หน.ชทพ.เข้าชี้แจง กกต.กรณียุบพรรค ปชป.เรียกผู้ถูกตัดสิทธิถกแก้ รธน.ที่บ้านพิษณุโลก ชิงปฏิเสธ “เติ้ง” สั่งเดินเกมแก้ รธน. ชี้แค่หารือในฐานะพี่น้อง อวดอ้างศักดา ชทพ.ไม่ต้องมีนอมินี เผยสัปดาห์หน้ายื่นญัตติแก้รัฐธรรมนูญเข้าสภาแน่ เชื่อไม่ส่งผลเสถียรภาพ รบ.
วันนี้ (29 ม.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) เดินทางมาชี้แจงต่อคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีที่ พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน ประธานคณะกรรมการตรวจสอบอำนาจรัฐของสมัชชาแห่งประเทศไทย และนายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ เลขาธิการสมัชชาประชาชนแห่งประเทศไทย ยื่นเรื่องให้ กกต.ยุบพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคร่วมรัฐบาล ที่นายกรัฐมนตรีเชิญผู้ถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมืองเข้าหารือการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่บ้านพิษณุโลก โดยนายชุมพลเปิดเผยว่า กรณีดังกล่าวสามารถยื่นให้ตรวจสอบได้แต่จะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง โดยในวันนี้ก็จะมาให้ข้อมูลเบื้องต้นกับคณะอนุกรรมการฯ ก่อนที่จะทำคำชี้แจงเข้ามา
เมื่อถามว่า ล่าสุด พล.ร.อ.บรรณวิทย์ก็ได้มายื่นให้กกต.ตรวจสอบการกระทำของนายบรรหาร ศิลปอาชา แกนนำพรรคว่าอยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวแก้รัฐธรรมนูญ นายชุมพล กล่าวว่า ตนยืนมั่นคงเหมือนภูเขา ไม่มีใครอยู่เบื้องหลัง มีแต่รัฐธรรมนูญ ฉะนั้นต้องแก้ไข จึงยืนยันเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อ สัปดาห์หน้าก็จะยื่นยัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญ เชื่อว่าไม่กระทบกระเทือนต่อเสถียรภาพของรัฐบาลแน่นอน
“การที่ผมพูดคุยกับนายบรรหารในหลายๆ เรื่อง ก็เหมือนเป็นการพูดคุยในฐานะพี่น้อง เพื่อขอความเห็นจากผู้มีประสบการสูงทางด้านการเมือง และมีประสิทธิภาพสูง เป็นผู้ที่เคยผ่านงานราชการมาเยอะ ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ นายบรรหารไม่ได้เข้ามาแทรกแซงการทำงานในพรรค เพราะผมยังเป็นหน้าพรรคและผมก็เป็นคนสั่งการภายในพรรคเองไม่มีใครสามารถมาสั่งได้” นายชุมพลกล่าว
เมื่อถามว่า ตอนนี้ฝ่ายค้านต้องการที่จะนำรัฐธรรมนูญปี 40 มาใช้ไม่กลัวว่าเขาจะใช้โอกาสนี้ลักไก่หรือไม่ นายชุมพลกล่าวว่า ตอนนี้ไม่กลัวแต่เราอยากยื่นเรื่องการแก้ไขเข้าสู่สภาเพื่อที่จะได้มีการพูดคุยกันและประชาชนจะได้ไม่สับสน ส่วนจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ต้องไปว่ากันในสภา จะได้ไม่วุ่นวาย ตอนของร้องให้มาเล่นกันในสภาอย่าไปเล่นนอกสภา หรืออย่าไปปิดสนามบินก็แล้วกัน อย่างไรก็ตาม การที่นำเรื่องนี้เข้าสู่สภาแล้วมีหลายฝ่ายมองว่าจะเกิดความวุ่นวายนั้น ตนคิดว่าในสภาก็มีมลพิษมากอยู่แล้ว จึงไม่น่าจะมีปัญหาอะไรหากนำเรื่องนี้เข้าสู่สภา