เลขาฯ กกต.เผยมติ กกต.ยกคำร้องถอดถอนนายกฯ พ้นตำแหน่ง กรณีแทรกแซงตำรวจ เสียงส่วนใหญ่ชี้เรียก “ธานี” ถกคดียิง “สนธิ” ทำได้ ดื้อคำสั่ง “พัชรวาท” เรียก “วิวัฒน์” ร่วมทีมสืบ เป็นสิทธิตาม พ.ร.บ.สตช. ให้เอกฉันท์ยกคำร้องแทรกแซงตั้ง “วิเชียร” รักษาราชการแทน ผบ.ตร. ชี้มีอำนาจสั่งการ ปัดก้าวก่ายโยกย้ายตำรวจ ยันไม่มีใครโดนเด้งช่วงนั้น
วันนี้ (16 ม.ค.) นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกต.ได้พิจารณากรณีที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา และนายพิชา วิจิตรศิลป์ ประธานชมรมกฎหมายภิวัฒน์แห่งประเทศไทยและเครือข่าย ขอให้ กกต.ตรวจสอบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่อาจกระทำเข้าลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 266 (2) ประกอบมาตรา 268 แห่งรัฐธรรมนูญที่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงข้าราชการตำรวจ ในการสอบสวนคดีลอบสังหารนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้สิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 182 (7) โดยที่ประชุมกกต.มีมติเสียงข้างมากให้ยกคำร้องใน 2 ประเด็น กรณีที่นายอภิสิทธิ์เรียก พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ รอง ผบ.ตร.ในฐานะหัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวนคดีลอบยิงนายสนธิเข้าพบหลายครั้งนั้น คณะกรรมการไต่สวนพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่นายกรัฐมนตรีเรียกผู้ที่รับผิดชอบในคดีดังกล่าวมาสอบถามเป็นการติดตามและตรวจสอบการปฎิบัติงานของผู้ใต้บังคับบัญชาและการที่ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร.ในขณะนั้นลาไปต่างประเทศ เป็นการไปปฎิบัติราชการตามปกติมิได้เกี่ยวข้องกับคดีลอบยิงนายสนธิและการ กระทำดังกล่าวในฐานะนายกรัฐมนตรีแล้วย่อมมีอำนาจที่จะกระทำได้ จึงไม่เป็นการแทรกแซงก้าวก่ายการสืบสวนสอบสวนคดีดังกล่าวแต่อย่างใด
นายสุทธิพลกล่าวว่า ส่วนในประเด็นที่ 2 กรณีที่นายกรัฐมนตรีก้าวก่ายคำสั่งของ พล.ต.อ.พัชรวาทที่มีคำสั่งให้ พ.ต.อ.วิวัฒน์ คำชำนาญ ผกก.6 กองบังคับการตำรวจน้ำ ที่ พล.ต.อ.ธานีเรียก ให้มาร่วมชุดสอบสวนให้กลับไปปฏิบัติหน้าที่ที่ จ.สุราษฎร์ธานี และนายกรัฐมนตรีสั่งการให้ พ.ต.อ.วิวัฒน์ มาทำหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวนในคดีดังกล่าว คณะกรรมการไต่สวนพิจารณาแล้วเห็นว่า ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 6 นายกรัฐมนตรีถือเป็นผู้บังคับบัญชาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและข้อเท็จจริง ฟังได้ว่า พ.ต.อ.วิวัฒน์ เคยรับราชการที่กองปราบปรามหลายปี จึงมีความชำนาญในการสืบสวนคดีอาชญากรรม ซึ่งการที่นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งให้ พ.ต.อ.วิวัฒน์ มาทำหน้าที่พนักงานสอบสวนใน คดีดังกล่าว เป็นการให้คำแนะนำ เพื่อให้คดีดังกล่าวคืบหน้าและเสร็จสิ้นไปโดยเร็วย่อมมีอำนาจตามกฎหมายที่จะ กระทำได้ในด้านนโยบายและให้คำเสนอแนะ จึงมิใช่เป็นการแทรกแซงก้าวก่ายการสั่งการของ ผบ.ตร.แต่อย่างใด
นายสุทธิพลกล่าวอีกว่า ที่ประชุมกกต.ยังมีมติเอกฉันท์ให้ยกคำร้อง ในกรณีที่ขอให้ตรวจสอบนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงการแต่ง ตั้งโยกย้ายตำรวจ ในขณะที่ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เป็นผู้รักษาราชการแทน พล.ต.อ.พัชรวาท โดย กกต.พิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงในช่วงที่ พล.ต.อ.วิเชียร รักษาราชการแทน ไม่มีการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจยศนายพลจำนวน 152 รายและข้าราชการตำรวจตำแหน่งรองผู้บังคับการแต่อย่างใด
นายสุทธิพลกล่าวต่อว่า ที่ประชุมกกต.มีมติเอกฉันท์ยกคำร้องกรณีที่นายอภิสิทธิ์ แทรกแซงการแต่งตั้งรักษาการ ผบ.ตร. โดยแต่งตั้ง พล.ต.อ.วิเชียร รักษาราชการแทน ผบ.ตร. ระหว่างที่ พล.ต.อ.พัชรวาท เดินทางไปราชการที่ 3 จังหวัดภาคใต้ เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบนั้น คณะกรรมการไต่สวนพิจารณาแล้วเห็นว่า ในการเดินทางไปราชการของ พล.ต.อ.พัชรวาท ได้ขออนุมัติเดินทางไปปฏิบัติงาน พร้อมกับเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาการรักษาการแทน ผบ.ตร. ซึ่งตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา72 (1) กำหนดให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการสั่งให้ข้าราชการตำรวจรักษาราชการแทนในตำแหน่ง ผบ.ตร. โดยไม่ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับแต่งตั้งให้รักษาการไว้ ซึ่งนายอภิสิทธิ์ได้ชี้แจงว่า การพิจารณาแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทน ผบ.ตร. ได้พิจารณาจากผู้มีความเหมาะสมเป็นกลาง ซึ่ง พล.ต.อ.วิเชียร มีคุณสมบัติรักษาราชการแทน ผบ.ตร.ได้ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา51 และมาตรา 72