประกอบการมีการแข่งขันก็ถือเป็นการเติบโต และมีความสำคัญมากขึ้นในเศรษฐภาพรวม ส่วนของประชาชนมีทางเลือกเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสารมากขึ้น และนี่เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ตลอดชีวิต
นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อไปว่า รัฐบาลให้ความสำคัญ ส่งเสริมให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็ว ไม่มีการแทรกแซง โดยเป็นส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของเศรษฐกิจสร้างสรรค์แต่ต้องอยู่บนความรับผิดชอบ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดูแลมีกระทรวงไอซีที กระทรวง ทบวงกรม และองค์กรอิสระ คือ กสทช. ซึ่งหน่วยงานเหล่านี้ทำให้มีความทันสมัย มีความเข้มแข็งและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเพื่อสร้างความเสรีเป็นธรรม และช่วยกำกับดูแลให้มีความรับผิดชอบภายใต้คุณธรรมจริยธรรมด้วย นอกจากนี้ในส่วนของพรบ.จัดสรรคลื่นความถี่นั้นหากกฎหมายผ่านสภา จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการกสทช.ต่อไป
นายกฯ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่างานนี้มีกฎหมายและองค์กรดูแลอยู่ และที่สุดมาตรฐานความรับผิดชอบและปัจจุบันอุตสาหกรรมนี้การนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่เป็นดาบสองคม จึงทำให้เราต้องบรรลุวัตถุประสงค์ คือความรับผิดชอบของผู้ประกอบการเอง ดังนั้น การตั้งเป็นสมาคมฯ เป็นความตั้งใจที่ให้เกิดจรรยาบรรณให้เกิดกับสื่อมวลชนที่ดี ซึ่งรัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุน
“หวังว่าที่ชมรมพัฒนามาเป็นสมาคมจะทำหน้าที่กำกับดูแลกันเอง และสร้างองค์ความรู้ของผู้ประกอบการด้วยกันเอง เพื่อพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ การเมืองของเรา หวังว่าจะปรากฏเป็นรูปธรรมและกลไกที่จัดตั้งขึ้นมาจะช่วยดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น การที่ภาครัฐจะเข้ามาแทรกแซงด้วยรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งจะน้อยมากหรือไม่มีเลย” นายกฯ กล่าว