xs
xsm
sm
md
lg

อ.จุฬา แฉกลาง กมธ.มั่นคง GT200 แค่ไม้ล้างป่าช้า “เจะอามิง” ชง ก.วิทย์ทดสอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อาจารย์วิทย์ ม.จุฬาฯ แจงกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ ยัน GT200 ใช้ไม่ได้ ชี้แค่ไม้ล้างป่าช้า ยันต่างประเทศจับกุมคนผลิตแล้ว ซัดทหารทดสอบไม่เป็นไปตามวิทยาศาสตร์ ตั้งแง่มีส่งซิกหาวัตถุเจอ “เจะอามิง” รับลูกส่ง ก.วิทย์ เจ้าภาพเทสต์อีกครั้ง ชี้ถ้าห่วยจริงต้องยุติสั่งซื้อเพิ่ม

วันนี้ (28 ม.ค.) ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายเจะอามิง โต๊ะตาหยง ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานคณะกรรมาธิการฯ ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯได้เชิญ ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาชี้แจงถึงกระบวนการทำงานของเครื่องจีที 200 ว่า สามารถนำไปใช้ได้จริงต่อการตรวจหาวัตถุระเบิดหรือไม่ โดย ผศ.ดร.เจษฎา ชี้แจงว่า เครื่องตรวจหาวัตถุระเบิดดังกล่าวมีการทดสอบและพิสูจน์ชัดจากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว อาทิ สหรัฐอเมริกา ว่าไม่สามารถตรวจหาวัตถุระเบิดได้จริง มีการต่อต้าน และจับกุมบริษัทที่ผลิต จากนั้นก็เปลี่ยนชื่อยี่ห้อไปตั้งฐานการผลิตอยู่ที่ต่างประเทศเพื่อนำมาขาย ให้กับประเทศที่ด้อยพัฒนา

ผศ.ดร.เจษฎา กล่าวอีกว่า เครื่องจีที 200 ไม่สามารถตรวจสอบหาวัตถุระเบิดได้จริง ไม่ใช่เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ เป็นเพียงการอุปทานของผู้ใช้ ซึ่งคล้ายกับไม้ล้างป่าช้าไร้ญาติที่ชี้หาศพไร้ญาติตามความเชื่อ ใช้พลังจิตหาเอา จากการพิสูจน์ผ่าเครื่องชนิดนี้ออกของผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศก็ไม่พบ อุปกรณ์ที่ตรวจจับวัตถุระเบิดได้ ขณะที่เสาอากาศที่ชี้ไปมาก็เป็นเพียงอุปกรณ์หนึ่งที่หมุนซ้ายขวาไปตามแรง เฉื่อยของผู้ถือเท่านั้น ส่วนที่อ้างว่าเครื่องนี้ไม่ใช้แบตเตอรี่แต่ต้องใช้ไฟฟ้าสถิตจากตัวมนุษย์นั้น ขอยืนยันว่าแรงไฟฟ้าสถิตย์ในตัวมนุษย์ไม่สามารถขับเคลื่อนหรือมีผลต่อ เครื่องอิเล็คทรอนิกส์โดยเฉพาะอุปกรณ์ตรวจหาวัตถุระเบิดได้

ผศ.ดร.เจษฎา ยังกล่าวถึงกรณีที่กองทัพบกทดสอบเครื่องจีที 200 ที่ จ.ราชบุรีด้วยว่า ไม่ใช่การทดสอบตามหลักวิทยาศาสตร์ เพราะตามหลักต้องทดสอบในห้องที่ไม่มีคนมุงดูเป็นจำนวนมาก หรือทดสอบในห้องปิดและจดสถิติจากการตรวจสอบหลายๆ ครั้งเพื่อนำมาวิเคราะห์ว่าสามารถใช้ได้จริงหรือไม่ การนำมาทดสอบในลานกว้างที่มีทั้งผู้สื่อข่าวและทหารมุงดูนั้นทำให้เกิดแรง ส่งไปยังผู้ที่ถืออุปกรณ์ ทำให้เกิดอุปทานและเจอวัตถุที่ต้องสงสัยจริงขึ้นมา อีกทั้งสถานที่ทดสอบก็เป็นพื้นที่ของกองทัพ จึงขอตั้งข้อสังเกตว่าอาจมีการส่งสัญญาณให้กันหรือไม่

ด้าน นายเจะอามิง แถลงภายหลังการประชุมว่า เรื่องนี้จะต้องพิสูจน์ประสิทธิภาพโดยเร็วที่สุด ซึ่งที่ประชุมมีมติให้ตนทำหนังสือถึงกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เพื่อให้เป็นเจ้าภาพในการตรวจสอบร่วมกับกระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงกลาโหม อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบต้องอยู่บนพื้นฐานของการยอมรับทางวิชาการและกองกำลังที่นำไปใช้งาน ถ้าผลออกมาไม่ได้มาตรฐานรัฐบาลต้องยุติการสั่งซื้อ แต่ถ้าผลออกมาเครื่องดังกล่าวนี้มีประสิทธิภาพ สามารถใช้งานได้จริง รัฐบาลต้องสนับสนุนต่อไป





กำลังโหลดความคิดเห็น